Poon Pid Thong : ปูนปิดทอง ผู้หญิงทรงคุณค่าของกฤษณา อโศกสิน

Poon Pid Thong

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2557 ที่ผ่านมา สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเปิดตัวหนังสือ Poon Pid Thong : Gold – Pasted Cement หรือรู้จักกันในชื่อ “ปูนปิดทอง” หนังสือทรงคุณค่าที่ได้รับรางวัลซีไรท์เมื่อปี พ.ศ. 2528 เขียนโดย “กฤษณา อโศกสิน” โดยเนื้อหาสะท้อนถึงบทบาทและคุณค่าของผู้หญิงในสังคมไทยอย่างเต็มเปี่ยมและครบถ้วน ด้วยเหตุนี้เอง สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจึงจัดตีพิมพ์ “ปูนปิดทอง” เป็นฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่ผลงานสะท้อนสังคมไทยให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก

 

ปูนปิดทอง ผู้หญิงทรงคุณค่าของกฤษณา อโศกสิน

 

โดยงานจัดขึ้นที่ร้านหนังสือคิโนะคุนิยะ ศูนย์การค้าสยามพาราก้อน บรรยากาศงานเต็มไปด้วยความคึกคัก มีทั้งสื่อมวลชนและกลุ่มนักเขียนให้ความสนใจกันมากมาย นอกจากนี้ยังมีคุณชมัยภร แสงกระจ่าง อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยให้เกียรติเป็นผู้ดำเนินรายการสัมภาษณ์คุณกฤษณา อโศกสิน และผู้วิจารณ์อีกสองท่านได้แก่รองศาสตราจารย์ตรีศิลป์ บุญขจร และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรเดช โชติอุดมพันธ์

คุณชมัยภรได้เล่าถึงเหตุผลที่ “ปูนปิดทอง” ได้รับรางวัลซีไรท์ไว้ดังนี้ “เรื่องนี้ได้รับรางวัลซีไรท์ในปี 2528 ดิฉันจำได้ว่า ปีนั้นอาจารย์คุณหญิงจิตนา ยศสุนทรยังเป็นกรรมการซีไรท์ และดิฉันก็อยู่ในกรรมการนั้นด้วย ปกติแล้วคุณหญิงจิตนาไม่อ่านนวนิยายสายนี้เท่าไรนัก แต่ปรากฎว่าเมื่อท่านอ่านนวนิยายเล่มนี้ก็แปลกใจมาก เอ๊ะ คุณกฤษณาได้นำเสนอปัญหาตรงจุดจริงๆ และปีนั้นก็เป็นปีที่คณะกรรมการต้องโหวตกันคือคณะกรรมการท่านหนึ่งไม่มาประชุม ไม่มีกรรมการคัดเลือก ดังนั้น กรรมการทั้งหมดก็เป็นเสียง 6 คนพอดี โหวตแล้วมีเล่มเข้าชิงคู่กันได้ 3 คะแนนเท่ากันพอดี วิธีตัดสินก็คือใช้วิธีของคณะอักษรศาสาตร์ ให้เอาองค์ประกอบของนวนิยายมาเรียงกันแล้วถามเรียงกันเรื่องนี้ได้คะแนนเท่าไร เรื่องนี้ เรื่องนี้ได้คะแนนเท่าไร เทียบกันไปแบบนี้ 14 ประเด็น แล้วเรื่องนี้ชนะเรื่องนั้น 1 ประเด็น คือไม่ใช่มันไม่ดีกันมากๆนะคะ แต่คะแนนมันเท่ากัน มันเท่ากันไปหมด เช่น ธีมของเรื่องมันก็ไม่เหมือนกันไปแข่งกันได้ยังไงใช่ไหม 1 ต่อ 1 อีกเรื่องก็ 1 ต่อ 1 ไปเรื่อยๆ แต่มันจะมีประเด็นบางประเด็น เรื่องนี้ชนะ ก็ได้มา 1 ประเด็น ตื่นเต้นมากเลยกับวิธีตัดสินแบบนี้ ในที่สุดเราก็หาทางออกได้ เพราะกรรมการไม่หนึ่งคน โหวตยังไงก็ได้เท่าเดิม สู้กันไปสู้กันมาก็ได้ 3 ต่อ 3 เท่าเดิม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องมหัศจรรย์ของปูนปิดทองเหมือนกันที่ได้รับรางวัล และวันนี้ปูนปิดทองได้ปรากฎตัวในรูปแบบใหม่“

