ปรารถนา รัตนะสิทธิ์ : ความบังเอิญที่ตั้งใจ

ปรารถนา รัตนะสิทธิ์

จากนักเขียนสาวห้าวซ่า มีผลงานท้าทายสังคมต่อเนื่องหลายแนว มาวันนี้ ปรารถนา รัตนะสิทธิ์ ได้ลองอีกบทบาทหนึ่งของชีวิต ด้วยการเป็น “อาจารย์” จะเริ่มสอนหนังสือที่ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ปีนี้เป็นเทอมแรก หลังจบระดับปริญญา สาขาผู้นำทางสังคมธุรกิจและการเมืองจากที่นั่นเป็นรุ่นแรกเมื่อปี 2549 ที่ผ่านมาและไม่ได้สอนเรื่องวรรณกรรมด้วย หากแต่เป็นด้านการตลาด เน้นเรื่องกลยุทธ์ (Strategy) วาดหวังให้ระบบการศึกษาไทยเปลี่ยนไปบ้าง เธอเชื่อว่า การศึกษาเปลี่ยนคนได้ พิสูจน์ง่าย ๆ จากตัวเธอเอง ที่วันนี้อยากถ่ายทอดวิชาความรู้เพื่อพัฒนาคนเหลือเกิน ฉะนั้น นอกจากที่วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมแห่งนี้แล้ว เธอจึงพร้อมจะเดินสายไปบรรยายตามสถาบันต่าง ๆ ด้วย นำร่องด้วยวิทยานิพนธ์ที่เธอไปศึกษาเกี่ยวกับนักธุรกิจชาวอังกฤษคนหนึ่งชื่อ ริชาร์ด แบรนสัน ผู้สร้างอาณาจักรเวอร์จิ้นหลายบริษัท ไม่ว่าจะเป็นค่ายเพลง สายการบิน (ชื่อเดียวกัน) ฯลฯ และแม้กระทั่งทัวร์อวกาศ

ปรารถนา รัตนะสิทธิ์

สำหรับปรารถนาแล้ว คน ๆ นี้นับว่าเป็นสุดยอด เพราะกว่าจะมายิ่งใหญ่อย่างในวันนี้ได้ ครั้งหนึ่งแบรนสันคือ ฮิปปี้หัวใจขบถแห่งยุค 60’s นั่นเอง เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี ทุ่มเททำหนังสือพิมพ์เล่มหนึ่งชื่อ Student สุดตัว วันหนึ่งล้มเหลวแต่ไม่เคยยอมแพ้ พลิกสถานการณ์เรื่อยมาจนรวย และได้รับยกย่องให้เป็นท่านเซอร์ โดยเป็นที่จดจำของโลกในเรื่องของการสร้างตลาดด้วยเสียงหัวเราะ ส่วนปรารถนาเอง เธอหลงใหลในเสียงเพลงแค่ไหน คงไม่ต้องบอก (โดยเฉพาะในวง Sex Pistols ศิลปินในสังกัด Virgin ของแบรนสัน) และมี Core นิตยสารเล่มเล็กของตัวเอง แต่เมื่อไปไม่รอด ก็ทำใจยุติแล้วกลับไปเริ่มเรียนหนังสือใหม่ ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ทิ้งงานวรรณกรรมไปไหน

เมื่อเก็บความประทับใจมาศึกษาต่อเป็นวิทยานิพนธ์เรื่อง “รูปแบบการพัฒนา ภาวะผู้นำของเซอร์ริชาร์ด แบรนสัน ” จนสำเร็จแล้ว เธอยังเขียนเรื่องของแบรนสันลงหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ Bizweek กระทั่งกลายมาเป็นเล่มในชื่อ “ริชาร์ด แบรนสัน พ่อมดแห่งโลกธุรกิจ” อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่า ลีลาภาษาและการเขียนยังคงเป็นแนว ปรารถนา เต็มเปี่ยม แต่ที่มากกว่านั้น คือความตั้งใจจะถ่ายทอดแบบ “ตัวต่อตัว” เป็นไปอย่างจริงจัง เพราะถือว่า ชีวิตของเธอในวันนี้ ลงตัวทั้งเรื่องหัวใจและการงานแล้ว เธอจึงพร้อมเต็มที่ ปรารถนาเชื่อมั่นในเด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ไม่ได้เป็นพวกไร้แก่นสารแต่อย่างใด พวกเขามีอะไรบางอย่างอยู่ในตัวเสมอ เพียงแต่ต้องมีใครสักคนค้นหาให้เจอเท่านั้นเอง ดั่งเช่นหน้าที่ที่เธอจะขอทำในวันนี้ ซึ่งลูกศิษย์ลูกหาในอนาคต อาจไม่จำเป็นต้องเรียกเธอว่า “อาจารย์” ด้วยซ้ำไป แต่เธอจะขอดูแลในฐานะ “พี่สาว” คนหนึ่ง และจะทำหน้าที่ “ให้คำปรึกษาตลอดชีวิต” ไปเลยทีเดียว

