ณัฐพล จองกฤษ (พานทองแดง) : ผมเป็นนักเขียนเพื่อพิสูจน์ตัวเอง

ณัฐพล   จองกฤษ (พานทองแดง)

ณัฐพล จองกฤษ หรือนามปากกา พานทองแดง อาจจะเป็นชื่อที่ยังไม่คุ้นหูมากนัก แต่ก็เชื่อว่าคงจะมีคนได้เห็นผลงานของเขามาบ้างแล้ว จากความพยายามที่มีอยู่เต็มเปี่ยม กับผลงานหนังสือทำมือหลายเล่มที่ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ไหน วันนี้ผลงานของพานทองแดง ได้รับการยอมรับให้มาโลดแล่นอยู่บนแผงหนังสือบนดินเรียบร้อยแล้ว

ก้าวสู่การเป็นนักเขียน
แม้ชีวิตของผมไม่ได้น่าชื่นชมนัก แต่ก็ไม่ได้เคยคิดจะปิดบังว่าหลายปีก่อนหน้านี้ ผมเคยติดยาเสพติดหลายชนิด และเคยถูกครอบครัวจ้างตำรวจมามัดส่งโรงพยาบาลเพราะโรคจิตคลั่ง เนื่องจากสูบกัญชาเกินขนาด แต่ผมก็ได้มีโอกาสได้ไปช่วยงานในชมรมศิลปะรวงผึ้ง ซึ่งเป็นที่สำหรับพบปะสังสรรค์ของศิลปิน นักเขียน กวี จิตรกร นักโฆษณา นักข่าว นักดนตรี และอีกหลายสาขาอาชีพ ซึ่งที่พวกเขา พูด คิด เขียน วาด ร้อง ตะโกน สบถ มีอิทธิพลซึมซับต่อผลงานของผมในเวลาต่อมา

ในช่วง พ.ศ.2546-2547 ผมเริ่มงานหนังสือทำมือ(ใต้ดิน) รวมทั้งหมด 6 เล่ม คือรวมเรื่องสั้น 5 เล่ม และนวนิยายอีก 1 เล่ม ผลงานดังกล่าว ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการที่ไหนเลย แต่สิ่งที่ทำให้ผมยังไม่ละความพยายามที่จะเขียนก็เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเอง จนปี 2547 งานเขียน ‘จดหมายฉบับสุดท้าย’ ของผมก็ได้รับคัดเลือกให้ลงตีพิมพ์ในรวมเรื่องสั้นชุด ‘อกหัก’ ร่วมกับนักเขียนท่านอื่นอีก 17 ท่านโดยสำนักพิมพ์เนชั่น

ผลงานที่ผ่านมา
หลังจากมีงานเขียนได้ตีพิมพ์แล้ว ในปีเดียวกันก็ได้รับประกาศเกียรติ 1 ใน 5 เรื่องสั้น ในเว็บไทยไรเตอร์ดอทเน็ต ครั้งที่ 4 และได้มีงานขียนบนดินเล่มแรก ในนามปากกาพานทองแดง ชื่อ“บันทึกเถื่อนของพานทองแดง(บทบันทึกชีวิตนักเขียนใต้ดิน) ” ในปี2548 ผลงานนิยายอีก 2 เรื่องคือ มุมมืดและกาลามะ ในปีถัดๆ มา ซึ่งตอนนี้ก็มีรวมเรื่องสั้นรอตีพิมพ์อยู่อีกเรื่องหนึ่ง

ที่มาของนามปากกาพานทองแดง
ที่ใช้นามปากกาพานทองแดงเพราะช่วงนั้นแค่อยากประชดชนชั้นผู้นำ ที่หล่อหลอมให้คนลุ่มหลงในความเจริญทางวัตถุ อยากยิ่งใหญ่ อยากมีคุณค่าในสังคมด้วยสิ่งที่เห็นภายนอก รถ เงิน ทอง ผมเลย ประชดว่าผมจะเป็นไอ้ของธรรมดาค่าไม่เท่าทองแท้ แต่มันก็มีประโยชน์ในตัวของมันเองมันยอมให้กระแสไฟไหลผ่านไปสู่แสงสว่าง แรกทีเดียวตั้งใจใช้ชื่อนี้แค่ หนังสือทำมือ(ใต้ดิน) คิดว่าถ้าได้ทำกับสำนักพิมพ์ จะใช้ชื่อจริง แต่ด้วยคำแนะนำของนักเขียนรุ่นพี่บางคนให้ใช้ชื่อเดิมด้วยความหวังดี จึงใช้มาเรื่อยๆ แต่เล่มต่อไปคงขอความกรุณา บก.ใช้ ชื่อจริงเสียที เพราะ หมดสนุกกับการกวนใครบางคนแล้ว และมีนักเขียนรุ่นพี่อีกบางส่วนที่สนับสนุนให้ใช้ชื่อจริงเช่นกัน เช่น พี่ ศิริวรณ์ แก้วกาญจน์ กับ พี่ ชาติ กอบจิตติ