ทำไม “ปูนปิดทอง” จึงเป็นผู้ชนะและรับรางวัลซีไรท์ในปีนั้น ดร.ตรีศิลป์ ก็ได้อธิบายคุณค่าของปูนปิดทองไว้ว่า “หลายท่านในที่นี้คงรู้จักหรือเคยอ่าน หรือดูภาพยนตร์เรื่องปูนปิดทองมาแล้ว แม้ว่าจะนานเกือบ 30 ปี ในช่วงเวลานั้นจะพูดถึงประเด็นที่ว่า ถ้าคนที่ไม่ใช่คนไทยมาอ่านเรื่องนี้เขาจะเห็นลักษณะไทย ไม่ได้หมายถึงความเป็นไทยนะคะ ลักษณะไทยๆมีอย่างไรบ้างในหนังสือเล่มนี้ และเป็นการย้อนทวนไปถึงหนังสือเล่มนี้ ซึ่งดิฉันได้ไปค้นข้อมูลที่จะมาพูดวันนี้ว่ามีผู้ทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับคุณกฤษณา มีทั้งปริญญาโท ปริญญาเอกมากมายนะคะ ก็ถือได้ว่ามีคนเอาไปวิเคราะห์มากทีเดียว ในไม่ช้าหน่วยการแปลก็ได้มีการเปรียบเทียบฉบับแปล ก็อยากจะบอกว่าคนต่างชาติที่ไม่ใช่คนไทยมาอ่านเรื่อง ปูนปิดทอง เขาก็อาจจะตั้งคำถามนิดหนึ่งว่าภาพหน้าปกเป็นพระพุทธรูปเขียนว่า ปูนปิดทอง โกลด์ พลาสเซ็ด ซีเมนท์ คำว่าซีเมนท์ก็ทำให้เราแปลกใจ แต่ว่าคีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญอันเนี้ย จะอยู่ที่บทสุดท้ายซึ่งจะเปรียบเทียบสถาบันครอบครัวที่มีพ่อแม่บิดามารดา ซึ่งก็เหมือนสำนวนไทยคือเป็น “พระในบ้าน”

พระในบ้านในที่นี้กลายเป็นพระพุทธรูปที่เป็นปูน แต่ปิดด้วยทอง อันเป็นคีย์เวิร์ดของหนังสือเล่มนี้ ดิฉันจะพูดใน 3 ประเด็น ประเด็นแรกทำให้เห็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยกับสถาบันที่สำคัญที่สุดสำหรับอาเซียนและสำหรับคน ไทย บิดามารดาถือว่าเป็นผู้ที่ต้องกตัญญู พ่อแม่คือผู้ให้กำเนิด และผู้ที่เราต้องเคารพนับถือ อันนี้มีในสังคมจีน สังคมตะวันออก สังคมตะวันตกเองก็มี แต่ว่าเราเห็นอะไรบ้างในปูนปิดทองในช่วงปี 2528 ประเด็นที่ท่านผู้เขียนได้หยิบยกก็คือประเด็นที่ว่าคนรุ่นใหม่ซึ่งเกิดขึ้นมาในครอบครัวแตกแยก ครอบครัวที่แตกแยกนั้นรุ่นลูกอยู่อย่างไร โดยทั่วไปก็จะบอกสมัยเราเด็กๆ พ่อแม่ไม่สั่งสอน เราจะฆ่ากันตาย เด็กๆต้องชกกันปากแตก สมัยนี้ไม่แน่ใจว่าถ้าพูดว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอนเด็กจะรู้สึกหัวเราะหรือเปล่านะ เออ ไม่ได้สั่งสอนจริงๆ สังคมมันเปลี่ยนและรุนแรงมากขึ้น ความซับซ้อนและความห่างเหินในสถาบันครอบครัวมีมากขึ้น ในหนังสือเล่มนี้มีสิ่งน่าสนใจให้เรากลับไปอ่าน

