สามพร : อ่านแล้วรู้สึกอย่างไร ก็ต้องแปลให้ได้ความรู้สึกอย่างเดิม

สามพร

แก้วเก้า หรือที่รู้จักกันในนามปากกา “สามพร” ผู้แปลหนังสือวรรณกรรมเยาวชนชุด แวมไพร์น้อย หนังสือดีจากเยอรมัน ที่มีผู้นำไปแปลแล้วกว่า 30 ประเทศ หลังจากได้แปลออกมาจนถึงเล่มที่ 9 แล้ว ก็ได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนประเทศไทยบ้าง จึงถือโอกาสนี้ ชวนคุณ สามพร มาคุยนอกรอบกับเราเสียเลย

เริ่มแปลหนังสือตั้งแต่เมื่อไหร่
เริ่มจากการแปลหนังสือภาษาฝรั่งเศสตอนที่เรียนจบปริญญาโทใหม่ๆ แล้วก็รู้สึกว่ามีหนังสือดีๆ หลายเล่มที่น่าแปลให้คนไทยได้อ่าน ก็เลยนำมาแปล แล้วก็มีสำนักพิมพ์ที่สนใจพิมพ์ให้ ก็มีเรื่อง คนรักจากโคลอง ผลงานของ มาร์เกอริต ดูราส แล้วก็หายเงียบไปพักหนึ่ง แล้วก็ได้มาเจอคุณอาทร เตชะธาดา ที่ร้านหนังสือโดยบังเอิญ คุณอาทรก็เลยให้งานไปทำที่แฟรงค์เฟิร์ต คือให้ไปเป็นล่ามให้ที่งาน แฟรงค์เฟิร์ตบุ๊คแฟร์ แล้วหลังจากนั้นแนะนำหนังสือให้ บอกว่ามีหนังสืออยู่ 5 เล่ม เป็นวรรณกรรมเยาวชน อยากให้แปล เราก็โอเคตัดสินใจแปล ซึ่งก็ได้มาเริ่มแปลอย่างเป็นจริงเป็นจัง 5 เล่มก่อนจะเริ่มแปลชุดแวมไพร์น้อย

ผลงานที่ผ่านมา
ผลงานก็จะมี 5 เล่มที่กล่าวมา คือ เจ้าอ๋า หมาป่าน้อย, เจ้าหนูมนุษย์น้ำ, ลัตเท่อ แม่นน้อยผจญภัย ยูเลอ ปีศาจสมุทรน้อย และแม่มดน้อย แปลจากภาษาเยอรมัน มีอยู่เล่มหนึ่งที่ไม่ได้มีต้นฉบับจากภาษาเยอรมันแต่จำไม่ได้เช่นกันว่ามาจากภาษาอะไร แต่ตามหลักจริงๆ แล้วจะต้องแปลจากภาษาแม่ถึงจะถูกต้องที่สุด เพราะระหว่างที่ถ่ายทอดไปแต่ละภาษาก็น่าจะเสียอะไรไปเยอะเหมือนกันระหว่างทาง พอแปล 5 เล่มนี้เสร็จแล้วก็รู้สึกดี รู้สึกว่าตัวเองมีผลงานแล้ว หลังจากนั้นจึงมาแปลชุดแวมไพร์น้อย ซึ่งตอนนี้แปลมาถึงเล่มที่ 9 แล้ว

ชอบอ่านวรรณกรรมเยาวชน
ค่ะ เพราะว่ามันสนุกดี ปกติก็ชอบอ่านแนวนี้อยู่แล้ว แนวอื่นๆ ก็อ่านด้วยเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยอยากแปลมากนักเพราะอาจจะทำให้เครียด ชอบแปลเรื่องที่มันสนุกๆ แปลแล้วให้คนอ่านรู้สึกสนุกเหมือนกับเราอ่านด้วย