 

ปรารถนา รัตนะสิทธิ์

 

จุดเริ่มต้นของความสนใจใหม่และคนสอนหนังสือ
พี่คิดว่าปัญหาของประเทศทั้งหมดมันเกิดจากระบบการศึกษาเป็นหลักเลย แล้วพี่มีความรู้สึกว่าอยู่ตรงอื่นไม่ได้แล้ว คืออยู่ตรงอื่น ถ้าเป็นนักเขียนน่ะโอเค เขียนหนังสือยังมีความสุข แต่เราทำไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าไปเดินบนถนนก็แล้ว ไล่ทักษิณก็แล้ว แต่ดูเหมือนประเทศเรายังถอยหลังอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง อีกอย่างตอนหลังพี่มีเวลาอ่านหนังสือมากขึ้นตอนทำวิทยานิพนธ์ ทำให้ได้รู้ว่า ประเทศอื่น อย่างเวียดนาม มาเลเซียหรือสิงคโปร์ ทำไมเขาถึงทำได้

เราก็รู้สึกว่า อย่างน้อยถ้าให้เราได้ถ่ายทอดในสิ่งที่เราอยากจะมองเห็นประเทศชาติเป็นยังไง ก็จะดีกว่า เพราะว่าเขียนหนังสือก็อย่างที่รู้กันน่ะ คนอ่านก็น้อย พิมพ์สองพันสองปียังไม่หมดเลย คือไปโทษคนที่ไม่อ่านหนังสือไม่ได้ พี่ก็เลยคิดว่า เรามาเจอกับคนเลยดีมั้ย ตอนนี้ก็เลยอยากไปเจอนักศึกษาด้วยตัวเอง อยากไปให้แรงบันดาลใจกับเขา แล้วไปดูด้วยว่าเขาเป็นยังไงกันบ้าง ที่ตั้งใจไว้ก็อาจเป็นมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เท่าที่เขาจะตอบรับมา

ความเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มมาตอนไหน ตอนเรียนปริญญาโทหรือเปล่า
พอนึกย้อนไป สิ่งเหล่านี้มาอยู่ในตัวพี่ก่อนหน้านี้อีก ตั้งแต่ 3-4 ขวบ คือ พ่อพี่เสียชีวิตจากการถูกยิง มันมีการขึ้นศาลนานมาก กว่าที่เราจะเอาคนผิดเข้าคุกได้ เราแทบสิ้นเนื้อประดาตัว มันก็เลยทำให้พี่รู้สึกว่า “สังคมมันไม่ยุติธรรม” ตรงที่ว่า ทำไมต้องเป็นพ่อเราวะ? คือ พ่อพี่ถูกยิงตายในละแวกบ้านซึ่งมันเป็นหมู่บ้านที่สงบมาก หลังจากนั้นแม่ลำบากเพราะเรามาก จากนั้นเราก็อยู่ในครอบครัวใหญ่ ก็จะเห็นอะไรต่าง ๆ แล้วญาติพี่น้องก็จะกดเราไว้ด้วยความที่เราเป็นเด็ก เราก็เลยมีความรู้สึกว่า เราอยากโตให้เร็วกว่านี้

อีกจุดหนึ่งก็คือ พอเราเริ่มเข้าโรงเรียน เราก็ได้อ่านหนังสือ จำได้ว่าเรียนที่บ้านแถวแปดริ้ว ไม่มีใครอ่านหนังสือนะ แต่เราเข้าไปในห้องสมุด หาการ์ตูนพวกชัยพฤกษ์อ่าน แล้วมันก็จะมีหนังสือมาขายราคาถูก มานึกย้อนก็พบว่า หนังสือส่วนใหญ่ที่ซื้อเป็นหนังสือประวัติผู้นำต่าง ๆ เช่น พระเจ้าตากสิน แล้วก็จะมีพวกบุคคลของโลกด้วย ที่ซื้อไม่ใช่ว่าเพราะชอบอ่านมากขนาดนั้นนะ แต่รู้สึกว่า ทำไมคนเหล่านี้โลกจดจำเขา เราก็เลยซื้อมา แต่ที่ประทับใจมากคือ พยาบาลฟลอเรนซ์ไนติงเกล ตรงที่เขาเป็นผู้หญิง ซึ่งเราก็ตั้งคำถามว่า ผู้หญิงจะเป็นคนที่โลกจดจำได้ไหม