จะเห็นได้ว่าผู้ประพันธ์หยิบยกเรื่องสถาบันครอบครัวเรื่องของพ่อแม่แล้วให้คนรุ่นลูกวิพากษ์การกระทำของรุ่นพ่อรุ่นแม่ซึ่งทำไม่ดีกับดี และลูกก็มีหลากหลาย ลูกที่รู้สึกเจ็บแค้นอยากจะโต้กลับพ่อแม่โดยการที่ทำตัวให้เลวร้าย ไปเป็นขี้เมา ติดยาเสพติด อันนี้เราฟังกันมาเยอะว่าลูกไม่ได้รับการอบรมทำให้ครอบครัวมีปัญหา แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มลูกที่มีความขัดแย้งในใจว่าจะประท้วงพ่อแม่ เกลียดพ่อแม่ คิดดูนางเอกในเรื่องเราเนี่ย พูดกับพ่อนะคะ และพระเอกของเราก็พูดว่านั้นไม่ใช่แม่เรา คือสามารถจะพูดต่อหน้าแม่ว่ารุนแรงในสมัยนั้น แต่ว่าผู้มีวุฒิภาวะมากกว่าคือคนรุ่นลูกไม่ใช่คนรุ่นพ่อแม่ อันนี้หน้าสนใจมากในช่วงที่เปลี่ยน ผ่านของคนตรง สังคมไทยเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคเสรีภาพ ภราดรภาพพยายามจะเชิดชู แต่ความเป็นสามีภรรยาที่มีสามีภรรยามากกว่าหนึ่งคน มากผัวหลายเมีย มันยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ดำรงอยู่อย่างเป็นปกติด้วย ธรรมดาที่ลูกก็ต้องยอมรับว่ามีแม่เข้ามาอยู่ในบ้านมันไม่ใช่แม่เรา แม่เราก็ประชดมีสามีใหม่ แล้วลูกก็เลยแตกกันไป มีพี่น้อง สังคมอเมริกันเราคงเคยดูเรื่องของอเมริกาที่พูดถึงแบบนี้ แต่สำหรับสังคมไทยไม่มีใครพูดหรือหยิบขึ้นมา รุ่นลูกขึ้นมาวิพากษ์พ่อแม่ และกลับกลายเป็นผู้ที่ช่วยพ่อแม่กลับมาอยู่ในวิถีทางที่ควรจะเป็น

อันนี้ถือว่าในช่วงนั้นก็คงไม่เบา ลูกสามารถลุกขึ้นมาบอกว่าการกระทำของพ่อหรือแม่ไม่เหมาะสม เมื่อไรจะเป็นที่พึ่งของลูกได้สักที อันนี้ก็เป็นประเด็นที่มองเห็น คนก็จะมองเห็นว่าสังคมไทยยังเป็นสังคมมากผัวหลายเมียที่เรียกว่าโพริกา คนรุ่นลูกก็ลุกมาประณามแล้ว ไม่ได้ยอมรับอีกต่อไป ก็พยายามจะนำไปสู่สภาพสังคมที่ไม่แตกแยก สังคมไทยของเราเริ่มจะให้ความสำคัญกับคำว่ารักแท้ ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวที่มีสามีและภรรยาคนเดียว ตัวอย่างก็คือพระเอกนางเอกในเรื่อง ซึ่งพยายามประคับประคองให้ชีวิตตกลงปลงใจได้ก็หวั่นวิตกพอสมควรว่าไม่อยากจะแต่งงานกลัวจะมีปัญหาเหมือนพ่อแม่ ประเด็นนี้เราก็จะเห็นได้ ผู้อ่านก็จะมองเห็นได้ อันนี้คิดว่าเขาจะเข้าใจ

