ลำพู แสงลภ : หนังสือนิทานเป็นบันไดขั้นแรกในการปลูกฝังการอ่านให้เด็ก

ลำพู  แสงลภ

ลำพู แสงลภ หรือ ลำพู เดชาวิชิตเลิศ เป็นนักเขียนและนักวาดภาพประกอบคนหนึ่ง ที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการหนังสือเด็ก ด้วยผลงานคุณภาพที่การันตีด้วยรางวัลต่างๆ มากมาย และวันนี้เราจะมาคุยนอกรอบและล้วงลึกถึงชีวิตส่วนตัวและและเทคนิคการทำงานของเธอกันค่ะ

ช่วยเล่าประวัติส่วนตัวสักเล็กน้อย
พี่เป็นเด็กบ้านนอกค่ะ เกิดในตำบลเล็กๆ นอกเมืองของอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร สมัยเด็ก ก็ใช้ชีวิตแบบเด็กชนบททั่วไป แต่ชอบวาดรูปชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กแล้ว สมัยเรียนประถมว่างเมื่อไหร่ก็เข้าห้องสมุดชอบเปิดดูหนังสือดูภาพสวยๆ ตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออก มีหนังสือเล่มโปรด คือ เรื่องหนูน้อยหมวกแดง เข้าไปทีไรจะต้องหยิบมาดูทุกครั้ง ถึงตอนนี้ยังจำได้เลยว่าภาพประกอบในเล่มเป็น ตุ๊กตาที่ทำจากผ้า ทั้งหนูน้อยหมวกแดง คุณแม่ คุณยาย หมาป่าก็เป็นตุ๊กตา ยังจำหน้าตาหนูน้อยหมวกแดงได้ทั้งที่ผ่านมานานมากแล้ว เวลาที่อยู่บ้านก็ชอบวาดรูป วาดรูปเจ้าหญิง เจ้าชายไม่มีกระดาษก็วาดในหนังสือเรียนเต็มไปหมดจนโดนแม่ดุประจำ ช่วงมัธยมก็ขลุกอยู่ห้องศิลปะจนอาจารย์ให้ถือกุญแจห้อง เสมือนเป็นเจ้าของห้องเลย แต่จริงๆ แล้วอาจารย์มอบหน้าที่ดูแลทำความสะอาดห้องให้

พอจบมัธยมก็เลือกสอบโควต้าเข้าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ทั้งที่ตอนนั้นเรียนวิทย์-คณิต อาจารย์ที่ปรึกษาก็เรียกไปว่า ว่าเธอจะสอบติดได้ยังไง เรียนมาคนละสาย แต่พี่ก็ยืนยันว่าจะเลือก จำได้ว่าอาจารย์โกรธ นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาทีไรก็งงๆ ว่าอาจารย์เค้าจะโกรธทำไมก็ไม่รู้ ถ้าเป็นพี่ๆ จะไม่โกรธนะ เพราะรู้ว่าการที่เราต้องทนนั่งเรียน ในเรื่องที่ตัวเองไม่ชอบนี่มันแย่มากๆ ที่พี่เรียนวิทย์-คณิตเพราะโรงเรียนคัดเกรดตอนจบม.3 ขึ้นมา เด็กที่ได้เกรดดีๆก็ให้เรียนวิทย์-คณิตอยู่ห้องต้นๆ ไม่มีการแนะแนวว่าใครเหมาะจะเรียนอะไร พี่เลยต้องเรียนเรื่องที่เราไม่ถนัดซะ 3 ปี ถ้าได้เรียนศิลป์-ภาษาน่าจะเรียนได้ดีกว่านี้เยอะ โชคดีที่สอบโควต้าติดก็เลยได้เรียนอย่างที่ตัวเองชอบสักที

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถ้ามีเวลาว่างก็ไปขลุกอยู่ที่หอสมุดตรงชั้นนิยาย วรรณกรรม อ่านจนเกลี้ยงตู้ ตอนนั้นชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชน ยิ่งถ้าเป็นชีวิตในชนบทยิ่งชอบเหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัว ชอบอ่านบึงหญ้าป่าใหญ่ของอาจารย์เทพศิริ สุขโสภา เรื่องขนำน้อยกลางทุ่งนาของคุณจำลอง ฝั่งชลจิตร ก็ชอบมาก พอเรียนจบก็ได้งานทำที่เป็นฝ่ายศิลป์อยู่แพรวเพื่อนเด็ก แพรวเยาวชน ทำอยู่ที่นั่นประมาณ 4 ปี เริ่มเบื่อกรุงเทพเลยสอบเข้ารับราชการตำแหน่งนักวิชาการศิลปะ แต่พอเรียกไปบรรจุได้ทำตำแหน่งนักวิชาการศึกษา ก็รับราชการตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

