สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ : เราอยู่ได้เพราะคนเชียงใหม่ใฝ่รู้

สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์

สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์

สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ เป็นร้านหนังสือที่อยู่คู่กับเชียงใหม่มาเกือบครึ่งศตวรรษ ร้านหนังสือนี้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ อย่างหนึ่ง เพราะเมื่อกล่าวถึงสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์เมื่อใด คนฟัง 9 ใน 10 คน ต้องรู้ทันทีว่า เป็นร้านหนังสือที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

ในแง่ธุรกิจ สุริวงศ์ก็ไม่แตกต่างจากกิจการอื่นๆ ในท้องถิ่น ที่เมื่อความเจริญย่างก้าวเข้ามา สิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้เปลี่ยน แปลงไป ย่อมได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

การเข้ามาของแฟรนไชส์และสาขาของร้านหนังสือใหญ่ๆ จากกรุงเทพฯ เช่น ซี-เอ็ด บุ๊คเซ็นเตอร์ หรือดอกหญ้า ที่มา พร้อมกับการเกิดขึ้นของกาดสวนแก้วเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน มีผลต่อยอดขายของสุริวงศ์ เป็นอย่างยิ่ง

"ยอดขายเราหายไปเลยครึ่งต่อครึ่ง" จ้อย จิตติเดชารักษ์ กรรมการผู้จัดการสุริวงศ์ บุ๊คเซ็นเตอร์ บอก "ผู้จัดการ"ถึงสถานการณ์ ช่วงนั้น

แต่ในแง่ของความผูกพันกับท้องถิ่นแล้ว สุริวงศ์มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ ที่ได้ล่มสลายไปแล้วกับกระแสความนิยมของคนเมือง ที่เปลี่ยนไปหาสิ่งที่ทันสมัยกว่า

เพราะชื่อร้านสุริวงศ์ เป็นชื่อที่อยู่คู่กับการศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่มาช้านาน คนเชียงใหม่ในปัจจุบัน มีมากกว่าครึ่งที่ได้ดิบได้ดีขึ้นมาได้ในทุกวันนี้ เพราะอาศัยหนังสือ ตำรับตำรา และแบบเรียนจากร้านสุริวงศ์

ดังนั้น ในความรู้สึกของคนเมืองแล้ว สุริวงศ์จึงเป็นเหมือนสถาบันแห่งหนึ่งที่เขามีความผูกพัน ช่วงที่ร้านหนังสือจากกรุงเทพฯ ทยอยขึ้นมาเปิดสาขาที่เชียงใหม่ สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ กำลังมีอายุย่างเข้าขวบปีที่ 40 ถือว่าได้สร้างรากฐานอย่างยาวนาน และมั่นคงแข็งแรงมาแล้วระดับหนึ่ง

"ตอนเราโต เราค่อยๆ โต แต่เราก็ไม่ได้โกรธที่เขาเข้ามา เพราะมันเป็นสิทธิ์ของลูกค้า ที่เขาจะได้มีทางเลือก"

จ้อยได้เข้ามาช่วยพ่อและแม่ทำงานในร้านหนังสือแห่งนี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่เริ่มรับช่วงการบริหารร้านอย่างเต็มตัวในปี 2519 ดังนั้น เธอจึงได้เห็นช่วงเปลี่ยนผ่านของธุรกิจร้านหนังสือในเชียงใหม่มามากพอสมควร

"พอเรียนอนุบาล เริ่มนับเลขได้ คุณพ่อก็ให้เข้ามาช่วยนับหนังสือเก่าในร้านแล้ว" การแข่งขันที่เริ่มรุนแรงขึ้น หลังกาดสวนแก้วเปิดให้บริการในปี 2537 ทำให้จ้อยต้องตัดสินใจขยายพื้นที่ให้บริการของร้านที่ตั้งอยู่ริมถนนศรีดอนไชย โดยการซื้อที่ดินข้าง เคียงเพิ่มมาอีก 3 แปลง เพื่อก่อสร้างอาคารเพิ่มพื้นที่ให้บริการเป็น 1,800 ตารางเมตร

แม้การตัดสินใจขยายพื้นที่ มีการมอง กันว่าเป็นการกระโดดเข้าร่วมการแข่งขันกับ ร้านหนังสือจากกรุงเทพฯ แต่จ้อยปฏิเสธ โดยบอกว่าเป็นการปรับปรุงกิจการตามปกติ "เราปรับปรุงตัวเองตลอดอยู่แล้ว เป็น การปรับเพื่อให้เราดีขึ้น ไม่ได้ปรับเพราะคนอื่น หรือเพราะมีคู่แข่ง"

การก่อสร้างอาคารเพื่อขยายพื้นที่ให้ บริการ ทำให้สุริวงศ์มีจุดเด่นที่แตกต่างจากร้านหนังสืออื่น ซึ่งส่วนใหญ่ต้องไปอาศัยพื้นที่ ในห้าง เพราะสุริวงศ์กลายเป็นร้านหนังสือแห่งเดียวที่มีที่จอดรถเป็นของตัวเอง ที่สามารถรับรถได้ถึง 160 คัน

หลังอาคารแห่งใหม่เปิดให้บริการในอีก 1 ปีต่อมา ลูกค้าเก่า ซึ่งเป็นลูกค้าประจำ เดิม ก็เริ่มกลับเข้ามาใช้บริการของสุริวงศ์บุ๊ค เซ็นเตอร์อีกครั้ง