พอเราโตถึง ม.3 พี่ก็ยิ่งเปลี่ยนไป เราจะอ่านหนังสือมากขึ้น ขณะที่เพื่อนเราเกเร เราไม่อยากให้เพื่อนหายไป ตอนนั้นเคยซื้อหนังสือให้เพื่อนเล่มหนึ่ง เป็นกวีนิพนธ์ของวิสา คัญทัพ ชื่อ “ชีวิตไม่ใช่ความฝัน” เพื่อให้ เขากลับเข้ามาเรียนต่อ ม.4 ปรากฏว่าเขาถาม ซื้อมาทำไม ตอนนั้นมันเหมือนกับว่า เราโตเร็วกว่าอายุ กับเพื่อน ๆ ยังไปไหนด้วยกันได้ แต่มองเขาเหมือนกันว่า ทำไมมันไม่มีเป้าหมายขนาดนั้น เราก็เลยรู้สึกว่า เรามองเพื่อนมันห่างละ คุยกันได้ แต่สิ่งที่คิดมันไม่ใช่แล้ว เพราะอย่างเรา ตั้งเป้าหมายไว้เลยนะว่าพอจบแล้วจะต้องเอนทรานซ์ จะต้องทำคะแนนให้ดี ต้องอ่านหนังสือเยอะ ๆ

เพราะการอ่าน เปลี่ยนเราให้เห็นว่าชีวิตมันมีอะไรมากกว่านั้น
ใช่ แล้วมีคนเห็นด้วย ซึ่งคนที่ทำให้เริ่มเขียนหนังสือ ก็คือ จ่าง แซ่ตั้ง จากที่อ่านแล้วก็เขียนไม่ได้ แต่พอมาเจอมด มด มด แล้วการนั่งดูดวงอาทิตย์แล้วเขียนออกมา เราก็รู้สึกว่าเราก็น่าจะทำได้ จริง ๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้นไง แต่ก็ทำให้เราเริ่มเขียนหนังสือ พอเขาตายก็ได้ไปงานศพเขาด้วย ไม่รู้จักกันหรอก รู้แต่ว่าอยู่แถว ๆ ฝั่งธนนี่แหละ วันนั้นเจอลูกชายเขาด้วย เขาแจกหนังสือ เราไปกับพี่สาว ได้มาแบบถุงเบ้อเริ่มเลย คุ้มมากเลย

ยิ่งพอเราไปงานเผาศพเขา เราได้เห็นนักเขียนที่ไปงานนั้น เราก็เห็นว่าคนเหล่านั้นเขาดูดีนะ เขามีความรู้นะ มันก็เลยมาสอดคล้องกับที่เคยได้ยินว่า นักเขียนคือคนที่สังเกตโลก ที่จะต้องมีตาที่สามคอยสังเกตสังคม ตรงนี้ยิ่งทำให้เราเริ่มเขียนหนังสือ แล้วเรื่องความคิดที่เราอยากทำอะไรเกี่ยวกับสังคมนี่ มันมีอยู่ตลอดเวลา พอดีพี่สาวเรียน ม. รามคำแหง ช่วงนั้นเราก็ตามมา เพราะประสบอุบัติเหตุพอดีไง แม่ก็เลยบอกให้พี่สาว พาไปเที่ยวปลอบใจ ขาหักเลยไม่ได้เอน ฯ (ด้วยการไปค่ายรับน้อง) ก็ว่างไปปีหนึ่ง ช่วงนั้นพอเรามาอยู่ตึกกิจกรรมที่ราม ฯ ทำให้เรามาปะติดปะต่อจากที่คิดตอนเด็ก ๆ ว่า อ๋อ-นี่เหรอที่เราเคยได้ยินว่าคอมมิวนิสต์ ที่โรงเรียนเคยปลูกฝังกันมา จำได้ เมื่อก่อนจะมีการฉายภาพ 14 ตุลา มันเหมือนกับว่าทำให้เรารู้สึกนี่มันเกิดขึ้นจริง แล้วช่วงนั้นมีพฤษภาทมิฬ ก็เลยมีโอกาสไปร่วมด้วย ก็ยิ่งมีความรู้สึกไม่ค่อยชอบสังคมเท่าไหร่ รู้สึกเหมือนเราโดนคนแค่หยิบมือ เรามาทำอะไร เราก็มาเชื่อมโยงเรื่องความอยุติธรรมที่เรารู้สึกจากผู้ใหญ่ตอนเด็ก ๆ

