กาญจนา ภูมิวงศ์วิวัฒน์ : อยากให้นักเขียนทุกคนมีความรับผิดชอบในงานของตัวเอง

กาญจนา ภูมิวงศ์วิวัฒน์

กาญจนา ภูมิวงศ์วิวัฒน์” เป็นอีกหนึ่งในนักเขียนที่เข้าร่วมโครงการชมนาด บุ๊ค ไพรซ์ วันนี้เธอจะมาร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์การทำงานในวงการหนังสือ พร้อมทั้งให้คำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับการทำอาชีพพิสูจน์อักษร รวมไปถึงแรงผลักดันที่ทำให้เธออยากเป็นผู้เขียนขึ้นมาบ้าง

ประวัติการทำงาน
เรียนจบจากวิทยาลัยครูพระนคร จากนั้นก็มาทำหนังสืออยู่ได้เดือนสองเดือน ก็ออกมา เป็นครูสอนหนังสือยู่ที่อำนวยศิลป์ สอนอยู่ได้ปีสองปีก็ออก หลังจากนั้นก็ยังไม่ได้ทำงานอะไรเพราะว่าคิดอยากจะเรียนต่อก่อน จึงไปลงเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่พี่สาวเขาก็อยากให้ทำงานไปด้วย ก็เลยไปทำที่นิตยสารดิฉัน ตำแหน่งพิสูจน์อักษร ทำอยู่ได้ประมาณ 2 ปี ก็ย้ายมาทำที่นิตยสารกุลสตรี แล้วก็อยู่ที่นั่นมาประมาณ 20 ปี เรื่องงานเขียนส่วนใหญ่จะเป็นการเขียนคอลัมน์ คือเคยทำคอลัมน์เด็กให้กับนิตยสาร กุลสตรี ปัจจุบันก็ยังทำอยู่แต่ว่าเป็นเบื้องหลังคอยทำปริศนาอักษรไขว้ให้เขา

จุดเริ่มต้นของการเขียน
เป็นคนรักการอ่านมาตั้งแต่เด็กแล้ว ที่เริ่มเขียนหนังสือส่วนใหญ่ก็เป็นการบันทึกเรื่องราวส่วนตัวบ้าง อะไรบ้าง แล้วก็เอามาให้เพื่อนอ่าน ให้เด็กนักเรียนที่เราเคยสอนอ่านบ้าง บางคนก็ชอบบางคนก็ไม่ชอบ เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัวของเราเองที่คนอื่นไม่รู้ จนกระทั่งปีหนึ่งไปเขียนเรื่องสั้นให้กับนิตยสาร แพร ลงประจำอยู่ จนแพรเขาปิดตัวไปก็ไม่ค่อยได้เขียนอีก แล้วเราเองก็เริ่มซาๆ เรื่องการเขียนเรื่องสั้นไป

แนวการเขียนที่ถนัด
เป็นคนที่ชอบเขียนเรื่องแนวตลก กึ่งๆ สอดแทรกสาระ ไม่ใช่ตลกหวานแหววแบบวัยรุ่นจีบกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่สอดแทรกแง่คิดในสังคมแบบไม่ซีเรียสเกินไป จริงๆ แล้วก็อยากจะบอกอยากจะสอนอะไรหลายๆ อย่าง เรื่องที่ว่าสังคมหรืออะไรมันเปลี่ยนไปต่างจากสมัยก่อน คนเราทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่เห็นคุณค่าของเวลา ซึ่งจริงๆ แล้วน่าจะคิดอะไรได้ลึกกว่านั้น ไม่ใช่ว่าใช้ชีวิตฉาบฉวยไปวันๆ