เพราะไม่ชอบเรื่องเครียด เลยไม่ค่อยแปลงานหนัก
ใช่ค่ะ เป็นคนไม่ค่อยซีเรียส มองโลกในแง่ดี ก็เลยไม่ชอบแปลงานที่มันหนักๆ เครียดๆ เกินไป ชอบแปลวรรณกรรมเยาวชนแบบนี้มากกว่า สำนักพิมพ์ก็เคยเสนองานโนเบลไพร์ซให้แปลเหมือนกัน แต่บอกตรงๆ ว่าไม่ไหว กลัวว่าทำแล้วงานมันจะไม่ถึง ทำอะไรก็อยากให้มันเต็มที่

ได้เลือกหนังสือที่จะแปลเองไหม
ส่วนใหญ่จะเป็นสำนักพิมพ์เลือกให้ค่ะ ไม่ค่อยได้มีเวลาอ่านและเลือกเองเท่าไหร่ ก็เชื่อใจสำนักพิมพ์นะคะว่าเขาคงกลั่นกรองมาแล้วว่าหนังสือเล่มนี้ดีจริง และน่าจะขายได้ในเมืองไทย จึงคัดเลือกมาให้เราแปล

มีผลงานที่เขียนเองบ้างไหม
ก็มีบ้างสมัยเรียนอยู่ที่จุฬาฯ แต่ว่าอยู่ในวงแคบไม่ได้เผยแพร่ออกไปกว้างนัก ก็คิดอยากที่จะมีผลงานเขียนของตัวเองบ้างเหมือนกัน แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เขียนสักทีเลยค่ะ

เทคนิคการแปล
เทคนิคก็คือว่า เราอ่านแล้วได้ความรู้สึกอย่างไร เราก็แปลให้ได้ความรู้สึกอย่างเดิม โดยเฉพาะเรื่องโทนภาษาของการแปลต้องให้เหมือนกับต้นฉบับ เขามีน้ำเสียงอย่างไร เราก็ต้องมีน้ำเสียงอย่างนั้น

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการแปล
อาจจะเป็นเรื่องการข้ามวัฒนธรรม เพราะมีบางเรื่องที่เราไม่เข้าใจ เราก็ต้องวิ่งถามเจ้าของภาษาบ้าง คือวิธีการคิดของเขามันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิด แล้วจะทำอย่างไรให้เข้าใจมันได้ ตรงนี้ก็ต้องวิ่งถามเจ้าของภาษาให้เขาอธิบายให้ฟัง ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่เข้าใจ เพราะการแปลสำคัญที่สุดคือเราต้องเข้าใจ อย่างทะลุปรุโปร่งด้วย

หลักในการแปล คือเราจะต้องรู้ดีในภาษาที่เราแปลมาก ถึงมากที่สุด แล้วก็ไม่ใช่แค่เรื่องภาษาอย่างเดียว แต่ต้องมีความรูรอบตัวมากด้วย ต้องเดินทางมาก ต้องศึกษามาก ต้องเห็นมาก เราจะต้องรู้ทันทีเวลาเราเจอเรื่องอะไรแปลกๆ ในการแปลที่เราไม่เข้าใจ ไม่เช่นนั้นเราจะต้องเหนื่อยมาก ที่จะต้องมาหาผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่องนั้นๆ มาคอยอธิบายให้ นั่นหมายถึงเราต้องขวนขวาย ถ้าเมื่อไหร่ที่ไม่ขวนขวาย ก็เท่ากับว่าเราก็ปล่อยให้งานแปลนั้นมันเน่าไปเลย ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราต้องค้นคว้าด้วย