หรืออย่างวันที่คุณแสงชัย สุนทรวัฒน์ถูกยิง เราไปงานเผาศพเขาด้วยนะ เพราะเราจะเซนซิทีฟมากกับคนแบบนี้ คนที่เขาทำดี แต่ตายไปง่าย ๆ แบบนี้ และรู้สึกตลอดว่า สังคมไม่ยุติธรรม คนดี ๆ ตายเร็วนะ แต่คนเลวกลับยังอยู่สร้างความเดือดร้อน

ก็เลยมาเขียนหนังสือเพื่อสะท้อนความในใจแทน เป้าหมายตอนแรก ๆ คืออะไร
ตอนนั้นอยากท้าทายสังคมและผู้ใหญ่ที่เราเคยเห็นมา โดยเฉพาะสังคมไทย พี่อยากให้สังคมจดจำแบบ-จำเอาไว้เลยคนนี้ อะไรอย่างนี้ ซึ่งพอย้อนไปดูงานเก่า ๆ ก็พบหลากหลายเลยนะ แยกเป็นช่วง ๆ ไป เกี่ยวกับการเมืองเลยก็มี แต่ตอนที่ทำก็จะมีทั้งเรื่องความสัมพันธ์ผู้หญิงกับผู้ชาย แล้วเรื่องบางฉากที่เราเขียนอีโรติกเพราะเราต้องการท้าทายสังคม เราต้องทำอะไรเหมือนกับว่าอ่านแล้วไม่ให้มันผ่านไปกับตรงนี้ คิดว่าเป็นการทำงานที่เราต้องท้าทายระบบ เพราะสังคมไทยมันแปลก ๆ อย่างที่เราเรียกว่า มือถือสากปากถือศีลน่ะ

กับคอลัมน์ที่ไม่เคยลืมและมีฟีดแบ็คเยอะ
ก็คอลัมน์เล็บ ฯ ในมติชนสุดสัปดาห์ ก็ถือว่าท้าทายนะ แต่เราเจ็บปวดกับคำด่าเหมือนกันนะ ไม่ใช่หน้าด้านหนังหนาไม่รู้สึกนะ ไม่ใช่เลย ทุกเล่มซื้อมาน้ำตาร่วงเลย มันเลยยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า ถ้าเราคิดและเราแสดงออกไป กลายเป็นว่าต้องเขียนอะไรที่อยู่ในกรอบเหรอ เขียนแล้วต้องเป็นคนที่ดูดีเรียบร้อยหรือสังคมถึงจะยอมรับ พี่คิดว่า พอมันออกมาเป็นพ๊อคเก็ตบุ๊คชื่อ- วันโลกไร้เพศ แล้ว ถ้าคนอ่านอย่างเปิดใจกว้าง มันก็จะเป็นหนังสือที่ มันเดินทางไปสู่นิพพานเลยนะ หากเราไม่ยึดติดเรื่องเพศ หรือความสามารถ เพราะจริง ๆ ทุกคนมันมีเท่าเทียมกัน โดยเอาความสัมพันธ์ชายหญิงมาเป็นตัวตั้ง ก็เป็นการดึงให้คนมาอ่าน เป็นคอนเซปต์ของคอลัมน์ด้ว

ตกลงได้ผลสมความตั้งใจไหม
คิดว่า มันก็น่าจะให้เกิดการฉุกคิดนะ อย่างน้อยคนที่ออกมาด่าทอนี่ ก็คือการคิดละว่า-ไม่ชอบ แสดงว่าเขาอยู่ในกรอบไม่ยอมรับแล้ว เราคิดว่า เราต้องก้าวข้ามไปให้ได้ไง ถ้าบางคนคิดเอาไว้ว่า ผู้หญิงต้องเป็นแบบนี้ ๆ ซึ่งจริง ๆ แล้วทุกคนทำได้หมดแหละ หากเรายึดติดในกรอบความเป็นผู้หญิงหรือคนไทย แบบนี้ จะทำให้ลดศักยภาพของเราในการทำอะไรหลาย ๆ อย่างลงไป