เคยเขียนส่งประกวดกับที่ไหนบ้างไหม
ก็ไม่เคยส่งนะคะ มีแต่เขียนเก็บเอาไว้ บางเรื่องก็เขียนเอาไว้แต่ยังไม่จบ เพราะไม่มีเวลาเขียนอีก เนื่องจากเรามีภาระที่ต้องรับผิดชอบ เช่นงานประจำของเรามันทำให้เราไม่ค่อยมีเวลาให้กับการเขียนมากนัก บางครั้งเขียนค้างเอาไว้ ห่างไปหลายวัน เวลาจะมาต่อมันก็ไม่ติด หรือพอทิ้งช่วงไปนานๆ กลายเป็นว่าเรื่องที่เราอยากเขียนมันล้าสมัยไปแล้ว บางเรื่องเราหาข้อมูลเก็บเอาไว้แต่ก็ไม่ได้ลงมือเขียนซักทีเพราะเวลามันมีจำกัด ส่วนเรื่องที่ประกวดกับโครงการชมนาดนี้ไม่ใช่เรื่องที่เขียนไว้ แต่พอดีช่วงนั้นคุณพ่อเข้าโรงพยาบาล แล้วเราต้องไปเฝ้าทุกวัน ตอนนั้นมันว่างนั่งๆ นอนๆ เฝ้าคนป่วยไม่ได้ทำอะไรเลย ทำให้รู้สึกเสียดายเวลา ก็เลยลุกขึ้นมาเขียนหนังสือดีกว่า ก็ยังไม่จบ หลังจากคุณพ่อออกจากโรงพยาบาลก็เอางานกลับมาเขียนต่อที่บ้าน ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน พอเห็นว่ามีโครงการชมนาดฯ จากทางหนังสือพิมพ์ ก็เลยลองส่งดูแล้วกัน แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะได้เพราะข้อมูลเราน้อย และเราเขียนรวบรัดเกินไป

พูดถึงโครงการชมนาด บุ๊ค ไพรซ์
คิดว่าเป็นโครงการที่ดีนะคะ ที่นักเขียนอาชีพก็ได้มีโอกาสมาร่วมสนุกด้วย แต่ก็อาจจะทำให้นักเขียนมือใหม่ออกจะเกร็งๆ เพราะส่วนใหญ่คนที่จะได้รางวัลก็จะเป็นมือรางวัลอยู่แล้ว บางทีก็รู้สึกว่าน่าจะแบ่งมือใหม่กับมืออาชีพเหมือนกัน เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสมาแสดงฝีมือมากขึ้น เรื่องที่ได้แปลเป็นภาษาต่างประเทศนั้น ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ เพราะว่าปกติเราจะเอาแต่หนังสือต่างประเทศมาแปลอย่างเดียว เรารับมาแต่เรื่องของเขา แต่เขาไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องของเราเลย ก็คิดว่าเป็นโอกาสอันดีหากจะเผยแพร่วรรณกรรมไทยออกไปบ้าง

เรื่องการสนับสนุนการอ่านในบ้านเรา
ก็มีส่วนนะ การสนับสนุนการอ่านในประเทศเรายังน้อยเกินไป สื่อสิ่งพิมพ์ของประเทศเรายังไม่ค่อยรุ่งเรือง คนไทยยังอ่านหนังสือกันน้อยมาก เราเองเป็นคนที่รักหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และเก็บสะสมเอาไว้มาก ถ้าใครอยากจะขอยืมอ่านก็ให้นะคะ แต่ต้องช่วยรักษาหนังสือของเราด้วย ที่น่าตกใจกว่านั้นพี่เคยเจอเด็กที่จบประถมแล้วก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก เด็กเขาจะจำรูป เขาสะกดไม่เป็น พอขึ้นมัธยมก็ยังคงอ่านไม่ออกต่อไป แล้วถ้าไปเจอครูบาอาจารย์ที่ดีเขาก็จะใส่ใจว่าทำไมป่านนี้ยังอ่านไม่ได้ เพื่อนพี่ที่เป็นครูเขารู้สึกหนักใจมาก ต้องพาเด็กๆ มาติว มานั่งสอนกันใหม่ เพราะถ้าจะให้ปล่อยไปมันก็ไม่ได้ ซึ่งเขาก็ไม่ได้อะไรจากการมาสอนพิเศษตรงนี้ เคยถามเพื่อนว่าทำไมมันถึงเป็นแบบนี้ เขาบอกว่า กระทรวงศึกษาผลักดันเด็กให้จบ ถ้าเด็กไม่จบครูหรืออาจารย์คนนั้นจะมีความผิด เพราะฉะนั้นก็เลยต้องบวกคะแนนให้เด็กจบ เหมือนกับไล่ให้จบเลยก็ว่าได้ คือให้คะแนนผ่านไปแต่ความสามารถของเด็กไม่ผ่านเกณฑ์ นี่คือปัญหาที่น่าหนักใจมาก ไม่เหมือนกับเด็กสมัยก่อนที่ครูจะเคี่ยวเข็ญมากเรื่องการอ่านหนังสือให้ออก แต่พอโตมาเราก็เข้าใจว่าเขาเคี่ยวเข็ญเราทำไม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีเรียงความ ไม่มีอ่านไทย ไม่มีคัดไทย เขียนไทย มันเป็นเรื่องที่เราควรใส่ใจกันให้มากกว่านี้