ก้าวสู่วงการหนังสือเด็กได้อย่างไร
เริ่มเขียนหนังสือนิทานตั้งแต่ตอนเรียนปีสุดท้ายที่ มช.แล้วค่ะ เป็นโปรเจคตอนเรียนจบ เขียนนิทานเป็นเรื่องเกี่ยวกับให้เด็กๆ รักสิ่งแวดล้อม ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง นั่นเป็นนิทานเล่มแรกที่เขียน ถ้าย้อนกลับไปดูแล้วเชยมากๆ แต่แรงบันดาลใจจริงๆ ที่ทำให้มาเขียนนิทานอีกครั้งก็เพราะตอนอยู่แพรวเพื่อนเด็ก ได้เห็นหนังสือนิทานดีๆ เยอะมาก นิทานเอกของโลก ได้เจอนักเขียนเก่งๆ แบบอาจารย์ปรีดา อาจารย์ชีวัน ทำให้กระตือรือร้นอยากเขียนนิทานขึ้นมาอีกครั้ง เล่มแรกที่เขียน เรื่องหนูนิดไม่อยากไปโรงเรียน เขียนแล้วไปเสนออ.พรอนงค์ที่เป็น บก.ตอนนั้น แต่เรื่องมันไม่ใช่แนวของแพรวเพื่อนเด็ก พี่เลยไปเสนอสำนักพิมพ์อักษราพิพัฒน์ พอไปเสนอเค้าก็ให้เขียนออกมาเป็นชุด ชุดนี้ที่ได้รางวัลก็มีเรื่องหนูนิดไม่อยากแปรงฟัน กับหนูนิดเด็กดีไม่ดื้อรั้น จากนั้นก็เขียนภาพประกอบบ้าง เขียนนิทานบ้างมาเรื่อยๆ แต่ผลงานไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่ เพราะทำงานประจำอยู่ จะมีเวลาเขียนเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ กับตอนกลางคืนบ้างนิดหน่อย

ผลงานที่ผ่านมา
ผลงานที่ได้รับรางวัลก็มี หนูนิดไม่อยากแปรงฟัน หนูนิดเด็กดีไม่ดื้อรั้น เพื่อนใหม่ของลุงหมี รองเท้าสีแดง (เขียนภาพประกอบ) ล่าสุดได้รางวัลรักลูกอวอร์ด ปี 2551 สำหรับเด็กอายุ 0 – 3 ขวบ ก็มี เรื่องเอ๊ะ! นั่นเสียงใคร ของลูกหมีอันไหนเอ่ย อั้นไม่ไหวขอไปด้วย ค่ะ ส่วนผลงานที่ภาคภูมิใจ จริงๆ แล้วภูมิใจทุกเรื่อง แค่เห็นหนังสือที่เราเขียนออกมาพิมพ์เสร็จเป็นเล่มก็ภูมิใจแล้วล่ะค่ะ ชอบไปยืนลุ้น ตามแผงหนังสือ เวลาเห็นเด็กอ่านหนังสือเราจะดีใจมาก แต่รางวัลที่ดีใจ และภูมิใจที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง “เพื่อนใหม่ของลุงหมี” ค่ะ เพราะได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพฯ ด้วย และรางวัลนี้ก็เป็นกำลังใจสำคัญที่ทำให้พี่อยากเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กตลอดมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

ลำพู แสงลภลำพู แสงลภลำพู แสงลภ

 