หลังจากนั้นเริ่มมาทำนิตยสารคอร์ด้วย แล้วเป็นบรรณาธิการอยู่นิตยสารสตาร์พิกส์ด้วย ช่วงนั้นวุ่นวายเพราะทำงานหลายอย่าง อยากทำคอร์ให้มันเป็นหนังสือที่คิดว่าจะส่งผ่านไอเดียของเราไปถึงคนอ่าน หลายคนก็เตือนแล้ว ที่สุดก็พบว่า มันหนักกว่าที่เราคิด โลกของหนังสือมันต้องหาสปอนเซอร์ โดยเฉพาะคนอย่างเรา จริง ๆ เราไม่ค่อยชอบจะออกไปคุยกับใครหรือขอร้องใครด้วยซ้ำ แต่โดยธรรมชาติมันทำอย่างนั้นไม่ได้ คือตอนนั้นประสบการณ์เรามันแค่ บก.ไง คิดว่าทุกอย่างคงง่าย หาเซลส์มา ก็ใช่ว่าทำงานให้เราอย่างซื่อสัตย์ หนังสือก็ขาดทุน อยู่ต่อไม่ได้ พอเลิกทำก็คิดว่า อยากหาความรู้เพิ่ม

พอตัดสินใจจะเรียนจริงก็ไม่รู้จะเรียนอะไรอีก เพราะเราอยากหาหลักสูตรที่มันตอบรับกับความต้องการของเราได้ เป็นเรื่องธุรกิจ แต่ต้องไม่ใช่เอ็มบีเอ คือรู้สึกว่า มันห้ำหั่นทางการค้ามากเกินไป ซึ่งเราไม่อยากได้แบบที่เป็นบิสซิเนสขนาดนั้นไง

บทสรุปที่บอกว่า ล้วนแล้วเป็นความบังเอิญที่ตั้งใจนั้น จริง ๆ แล้วเคยคิดมาก่อนหรือไม่ว่า จากเขียนหนังสือ และจะมาเป็นอาจารย์ที่สอนเรื่องการตลาดอย่างวันนี้
ชีวิตอยู่กับหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ๆ ไม่ใช่มีหนังสืออยู่ในบ้าน แต่พี่หาซื้อมาเอง หนังสือหลาย ๆ เล่มเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของพี่ไปในทางที่ดี จากหนังสือของอี เอฟ ชูมัคเกอร์ ที่บอกว่า Small is beautiful ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง Sufficiency economy หรือเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

หรือการที่พี่ได้พูดคุยกับอาจารย์วิทยากรว่า ประเทศเราระบบสหกรณ์ไม่เข้มแข็งนี่เอง การค้าปลีกจึงพังพาบอย่างที่เห็น มันทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราไม่สามารถสร้างระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ ประชาชนไม่สามารถโหวตได้ถ้าท้องหิว สังคมเราแค่เริ่มต้นเท่านั้น เราต้องทำแผลจากประชานิยมอีกสักพัก รอแผลตกสะเก็ด อีกสัก 10-20 ปี เป็นแผลเป็น ถ้าชาวบ้านยังต้องแบมือรับเงินช่วยเหลือจากรัฐ เขาก็ไม่มีวันยืนได้ จากรุ่นปู่ รุ่นพ่อถึงรุ่นลูก

การมาสอนวันนี้ แม้เป็นเรื่องบังเอิญแต่ก็เป็นความตั้งใจในช่วงเวลาของชีวิตที่เหลือนี้ เพราะสุดท้ายคนเราล้วนต้องการที่ปรึกษา ต้องการกำลังใจ ต้องการคนรับฟังทั้งนั้น พี่อยากอยู่ตรงนั้น พี่อยากบอกอยากเล่า อยากทำให้เด็ก ๆ เติบโตอย่างแข็งแกร่ง เข้าใจโลก และต้องรู้จัก “การให้” เป็นอย่างแรก ที่สำคัญ เรามีตัวอย่างที่ดีอยู่แล้ว แม้แต่ยูเอ็นและทั่วโลกยังยอมรับ นั่นคือ ในหลวงของเราไงคะ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