ประเด็นที่สอง งานคุณกฤษณาหลายเรื่อง ผู้หญิงจะเก่งกว่าผู้ชาย ผู้ชายต่อให้อายุมากอายุน้อยก็เข้มแข็งไม่เท่า ผู้หญิงนั้นมีความอดทน มีวุฒิภาวะดูเหมือนจะสูงกว่า ไม่รู้ว่าเป็นความลำเอียงของผู้ประพันธ์หรือเปล่า ทำไมผู้หญิงอย่างบาลีเข้มแข็งกว่าพระเอกชื่อสองเมือง บาลีเป็นคนที่คอยตักเตือนผู้ปกครองบิดามารดา กลับกลายเป็นคนรุ่นลูกซึ่งเป็นผู้หญิงมีทีท่าที่สุขุม รอบคอบ แม้ว่าเธอจะเป็นคนที่ไปเรียนเมืองนอก และดูเหมือนคนจะเข้าใจว่าเธอง่ายหรืออะไรอย่างนั้น ที่จริงแล้วเธอก็มีความเป็นไทย หลายตอนจะเห็นถ้อยคำของผู้เขียน ซึ่งแสดงถึงความวิพากษ์ค่านิยมตะวันตกที่กำลังเข้ามา แล้วบอกว่าอย่างไรฉันก็เป็นคนไทย แม้ว่าบาลีจะเคยอาศัยในอเมริกาอยู่นาน แต่ก็ไม่ได้ตกอยู่ในวิธีปฏิบัติที่ไม่ระวังตัว เป็นผู้หญิงไทยแบบในขนบที่มองเห็น ก็เห็นได้ว่าผู้หญิงตอนนี้เป็นตัวเอกในหน้าหนังสือพิมพ์เยอะ แต่งงานกับคนต่างชาติ แต่บทบาทผู้หญิงไทยในเรื่องเป็นผู้หญิงที่สุขุมกว่า มีวุฒิภาวะมากกว่า แม้กระทั่งผู้หญิงที่ไม่ได้แต่งงาน มาช่วยดูแลพระเอกที่ไม่ได้อยู่กับแม่ และเกลียดแม่ ไม่อยากพูดกับแม่ ประท้วงแม่ แต่อาซึ่งไม่ได้แต่งงานและมาดูแลกลับกลายว่าเป็นบทบาทของผู้หญิงที่มีความเข้าใจมากกว่า แม่ก็เข้าใจ หรือแม่ที่ทำตัวไม่ดีที่สุดก็เห็นลูกแล้วดูเหมือนว่ามีความละเอียดอ่อนและเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและก็ช่วยประคับประคองไม่ให้เลวร้ายกว่าเดิม อันนี้ก็จะเป็นลักษณะของผู้หญิงที่เข้มแข็งของผู้หญิงไทย

แม้ว่าบางคนเป็นแม่ที่ไม่ดี แต่เมื่อรู้สึกก็มาสารภาพกับลูก มีฉากที่แม่มาบอกกับลูก ขอโทษลูกแม่ทำผิดไป ร้องไห้กับลูก ปกติจะมีแต่ลูกใช่ไหมค่ะที่ร้องไห้กับพ่อแม่ แต่นี้อ้อนวอนง้อลูก แม่ผิดไปแล้ว พระเอกก็ใจดำ บางทีก็ไม่ยอม พระเอกนี้ก็มีลักษณะที่ไม่ใช่อุดมคติและก็สมบูรณ์แบบ มีคนทำวิทยานิพนธ์เอาทฤษฎีเรื่องพัฒนาการทางอารมณ์ EQ มาจับตัวละคร ตัวละครมีพัฒนาการทาง EQ ดีมาก ประสบความสำเร็จทางด้านจิตวิทยา ซึ่งบทบาทประคับประคองคนที่ผิดไปแล้วก็ละทิ้งหน้าตาได้เร็วกว่าผู้ชาย ผู้ชายค่อนข้างมีทิฐิสูงกว่า เราจะมองเห็นบทบาท ซึ่งในที่สุดแล้วทิฐิทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย ไม่ว่าจะอยู่กับใครก็ตาม

ประเด็นที่สาม จะเห็นว่าเสียงของพุทธศาสนา สมัยใหม่เราก็เรียกว่า วาทกัณพุทธศาสนา หรือเสียงของพะพุทธศาสนาเป็นเสียงที่นำทางวรรณกรรมเรื่องนี้ ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะเข้าใจมากขึ้น เรารับนวนิยายแบบตะวันตกเข้ามาอยู่ในสังคมไทยของเราและพัฒนามากขึ้น เรามีลักษณะเป็นตัวของตัวเอง วรรณกรรมของเราที่ว่ามีความบันเทิง แต่คนไทยก็ยังคาดหวังว่าอารมณ์จบของนวนิยายน่าจะลงจบด้วยดี ความพยายามทำความดีจะได้รับผลตอบแทน มีงานวิจัยบางเรื่องก็จะบอกว่ามีวรรณกรรมคำสอนร่วมสมัยที่บอกว่าพุทธศาสนานำทาง แม้นว่าทิฐิทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราต้องละวาง ตัวละครที่มีทิฐิทุกตัวชีวิตก็ไม่มีความสุข จะประสบแต่อุปสรรค ประสบแต่ความทุกข์ แต่ตัวละครจะเปรียบเหมือนเป็นบัวสี่เหล่า ปรากฏว่าพระเอกนางเอกอาจจะไม่ใช่บัวที่เชิดขึ้นเหนือน้ำทันทีทันใด แต่จากหลังที่เค้าผ่านการไตร่ตรอง ผ่านอุปสรรค ผ่านความทุกข์ยากมาแล้ว เขาตัดสินใจได้ว่าเขาจะเลือกทำชีวิตให้ดีกว่าเดิมไม่เหมือนพ่อแม่ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าวรรณกรรมเรื่องนี้แม้จะให้ว่าตัวละครเกิดมาจากสภาวะครอบครัวแตกแยก ทั้งพระเอกนางเอกก็เหมือนกับดอกบัวที่เกิดจากโคลนตม สามารถฝ่าฟันจากโคลนตมของชีวิตขึ้นมา และบานอย่างสวยงามเป็นดอกบัวเช่นเดียวกัน”