การเขียนหนังสือกับการวาดภาพประกอบอะไรยากกว่ากัน
เวลาที่พี่เขียนเรื่องก็มีมีรูปคิดอยู่ในหัวตามมาติดๆ เหมือนเป็นภาพร่างในใจ มันมาพร้อมๆ กัน ซึ่งก็เป็นข้อดีของคนที่เขียนเรื่องเอง วาดภาพเอง เพราะจะได้ภาพอย่างที่ต้องการจริงๆ พี่ชอบทั้งสองอย่าง และไม่เคยคิดว่ามันยาก เพราะเป็นเรื่องที่เราอยากจะทำ ทำแล้วรู้สึกดีมีความสุข มันเลยไม่ยากค่ะ ซึ่งอันนี้หมายถึงเรื่องที่พี่เขียนเองวาดภาพเองนะคะ แต่ก็จะมีบ้างที่พี่วาดภาพประกอบให้คนอื่น ซึ่งบางครั้งพี่คิดว่าเนื้อเรื่องแบบนี้น่าจะเหมาะกับภาพแบบนี้ แต่เราก็ต้องเคารพความคิดของคนเขียนเรื่อง ต้องฟังเค้าว่าเค้าต้องการภาพตามที่เราเขียนหรือเปล่า อันนี้จะยากกว่าเขียนให้ตัวเองเยอะ พี่ก็เลยไม่ค่อยชอบวาดภาพประกอบให้คนอื่นน่ะค่ะ ยกเว้นเรื่องที่ดูสนุก และอยากจะเขียนจริงๆ เพราะจริงๆ แล้วตอนนี้มีพล็อตเรื่องเยอะมาก แต่เวลาเขียนไม่ค่อยจะมี เพราะต้องทำงานประจำไปด้วย

นอกจากงานหนังสือแล้วทำอะไรอยู่บ้างหรืออยากจะทำอะไรในอนาคต
มีงานประจำคือรับราชการตำแหน่งนักวิชาการศาสนา อยู่ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสุพรรณบุรี งานสำคัญอีกอย่างก็คือเลี้ยงลูกชายวัยอนุบาล 3 อยู่ 1 คน ก็จะเหลือเวลาวันเสาร์อาทิตย์กับเวลาว่างกลางคืนนิดหน่อย สำหรับเขียนหนังสือค่ะ ส่วนสิ่งที่อยากทำในอนาคต ก็คือ เขียนวรรณกรรมเยาวชน แต่ตอนนี้ยังไม่แก่กล้าพอ ยังต้องฝึกปรือวิทยายุทธ์อีกเยอะ คงต้องอ่านหนังสืออีกหลายตู้กว่าจะเขียนได้ ตอนนี้ก็ยังเขียนหนังสือเด็กอยู่ คงเขียนต่อไปเรื่อยๆ เพราะเป็นงานที่รักมากและมีความสุขที่ได้ทำ

มีเทคนิคหรือแนวคิดอะไรในการคิดพล็อตเรื่องสนุกๆ ให้เด็กอ่าน
สมัยยังไม่มีลูกก็เอาประสบการณ์ตอนเด็กๆ ใช้เรื่องตอนเด็กๆ ของตัวเองมาเขียน นิสัยไม่ดีต่างๆ จากเรื่องหนูนิด เช่น ไม่อยากแปรงฟัน ดื้อรั้น ไม่กินผัก ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากมีน้อง ไม่อยากไปหาหมอนี่ ของพี่ทั้งนั้นเลย พอเขียนไปแล้วจะเข้าใจตัวละครได้ลึกซึ้ง เสมือนเป็นตัวเอง พอมีลูกก็สังเกตจากลูก อย่างเรื่อง “อั้นไม่ไหวขอไปด้วย” ก็เอามาจากลูก เพราะเด็กๆ ชอบเล่นเพลิน ไม่ค่อยบอกเวลาปวดอึ ปวดฉี่ ก็เขียนเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการสอนให้เด็กไปนั่งกระโถน หรืออีกเรื่องที่กำลังจะออกมา ชื่อ “ไอ๋หยา เหม็นจัง” ก็เอามาจากลูก เพราะเค้าจะกลัวมากไม่ชอบสระผม เวลาสระผมทีไรร้องไห้ลั่นบ้าน ก็เลยอยากบอกเด็กๆว่า สระผมไม่ยากให้แค่ “แหงนหน้า หลับตา” ฟองก็จะไม่ไหลเข้าตาแล้ว

กิจกรรมยามว่างของคุณลำพูและครอบครัวคืออะไร
ส่วนมากพี่ชอบพาลูกไปร้านหนังสือ เพราะครอบครัวชอบอ่านหนังสือกัน ใช้เวลาอยู่ในร้านได้นานๆ ก็จะแยกไปคนละมุม แฟนพี่ก็จะไปมุมพวกประวัติศาสตร์ พี่กับลูกก็ไปมุมหนังสือเด็ก ไปเลือกซื้อหนังสือกลับมาอ่าน จนหนังสือเต็มบ้านไปหมดแล้ว แต่ถ้าว่างหลายๆ วันแบบวันหยุดยาวๆ ก็ชวนกันไปบ้านตายายที่พิจิตร หรือไม่ก็ไปบ้านญาติที่ราชบุรี หรือถ้าว่างแค่เสาร์อาทิตย์ก็จะให้ลูกเลือกว่าอยากไปไหนส่วนมากลูกจะเลือกไปทะเล เพราะเค้าชอบเล่นน้ำ