คิดอย่างไรกับภาษาของวัยรุ่น
อันที่จริงเราสามารถเอาภาษาใหม่ๆ มาใช้ได้ แต่เราต้องรู้วิธีการเขียนกับวิธีการใช้ด้วย เพราะมันต่างกัน ขนาดบางสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ บางแห่ง พี่เคยท้วงติงเขาไปว่าอันนี้ใช้ไม่ถูกนะ เขาก็เงียบเฉยไป ไม่ได้รับการตอบกลับหรือการแก้ไขใดๆ แต่บางที่ก็มีเหมือนกันที่ท้วงติงไปเรื่องการใช้ราชาศัพท์ผิด เขาก็ขอบคุณและบอกว่าจะแก้ไข เด็กรุ่นใหม่ยังใช้คำราชาศัพท์กันผิดเยอะมาก ซึ่งควรจะระวังตรงนี้ด้วย

ความรู้สึกต่อวงการวรรณกรรมไทยในปัจจุบัน
ความรู้สึกส่วนตัวของพี่คือ จะไม่ชอบนักเขียนประเภทที่ว่าไม่มีความรับผิดชอบต่องานเขียนของตัวเอง หรือเรียกว่าเป็นวรรณกรรมขยะ คือเป็นวรรณกรรมที่อ่านแล้วรู้สึกไม่ได้อะไรเลย สำนักพิมพ์น่าจะคัดเลือกสักนิดนึง ไม่ใช่คิดอยากจะพิมพ์ก็พิมพ์ออกมา ขนาดเราเป็นพิสูจน์อักษรหนังสือบางเล่มเราอ่านแล้วยังไม่อยากจะทำงานนี้เลย อย่างน้อยการอ่านหนังสือมันควรจะได้อะไรจากการอ่านบ้าง นี่เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ในมุมหนึ่งก็เข้าใจว่าเขาอาจจะทำเพื่อธุรกิจ แต่จะคิดแต่เรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียวมันก็ไม่ได้ คิดจะพิมพ์เพื่อขายอย่างเดียวพิมพ์ทิ้งพิมพ์ขว้าง หนังสือจะมีคุณภาพหรือเปล่า จะขายได้ไหมก็ไม่สน เพียงแค่ให้ได้เงินกลับมาจากตรงนี้เท่านั้น บางสำนักพิมพ์เขามีโฆษณาสนับสนุนเยอะ เขาก็ยิ่งไม่สนคุณภาพงาน เพียงแค่ให้มีหนังสือจำหน่ายก็พอ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องว่า ชีวิตของคนเราต้องใช้เงิน แต่เงินก็ไม่ได้สามารถซื้อได้หมดทุกอย่าง พูดถึงหนังสือที่วัยรุ่นอ่านกันสมัยนี้ เราแทบจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครเป็นคนเขียน พออ่านแล้วชอบก็บอกต่อๆ กันไป อาจจะเป็นเพราะนี่มันคงไม่ใช่ยุคของเราแล้ว พอเราไปจับมาอ่านเลยรู้สึกรับไม่ได้ แต่ถ้าเป็นวรรณกรรมบางอย่างเราสามารถเก็บเอาไว้ได้ถึง 10 – 20 ปี ก็ยังหยิบขึ้นมาให้คนอื่นอ่านได้อีก มันไม่ล้าสมัย เหล่านี้จะเรียกได้ว่าเป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์