เรื่องภาษา
ในเรื่องของหลักการแปล เราจะต้องแปลเป็นภาษาแม่ของเราเท่านั้น เราจะไม่แปลเป็นภาษาอื่น เพราะภาษาแม่เป็นภาษาที่ดีที่สุดของเราอยู่แล้วอย่างเช่นเราจะแปลหนังสือฝรั่งเป็นภาษาไทยคนแปลต้องมีความสามรถทางภาษาไทยดี ถึงขั้นแตกฉาน และอาจจะต้องดีกว่าภาษาอังกฤษด้วย แล้วก็ไม่ใช่ว่าแค่เราใช้ภาษาของเราได้ดีเฉยๆ มันต้องมีเรื่องของวรรณศิลป์ในภาษาด้วย เพื่อที่จะให้มันออกมาได้รสชาติอย่างที่เจ้าของภาษาเขาเป็น มีวรรณกรรมเยอรมันเล่มหนึ่งชื่อว่า น้ำหอม ซึ่งได้อ่านทั้งฉบับภาษาเยอรมันและฉบับแปลแล้ว เป็นเล่มที่อ่านแล้วรู้สึกว่า...ใช่เลย... มันอยู่ในระดับเดียวกัน น้ำเสียงของหนังสือทั้งสองเล่มตั้งแต่ต้นจนจบ มันนำพาไปสู่ความตื่นเต้น ในเรื่องที่ซ่อนไว้ได้ชัดเจน มันทำให้เรารู้สึกว่าคนแปลเขาเก่งมาก เขาทำได้ถึง... ภาษาสวยมาก ถ้ามีโอกาสอยากให้ไปลองอ่านวรรณกรรมเรื่องน้ำหอม (Das Parfum) แต่งโดย Patrick Suskind แปลเป็นภาษาไทยโดย สีมน

จำเป็นไหมว่านักแปลวรรณกรรมต้องเขียนวรรณกรรมได้ด้วย
ไม่จำเป็นค่ะ แต่ว่าต้องอ่านมาก เหมือนกับนักเขียนทั่วไปที่ต้องอ่านมากเหมือนกัน

งานอดิเรก
ชอบเล่นเปียโนค่ะ เพิ่งหัดเรียนพร้อมลูกสาว ถ้าว่างๆ ก็จะลูกมาเล่นเปียโนตอนนี้กำลังไปได้ดี

ปัจจุบัน
ก็ยังคงแปลผลงานวรรรณกรรมเยาวชนเรื่องแวมไพร์น้อยอยู่ค่ะ เพราะมีตั้ง 18-19 ตอน ก็ว่าจะแปลให้ครบชุด ตอนนี้เรากำลังแข่งกันอยู่นะคะ เพราะถ้าเปิดเข้าไปในเว็บไซต์ของแวมไพร์ เขาจะมีเว็บไซต์หนังสือแปล ก็จะรู้ว่าตอนนี้จีนแปลไปกี่เล่ม ญี่ปุ่นแปลไปกี่เล่มแล้ว และภาษาต่างๆ อีกประมาณ 30 ภาษาทั่วโลก รวมทั้งของเราที่แปลเป็นไทย เขาจะมีการโชว์หน้าปกไว้ด้วยในเว็บไซต์ ว่าใครแปลได้กี่เล่มแล้ว ตอนนี้เราแปลได้เยอะกว่าจีนแล้วด้วยนะคะ เรื่องราวของแวมไพร์จะเรื่อยๆ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป แล้วก็จะมีกลุ่มที่อ่านที่ติดตามอยู่อย่างเหนียวแน่น

หากหนังสือไทยจะไปนอก
การจะแปลหนังสือไทย จะต้องให้คนประเทศนั้นที่อยู่เมืองไทยมานานๆ เข้าใจภาษาไทยได้อย่างลึกซึ้งมากๆอย่างเช่น คุณไมเคิล ไรท์ ซึ่งเป็นคนอังกฤษที่เข้าใจภาษาไทยลึกมากๆ อย่างนั้นค่ะ เขาถึงจะมีสิทธิ์แปล อย่างที่บอกว่าต้องแปลเป็นภาษาแม่ คนไทยจะลุกขึ้นมาเอาหนังสือของตัวเองไปแปลเป็นภาษาอื่นมันทำไม่ได้ มันไม่ใช่ค่ะ มันจะไม่ลึกในภาษานั้น และเราไม่มีสิทธิ์จะทำด้วยเพราะมันไม่เข้าท่า คือมันเป็นเบสิกของการแปลเลย คือมันต้องแปลเป็นภาษาแม่

ทราบว่าคุณพ่อเป็นเพื่อนกับจิตร ภูมิศักดิ์
ค่ะ ท่านเรียนจบอักษรศาสตร์จุฬาฯ มาเหมือนกัน ตอนนั้นแก้วเก้ายังไม่เกิดเลยค่ะ ได้ยินเขาพูดๆ กันมาไม่ค่อยทราบอะไรมาก