การที่เป็นทำหนังสือเด็กมีส่วนช่วยในการเลี้ยงลูกของตัวเองหรือไม่คะ
มีส่วนเยอะ เพราะพี่เป็นคนเขียนหนังสือ พี่ก็ชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านจะมีนิทาน หนังสือภาพ หนังสือวรรณกรรมเยาวชนเยอะมาก พอดีกับแฟนพี่ชอบอ่านหนังสือด้วย หนังสือเลยมีอยู่เต็มบ้าน ลูกก็เลยชอบหนังสือ ก่อนนอนก็ต้องฟังนิทานทุกคืนซึ่งจะมีลิมิตไม่เกินคืนละ 2 เล่ม พ่อกับแม่จะเปลี่ยนกันอ่าน บางเล่มที่เค้าชอบก็จะได้อ่านซ้ำๆ กัน จนเค้าจำได้หมด ถ้าวันไหนเราง่วงนอนทำเป็นอ่านข้ามไป เค้าจะจำได้เลยนะ จะรีบบอกไม่ใช่แบบนี้ เนื้อหาในนิทานทุกเล่มก็จะเป็นเรื่องดีๆ บางเรื่องก็สอดแทรกเรื่องคุณธรรม จริยธรรม พอลูกเราได้ฟังทุกวันก็จะได้ซึมซับสิ่งดีๆ พี่คิดว่าหนังสือช่วยได้เยอะ ทุกวันนี้ที่บ้านพี่เองก็ไม่เคยดูละคร ดูทีวีกันน้อยมาก ลูกพี่ก็เลยไม่ติดทีวี จะดูบ้างก็เป็นช่องที่มีแต่การ์ตูน ซึ่งเราดูแล้วไม่เป็นพิษเป็นภัยก็ปล่อยให้ดู มันก็ทำให้เราเลี้ยงลูกได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยลูกเราก็ไม่ก้าวร้าว รักการอ่าน ถึงจะเชยไปหน่อยแบบว่าร้องเพลงละครไม่เป็น ไม่รู้จักดารา ร้องเพลงฮิตสมัยนี้ไม่ได้ พี่ก็ว่าไม่เป็นไรหรอก ส่วนตัวคิดว่าอย่างนี้นะ

การทำหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
การทำหนังสือที่เหมาะกับเด็กโดยหลักๆ แล้ว สำหรับพี่จะคิดถึงเนื้อหาเป็นอันดับแรก ว่านอกจากความสนุกแล้วเราอยากจะให้เด็กได้อะไรจากเรื่องนี้ อย่างเช่น อยากให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ อยากให้เด็กเป็นคนมีน้ำใจ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ต่อมาก็เรื่องช่วงอายุเด็ก เด็กแต่ละวัยความสนใจของเขาก็จะแตกต่างกัน เด็กเล็กๆ ก็จะเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัว พอโตขึ้นความสนใจก็จะกว้างขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องคิดว่าเราจะเขียนให้เด็กอายุเท่าไหร่อ่าน ต้องดูเนื้อหาให้เหมาะสม ภาพประกอบก็ต้องเหมาะสมกับวัย ส่วนเรื่องขนาดตัวอักษร ลักษณะตัวอักษร การจัดรูปเล่มต่างๆ ก็สำคัญส่วนใหญ่ทางสำนักพิมพ์จะเป็นผู้ดูแล ซึ่งเดี๋ยวนี้หนังสือเด็กมีคุณภาพขึ้นเยอะ จะเห็นจากหนังสือเด็ก 0–3 ขวบ สมัยนี้ออกมาแบบปกเป็นขอบมน ก็ปลอดภัยดีสำหรับเด็กเล็กๆ