ในปัจจุบันสถานะของสุริวงศ์บุ๊ค เซ็นเตอร์ถือว่าอยู่ได้อย่างมั่นคงแข็งแรง มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงพนักงานที่มีอยู่ถึง 110 คนได้อย่างสบาย "แต่ก็ไม่เหลือพอที่จะให้เราใช้จ่ายได้อย่างฟุ่มเฟือย" นอกจากร้านที่ตั้งอยู่ริมถนนศรีดอนไชย เมื่อ 3 ปีที่แล้วสุริวงศ์ยังได้ขยายไปเปิดสาขาภายในอาคารสนามบินเชียงใหม่ด้วยอีกแห่งหนึ่ง

"สาขาที่สนามบิน การท่าอากาศยาน แห่งประเทศไทย เป็นผู้ขอให้เราไปเปิด โดยกำหนดให้เราขายหนังสือตามราคาปก ซึ่งที่นี่เราก็ไม่ได้กำไรมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นจุดที่สามารถสร้างภาพพจน์ให้กับร้าน"

จ้อยเป็นลูกสาวคนที่ 2 ของชัย และวรรณี จิตติเดชารักษ์ ผู้ก่อตั้งร้านสุริวงศ์บุ๊คเซ็น เตอร์ (รายละเอียดอ่านล้อมกรอบ "จากร้านเล็กๆ ในโรงหนัง สู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงของร้าน หนังสือท้องถิ่น") เธอเรียนไม่จบมัธยมปลายเสียด้วยซ้ำ เพราะต้องลาออกมาช่วยงานในร้าน หลังพ่อของเธอเสียชีวิต

"ทุกวันนี้ก็ยังเสียดายอยู่ที่เรียนไม่จบ" การที่เธอใช้ชีวิตอยู่กับสุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์มานาน เธอยอมรับว่าความรู้สึกที่มีต่อร้าน หนังสือแห่งนี้ คือความผูกพันที่แยกกันไม่ออก

ทุกวันนี้เธอพักอาศัยหลับนอนอยู่ภายในอาคารเดียวกับอาคารที่เป็นร้านหนังสือ "ถ้าร้านแห่งนี้เป็นอะไรไป ก็หมายความว่าเราก็ไม่มีที่จะอยู่"

ว่ากันว่าหนังสือทุกเล่มที่วางขายอยู่ในร้านสุริวงศ์ จ้อยสามารถจำได้หมด เพราะเธอเป็นคนทำหน้าที่คัดสรรหนังสือที่จะขาย และอบรมพนักงานทุกคนในร้านด้วยตัวเอง "ร้านหนังสือไม่ใช่ขายเพื่อเอาเงินอย่างเดียว แต่ควรจะต้องดูด้วยว่าสิ่งที่เราขาย มันมีประโยชน์ต่อคนอ่านหรือไม่"

ทุกๆ เช้า ก่อนเปิดร้าน จ้อยจะต้องเดินสำรวจรอบๆ ร้าน เพื่อเช็กสภาพความเรียบ ร้อยทั่วไป และสำรวจดูว่าหนังสือเล่มใดที่วางขายมานานแล้วยังขายได้ไม่หมด เพื่อตัดสินใจ ว่าจะทำอย่างไรกับหนังสือเล่มนั้น

เป็นกิจวัตรที่เธอทำติดต่อกันมาหลายปี และเป็นกิจวัตรที่เธอทำจากความรักและความผูกพันในสิ่งที่ทำ

ด้วยความรักและผูกพันดังกล่าว เมื่อการแข่งขันในธุรกิจร้านขายหนังสือได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เธอจึงต้องพยายามหาหนทางทุกวิถีทาง เพื่อที่จะทำให้ร้านหนังสือเก่าแก่แห่งนี้ สามารถอยู่รอดได้

"เพราะความรู้สึกกับสิ่งที่เราทำ เราชอบ เรารัก เราจึงสามารถจะอดทนได้ ถ้าเราไม่ชอบ ไม่รัก มันจะกลายเป็นความท้อแท้"

เธอก็ยอมรับว่า เหตุผลสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้ร้านสุริวงศ์สามารถผ่านพ้นช่วงการแข่งขันที่รุนแรงในขณะนั้นมาได้ ไม่ได้เป็นเพราะการปรับตัว หรือความอดทนของเธอเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนเชียงใหม่เป็นคนที่ใฝ่รู้ รักที่จะศึกษาหาความรู้จากการอ่าน ความต้องการของหนังสือจึงไม่มีวันหมด

"ถ้าคนยังรักการอ่าน ธุรกิจร้านหนังสือไม่มีวันตาย และเราก็ภูมิใจว่าคนเชียงใหม่ยังเห็นว่าธุรกิจของคนเชียงใหม่ควรจะรักษาไว้"

สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ เป็นเพียง 1 ในตัวอย่างของธุรกิจท้องถิ่นเพียงไม่กี่รายที่สามารถ อยู่รอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

แหล่งที่มา: ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์. News detail. สุริวงศ์บุ๊คเซ็นเตอร์ '

เราอยู่ได้เพราะคนเชียงใหม่ใฝ่รู้'. นิตยสารผู้จัดการ. กุมภาพันธ์ 2545.

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