เมื่อมองย้อนอดีตแล้ว ดร.สุรเดช ได้ให้ข้อคิดเปรียบเทียบระหว่างปูนปิดทองกับสังคมไทยยุคปัจจุบันไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า “งานชิ้นนี้ถ้าเกิดชาวต่างชาติได้อ่านเขาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง ผมมีความรู้สึกว่ามันมีทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่างก็คือลักษณะร่วม คนต่างชาติที่อ่านเล่มนี้แล้วเขาจะรู้สึกร่วมอย่างไรบ้าง เขาจะเข้าใจอะไรบ้าง และส่วนที่ต่าง ผมว่าทั้ง 2 ประเด็นนั้นสำคัญเท่าๆกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือเรื่องของสังคม โดยเฉพาะเรื่องของโลกาภิวัฒน์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แล้วผมมองว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคมมันทำให้สถาบันครอบครัวหรือแม้กระทั่งปัจเจกบุคคลที่อยู่ในสังคมขาดที่ยึดเหนี่ยว ผมมีความรู้สึกว่าสภาพสังคมในสมัยนั้น เมื่อเกือบ30ปีที่แล้วกับยุคปัจจุบันไม่ได้ต่างกันเลย อาจจะมีลักษณะความเข้มข้นมากกว่าด้วยซ้ำ คือวิชาหนึ่งที่ผมสอนหรือหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่ลูกศิษย์ผมมักจะชอบทำคือเรื่องเมือง พอผมกลับมาได้อ่านปูนปิดทองอีกครั้งหนึ่ง ผมมีความรู้สึกว่ามันจริง มันสะท้อนปัญหาไม่ใช่สมัย30ปีที่แล้ว แต่มันก็เป็นปัญหายุคปัจจุบันที่เราเผชิญกันอยู่เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ผมมองเห็นเนี่ยมันก็คือภาวะไร้ร่างของคน ไม่ว่าจะสังคมสมัยเมื่อ30ปีที่แล้วหรือในปัจจุบัน ปัญหาเรื่องทุนนิยม เรื่องเงินตรา การพยายามที่จะพิสูจน์ว่าตัวเองประสบความสำเร็จ การพยายามตั้งต้นทำธุรกิจ แล้วก็ในที่สุดมันเป็นเรื่องของการพยายามที่เรียกว่าทำตามตัณหาของตนเองด้วย ซึ่งไม่ใช่ตัณหาของการแสวงหาเงินตราอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องตัณหาความใคร่ด้วยนะครับ ซึ่งอย่างที่คุณกฤษณาได้บอกว่าเป็นความผิดพลาดของคนรุ่นพ่อแม่ นั่นก็คือว่าคนรุ่นพ่อแม่ก็มัวแต่วนเวียนอยู่ในกลกามหรืออะไรต่างๆ ก็คือว่าแสวงหาที่จะตอบสนองความใคร่ของตนเอง ในขณะที่ลูกไม่ได้เลี้ยงดูด้วยความอบอุ่น เพราะฉะนั้นปัญหาของเด็ก จริงๆแล้วก็เป็นธีมคลาสสิกเหมือนกัน แล้วก็นักเขียนร่วมสมัยหลายๆคนในยุคหลังก็เอาธีมนี้มาเขียน อย่างคุณภาณุ ไตรเวช ก็จะมีเรื่องของเด็กกำพร้าแห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งสามารถเป็นชื่อของบาลีและสองเมืองได้อย่างดี เหมือนกับเป็นเด็กกำพร้าทีแสวงหาทิศทาง แต่ว่าตัวละครสองตัวนี้ไม่มีทิศทาง เลยต้องสร้างทิศทางด้วยตัวเอง เหมือนกับว่าต้องไขว่คว้าและก็ค่อยๆเรียนรู้