เรียนจบฝรั่งเศส แต่ทำไมเลือกแปลเยอรมัน
เรียนจบอักษรศาสตร์ เอกฝรั่งเศส ปริญญาโทภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสมาค่ะ แต่หลังจากแปลฝรั่งเศสอยู่ตอนแรกๆ แล้ว ก็ไม่ได้แปลอีกเลย เพราะตอนนั้นเริ่มที่จะเรียนภาษาเยอรมัน แล้วก็เลยมาติดใจภาษาเยอรมัน มาอ่านหนังสือเยอรมัน เพราะฉะนั้นภาษาฝรั่งเศสก็เลยเป็นรักที่เริ่มจืดจางลง แต่ยังพอพูดได้อ่านได้ เพียงแต่ว่าไม่ค่อยได้ใช้แล้ว

สาเหตุที่มาสนใจเรียนภาษาเยอรมัน
ความจริงคือเรียนเพราะสามีเป็นคนเยอรมันนี่แหละค่ะ เพราะเราไม่รู้ภาษาเขาเลย แต่พอเรียนแล้วรุ่ง คือไม่ได้เรียนกับสามีอย่างเดียว เข้าคอร์สเรียนเป็นเรื่องเป็นราวด้วย เรียนวรรณคดีเยอรมันด้วยนิดหน่อยประมาณเทอม 2 เทอม แต่ก็ไม่ได้อ่านวรรณคดีเยอรมันเยอะมากเท่าไหร่ เพียงแต่พอจะรู้ประวัติความเป็นมา

ชอบอ่าน-ซื้อหนังสือมากๆ
ชอบมากๆ ค่ะ แต่ไม่สะดวกที่จะขนไปเอง ส่วนใหญ่ใช้ทางไปรษณีย์มากกว่า เป็นคนบ้าหนังสือ ชอบหนังสือมาก แต่บางครั้งกลับมาจากงานหนังสือก็เคยรู้สึกเหมือนกันว่า มีหนังสือหลายเล่มเลยที่เราไม่ควรจะขนมาให้หนัก คือหนังสือมันไม่ดีเลย แต่ด้วยความงกก็เลยต้องซื้อไว้ก่อน แล้วค่อยไปเลือกทิ้งทีหลัง ที่บ้านนี่ก็มีเป็นห้องสมุดเลยด้วย

ทิ้งท้ายด้วยการฝากผลงาน
หนังสือแวมไพร์น้อย ชุดนี้น่ารักนะคะ เวลาแปลไปก็สนุก คึกคัก แล้วก็อินไปกับมัน เวลาแปลไปก็จะไปเล่าให้สามีและลูกฟังว่า มันเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นนะ เราแปลมันอยู่เราจะอินกับมันมาก แล้วก็อยากติดตาม เรื่องราวของหนังสือชุดแวมไพร์น้อย จะค่อยๆ เปิดตัว ตัวละครไปทีละตัว ตอนแรกเราจะยังไม่รู้จักเขามากนัก เริ่มจากเปิดตัว อันทอน ซึ่งเป็นตัวเอกของเรื่องก่อน แล้วเราก็จะมารู้จักตัวแวมไพร์น้อย ซึ่งในที่สุดก็เป็นเพื่อนรักกัน แล้วก็จะแอบมาหากันทุกคืนวันเสาร์ เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่ แวมไพร์น้อยก็จะมาเคาะประตูหาอันทอน แล้วพาไปเที่ยวกันตามสุสาน แวมไพร์น้อยจะมีผ้าคลุมไหล่ให้อันทอนผืนหนึ่ง แล้วจะบินไปเที่ยวด้วยกัน แล้วแต่ละตอนก็จะเป็นการผจญภัยไปเรื่อยๆ มีเรื่องตื่นเต้นผจญภัยบ้าง มีเรื่องสนุกๆ บ้าง เราเองอ่านแล้วก็รู้สึกดีไปกับมัน ชอบตัวเอกของเรื่องที่ชื่อ อันทอน เขาดูเป็นเด็กที่ฉลาดดี และสามารถพลิกแพลงสถานการณ์ ต่างๆ ให้เป็นผลดีกับตัวเขาได้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