ชอบเขียนหนังสือแนวไหน
ผมเขียนหนังสือแนวอัตลักษณ์นิยม แต่ก็อยากทำสิ่งที่ยากสำหรับผม นั่นคือการ เขียนวรรณกรรมเยาวชน

ปัจจุบันทำอะไรอยู่บ้าง
ผมอาศัยอยู่กับยาย เมื่อก่อนเปิดร้านกาแฟเล็กๆบริเวณหน้าบ้าน (แต่ตอนนี้เลิกขายน้ำชากาแฟแล้ว) ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วก็รับวาดภาพ เขียนป้ายบ้าง บางงาน หากว่างจากงานเขียนป้าย ผมก็จะนั่งลงเขียนหนังสือ อยู่ในห้องแต่เพียงผู้เดียว

การเขียนหนังสือให้อะไรกับชีวิต
ให้ความอิ่มเอิบที่เงินซื้อหาไม่ได้(เมื่องานเป็นที่น่าพอใจสำหรับตัวเอง) และ ไม่มีใครแย่งชิงไปได้

มุมมองต่องานเขียนของไทยในปัจจุบัน
ผมไม่กล้าวิจารณ์หรอกครับเพราะอ่านงานคนไทยเขียนไม่มากนัก แต่เท่าที่พอแยกออกคร่าวๆก็มีสองฝ่ายคือ อนุรักษ์นิยม กับ กลุ่มสร้างสรรค์

ความคิดเห็นระหว่างงานเขียนในอินเตอร์เน็ตกับหนังสือ
อินเตอร์เน็ตเสรีทางความคิดมากกว่าหนังสือ แต่ก็เหมือนดาบสองคมด้วยเช่นกัน ถึงอย่างไรผมว่าหนังสือเป็นที่ยอมรับมากกว่าอยู่ดี เพราะได้ผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว

มองอนาคตเส้นทางนักเขียนไทยเป็นอย่างไร
ถ้ารัฐบาลหรือผู้มีอำนาจไม่เข้ามาช่วย ยกระดับมาตรฐานการอ่านของคนไทย หนังสือที่ขายดีก็จะมีแต่หนังสือที่ได้รางวัล คนดัง หรือดาราเขียน(บางคนเขียนเองหรือเปล่า แอบกระซิบถามนะ)

ฝากอะไรถึงนักเขียนและนักอยากเขียน
กราบฝากเนื้อฝากตัวกับนักเขียนพี่ๆ ทุกคนครับมีอะไรที่ผมต้องพัฒนาก็แนะนำผมด้วยนะครับ ผมยังต้องเรียนรู้อีกมาก สำหรับคนที่อยากเป็นนักเขียนก็ให้เขียนเลยครับอย่ากลัว ตอนผมเริ่มเขียนเผยแพร่ทางเน็ตใหม่ๆ มีผู้คงแก่เรียนท่านหนึ่งให้คำแนะนำอันน่าคิดว่า “อ่านหนังสือไม่ถึงพันเล่มอย่าริเป็นนักเขียน” ผมก็ฟังครับ แต่ไม่เชื่อ เพราะผมเริ่มเขียนตั้งแต่อ่านไม่ถึง 10 เล่ม ก็ผมไม่รู้ว่ากว่าจะอ่านครบพันเล่ม ไม่รู้ว่าผมจะตายก่อนรึเปล่า ผมว่าเขียนไปก่อนดีกว่า ดีไม่ดีว่ากันอีกที และยุคนี้สามารถขอคำแนะนำจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในเว็บไซต์เกี่ยวกับวรรณกรรมก็ยังคงพอมีครับ หรือเข้าหานักเขียนที่ชื่นชอบเลยก็ได้ แต่ต้องมีความคิดเป็นของตัวเองด้วย ถ้าเรามั่นใจในสิ่งที่เราสร้างสรรค์ว่ามันถูกต้องมีเหตุผลพอ วันเวลาจะพิสูจน์คุณค่าของมันเอง เคยมีผู้รู้บางคนพูดเข้าหูผมว่า “บางทีคนโง่ที่ยืนยันว่าความโง่ของตนเองถูกต้องอาจกลายเป็นคนฉลาดที่สุดก็ได้”

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