เพราะฉะนั้นประเด็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือเรื่องของสังคมเมือง นักอ่านต่างชาติเวลาเขาอ่านเขาจะสัมผัสได้ เพราะว่าประเทศของเขาก็จะมีลักษณะของการเปลี่ยนแปลง การเป็นเมืองขึ้นมา และที่สำคัญที่ผมมองว่าจริงๆแล้วเล่มนี้พอแปลเป็นภาษาอังกฤษ คนส่วนใหญ่ก็จะคิดว่าต้องให้ฝรั่งอ่าน จริงๆแล้วไม่ใช่ ต่อไปเราจะเข้ายุคอาเซียน สิ่งที่น่าสนใจคือคนอ่านที่อยู่ในเซาธ์อีสท์เอเชีย ผมมองว่าตรงนี้น่าสนใจมาก เพราะว่ามันเป็นปรากฏการณ์เรื่องของเมืองแบบเดียวกัน พัฒนาเมืองแบบโตเดี่ยว คือพัฒนากระจุกแค่เมืองหลวง เพราะฉะนั้นคนอ่านที่ในอาเซียนเมื่อได้สัมผัสเรื่องเหล่านี้แล้วเขาก็จะเข้าใจ

และประเด็นในเรื่องที่แตกต่าง เมื่อกี้ผมพูดถึงเรื่องของความเหมือนไปแล้ว ความแตกต่างก็คือว่าวิธีการนำเสนอของคุณกฤษณาไม่ได้เพียงแค่เล่าถึงเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเท่านั้น แต่คุณกฤษณาก้าวไปไกลกว่านั้น วรรณกรรมจะมี 2 แบบ คือแบบที่เล่าเรื่องไปและผู้เขียนดึงสิ่งนู้นสิ่งนี้เข้ามา แล้วก็อีกแบบหนึ่งที่คนเขียนหรือผู้เขียนพยายามที่จะแทรกทางออก ซึ่งผมมองว่าในเรื่องปูนปิดทองมีคุณค่าอยู่ที่การนำเสนอทางออก และทางออกก็เป็นสิ่งที่อาจจะไม่เหมือนกับของตะวันตกเลยทีเดียว และนี่ก็จะเข้าสู่ประเด็นที่ 2 ในเรื่องของความเป็นปัจเจก

ในขณะที่คนตะวันตก เมื่ออายุ 18-19 พ่อแม่ก็คงอยากให้เขาไปเผชิญชีวิต ไปอยู่ข้างนอก เรียนรู้ให้อยู่ด้วยตัวคนเดียว บางคนเที่ยวรอบโลก แบ็คแพ็คกันไป แต่สังคมไทยนี่คือความแตกต่าง นั่นก็คือว่าสายสัมพันธ์ในครอบครัวก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่เลี้ยงดูมาแบบไทยๆที่อาจจะไม่ได้มีความเป็นผู้ใหญ่ หรือความสุขุม ไม่ได้ถูกเคลมมาด้านนี้อย่างพอสมควร พอหลุดออกมาหรือพอพ่อแม่ไม่ได้ดูอย่างดีก็เหมือนจะหลุดไปเลย และกว่าจะกลับมาถูกในทิศทางก็เกือบจะบทท้ายๆ หรือเกือบจะสายไป เพราะฉะนั้นลักษณะที่แตกต่างที่คุณกฤษณานำเสนอ ผมว่าผู้อ่านต่างชาติจะสนใจ ซึ่งเขาอาจจะเชื่อมโยงกับเรื่องของชื่อเรื่องด้วยนั่นเอง