มองตลาดหนังสือเด็กในปัจจุบันอย่างไร
ตลาดหนังสือเด็กตอนนี้ดีกว่าสมัยก่อนเยอะ เห็นได้จากมีสำนักพิมพ์สำหรับเด็กเกิดขึ้นเยอะ แสดงว่ามีคนซื้อหนังสือเด็กมากขึ้น ตามแผงหนังสือต่างๆ ก็มีหนังสือเด็กมากมายหลายสำนักพิมพ์ให้เลือก แต่ถ้าเทียบกับหนังสือประเภทอื่นๆ อาจจะยังขายไม่ดีเท่าไร เพราะหนังสือเด็กทำขึ้นมาเพื่อเด็กแต่อำนาจการซื้อไม่ได้อยู่ที่เด็ก พี่หมายถึงถ้าให้เด็กเดินเข้าไปในร้านหนังสือ แล้วให้เค้าเป็นคนตัดสินใจเอง ว่าเค้าจะซื้อหนังสืออะไร พี่เชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเด็กต้องเลือกหนังสือนิทาน แต่ในความเป็นจริงแล้วคนที่มีอำนาจการซื้อก็คือพ่อแม่ พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของหนังสือเด็ก อาจจะคิดว่าไม่จำเป็น ทั้งที่ตัวเองซื้อ หนังสือประเภทซุบซิบดารา ซื้อเรื่องย่อละครได้ แต่พอลูกจะซื้อนิทานกลับไม่ซื้อให้ พี่เคยยืนดูตามแผงหนังสือ พ่อแม่จะปล่อยให้เด็กนั่งอ่าน พออ่านจบเด็กอยากได้ก็ไม่ซื้อ แต่ไปซื้อสมุดภาพระบายสีแทน ซึ่งราคาก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ก็มีพ่อแม่สมัยใหม่ที่เห็นความสำคัญมากขึ้นนะ พี่ก็เชื่อว่าแนวโน้มต่อไปน่าจะดีขึ้น ถ้าคนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านมากขึ้นกว่านี้

ทั้งในฐานะคนทำหนังสือเด็กและในฐานะคุณแม่คนหนึ่งมองว่าการอ่านมีความสำคัญกับเด็กมากแค่ไหน
พี่เชื่อเป็นอย่างมากว่าถ้าเด็กรักการอ่าน จะมีภูมิคุ้มกันได้อีกหลายๆ ด้าน เช่น ไม่ติดเกม ไม่ติดทีวี ซึ่งจุดเริ่มต้นที่จะให้เด็กรักการอ่านได้ก็ต้องเริ่มจากนิทานนี่แหละ เพราะนิทานเป็นเรื่องของจินตนาการ เป็นเรื่องที่เด็กได้ฟังแล้วสนุกสนาน เมื่อเค้าชอบหนังสือนิทาน ก็เป็นรากฐานให้เค้าชอบหนังสือเล่มอื่นๆ ต่อไปด้วย วิธีส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านก็คือ เริ่มจากพ่อแม่ต้องอ่านให้ลูกฟังก่อน อ่านตอนก่อนนอนก็ได้ อ่านทุกวันลูกก็จะเคยชิน เมื่อเค้าเริ่มอ่านเองได้ เค้าก็จะหยิบมาดูเอง สำหรับพี่ใช้วิธีนี้เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก

อยากฝากอะไรถึงเด็กๆ หรือผู้ผลิตหนังสือเด็กด้วยกัน
อยากให้รู้ว่าคนทำหนังสือเด็กทุกคน ตั้งใจมาก ที่จะคิดเรื่องดีๆ ทำหนังสือดีๆ ออกมาเพื่อให้เด็กอ่าน บางเรื่องใช้เวลาคิด เวลาทำอยู่นานกว่าจะออกมาเป็นเล่ม แต่ตอนนี้มีกลุ่มที่ซื้อหนังสือเด็กน้อยมาก ถ้าเทียบกับหนังสือประเภทอื่นๆ อยากให้ผู้อ่าน คุณพ่อ คุณแม่ เห็นความสำคัญของหนังสือเด็กว่าเป็นบันไดขั้นแรก ที่จะทำให้ลูกเราเป็นคนรักการอ่านต่อไปในอนาคต ซึ่งพี่เชื่อว่าเด็กที่รักการอ่าน น่าจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แล้วสมัยนี้หนังสือสำหรับเด็กก็ราคาไม่แพง ถ้าเทียบราคานิตยสารรายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ต่างๆ ที่ต้องคอยอัพเดทเนื้อหาตลอดเวลา แต่หนังสือเด็กซื้อไปทีเดียวก็คุ้ม อีกกี่ปีกี่ปีเนื้อหาก็ไม่เชย จึงอยากฝากให้ช่วยกันสนับสนุนหนังสือเด็กต่อไปด้วยนะคะ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