ความสำคัญของอาชีพพิสูจน์อักษร
เป็นอาชีพที่ต้องอาศัยใจรักนะ ถ้าใจไม่รักแล้วล่ะก็ ทำตรงนี้ไม่ได้หรอก บางคนตรวจตามต้นฉบับแต่ไม่รู้จักพินิจพิเคราะห์ว่าอันนี้ถูกไหม เช่น เคยอ่านเจอประโยคหนึ่งว่า “เมื่อชีวิตคนเราสูญสลายลงไปก็จะกลายเป็นเถ้าถ่านและเชิงตะกอน” ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะกลายเป็นเชิงตะกอน เพราะเชิงตะกอนคือ พื้นที่เผาศพ เราต้องอย่าให้รูปประโยคมันพาไป อะไรที่เราไม่แน่ใจในความหมาย เราต้องสงสัยเอาไว้ก่อน จริงอยู่ที่เราแก้สำนวนของนักเขียนเขาไม่ได้ แต่เรามีสิทธิ์ที่จะท้วงติงในสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้ เพื่อให้นักเขียนไปแก้ไขเอง การพิสูจน์อักษรที่ถูกต้องคือ รอบแรกเป็นการอ่านเอาเรื่อง แต่รอบสองเราต้องเริ่มจับผิดแล้ว ทั้งคำผิดและเรื่องสำนวนภาษา ซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องมีความรอบคอบมากๆ ถามว่ายากไหมมันก็ยากนะ แต่ถ้าเราได้อ่านหนังสือมากๆ เราก็จะมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องภาษาแตกฉานขึ้น เคยเจอปัญหาเหมือนกันเกี่ยวกับนักเขียนดังๆ บางคน ที่ค่อนข้างมีอัตตาในตัวเองสูง บางทีเราท้วงติงอะไรไป เขาก็จะไม่แก้ และยืนยันว่าแบบนี้ถูกแล้ว ห้ามมาแตะต้องงานของเขา เราเองก็ไม่เข้าใจเขาหรอกนะ เพียงแต่เรารู้ว่าตรงนี้มันไม่ถูกเราก็อยากจะให้มันถูกต้องที่สุด อย่างคุณทมยันตี ถ้าเกิดท้วงติงอะไรไป เขาก็จะบอกว่าใช่ๆ แก้ไปเลย แต่กับบางคนเขาก็ไม่ยอม

ฝากถึงนักเขียนหน้าใหม่
อยากให้อ่านหนังสือเยอะๆ แต่อย่าลอกงานเขียนของคนอื่นมาเป็นงานเขียนของตัวเอง พี่รู้จักคนหนึ่งเป็นนักเขียนที่เป็นที่รู้จักพอสมควรในแนวแฟนตาซี ทุกคนอ่านหนังสือของเขาแล้วก็รุมชอบกันใหญ่เลย หนังสือของเขาก็ขายดี หลายๆ คนก็บอกว่าอ่านแล้วสนุกดี เราก็เลยไปลองถามคนที่อ่านหนังสือของคนนี้ว่า คุณเคยอ่านของคนอื่นไหม ยกตัวอย่างไป 4 คน เขาบอกว่าไม่เคย ถ้าอย่างนั้นคุณไปลองอ่านหนังสือของนักเขียน 4 คนนี้ แล้วก็จะได้เป็นงานของเพื่อนคนนี้ เพราะนั่นเป็นการเอางานของคนอื่นมายำ หยิบตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อยมารวมกัน มันอาจจะเป็นงานเขียนที่คุณสร้างขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่ถามว่าลอกงานของใครไหม...ใช่... มันคือการเอาไอเดียของคนอื่นมายำให้เป็นเรื่องใหม่ ตามกฎหมายลิขสิทธิ์มันอาจจะไม่ผิด เพราะไม่ได้ลอกมาทั้งดุ้น แต่ถ้าได้อ่านหนังสือเล่มอื่นๆ แล้วมันจะรู้สึกว่านี่คือการลอก คือเหตุการณ์และการดำเนินเรื่องมันจะคล้ายๆ กัน เราอยากให้ทุกคนที่อยากเป็นนักเขียน พยายามสร้างงานของตัวเองขึ้นมา อย่าไปลอกใคร แล้วเราจะรู้สึกภูมิใจว่าตัวเองก็เก่ง คนที่อ่านหนังสือน้อยก็จะรู้น้อย แล้วก็เขียนออกมาได้น้อย

 

โดย...ฟีนิกซ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