ที่อาจารย์ตรีศิลป์พูดเรื่องปูนปิดทอง ผมมองตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญคือการใช้พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เข้ามาชโลมใจแล้วก็นำมาใช้เป็นทางออก ซึ่งผมว่าตรงนี้ตะวันตกอาจจะไม่ได้มีหรือมีแต่อาจจะไม่ได้คิดขึ้นมาเหมือนอย่างคนไทยเรา ซึ่งจริงๆในฉบับแปลจะมีภาษาอังกฤษอธิบายไว้ข้างหลังเรียบร้อย ซึ่งดีมากสำหรับนักอ่านต่างชาติเวลาเขาอยากถามว่าทำไมต้องเป็นโกลด์พลาสเซ็ดซีเมนท์ อาจจะต้องดูปกหลัง มันเป็นเรื่องของพระพุทธศาสนาที่บอกว่าพ่อแม่เหมือนเป็นพระ แต่จะเป็นพระแบบไหน เป็นเพียงแค่ปูนหรือเป็นทองจริง เพราะฉะนั้นผมมีความรู้สึกว่าทางออกที่คุณกฤษณาเสนอไว้จะน่าสนใจมากในวงการผู้อ่านไทย แต่อย่าเป็นเหมือนผู้อ่านนานาชาติที่เวลาเขาอ่านจะเห็นได้ว่าจริงๆแล้วปัญหาเหล่านี้อาจจะมีทางออก การย้อนกลับไปหาสายสัมพันธ์พ่อแม่ที่จะสร้างความเสถียรใหม่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจมากๆคือประเด็นที่นักอ่านต่างชาติมอง สำหรับใครที่ยังไม่เคยอ่านก็อยากให้ลองอ่านกัน คือคู่บาลีกับสองเมือง ขอสปอยนิดหนึ่งสำหรับคนที่ยังไม่เคยอ่าน เขาพยายามที่จะอยู่ก่อนแต่ง แต่ไม่ใช่สภาพอยู่ก่อนแต่งแบบคนอื่นที่มีเพศสัมพันธ์ ผมมองว่าเรื่องนี้น่าสนใจมาก ผมมองที่คนสองคนนี้ที่หยุดไว้ซึ่งตัณหา ด้วยความที่ว่าเมื่อมีตัณหาอะไรออกไปในลักษณะเบื่อง่าย เดี๋ยวก็เลิกกันอีก เหมือนว่าสองคนที่ผ่านชีวิตมาอย่างโชกโชน แล้วไม่อยากจะทำผิดแบบเมื่อก่อน ซึ่งผมมองว่ามันเป็นสัมพันธ์กับความหมดสภาพของสองเมืองโดยเฉพาะอย่างแท้จริง คือในยุคปัจจุบันของเราเหมือนกับอะไรก็ได้มาง่ายๆ พอได้มันมาง่ายก็เบื่อง่าย แล้วก็จะทิ้งไปซื้อใหม่ อะไรเสียก็ทิ้งไม่ค่อยซ่อม ผมก็รู้สึกว่าสองเมืองกับบาลีโตมาในสภาพในลักษณะอย่างนี้ เขาพยายามที่จะแสวงหาการแก้ไขอย่างที่อาจารย์ตรีศิลป์บอก ในตัวละครผู้หญิงคือบาลี มีความคิดความอ่าน เธอพยายามที่จะหยุดไม่ไปกินน้ำผึ้งอันหอมหวานที่อยู่ข้างหน้าเธอ เธอพยายามประวิงเวลาไว้ ผมก็ไม่รู้จะใช้ฉากอัศจรรย์มาอธิบาย แต่มันมีลักษณะของการพยายามที่จะหยุดยั้งตัวเองอยู่ ซึ่งผมว่าน่าเป็นลักษณะที่น่าสนใจมาก แล้วก็ค่อยๆ เหมือนกับว่าให้ช้าลง

ซึ่งผมว่าตรงนี้ คนตะวันตกอาจต้องเรียนรู้กับเราด้วยรึเปล่า เหมือนกับวัตถุนิยมตะวันตก อะไรทุกอย่างมันเร็วไปหมด แต่ 30 ปีที่แล้ว สอนให้คนอยู่กันช้าลง มันมาก่อนกันเหมือนกัน แต่พอมองบริบทสมัยนี้แล้วก็นึกถึงเรื่องสมัยเมื่อเทอมที่แล้ว มีโปรเฟสเซอร์มาพูดเรื่องเดอะจอยอะเวตติ้ง ผมว่าเรื่องนี้มันเข้าอยู่ในลักษณะเดียวกัน คือมันเป็นความรู้สึกของการรอคอย รอคอยจนกระทั่งถึงจุดๆหนึ่งที่เรียกว่าพร้อมแล้ว แล้วคอยเริ่มสร้างครอบครัวจริงๆ ผมว่าประเด็นของเนื้อเรื่องปูนปิดทอง ถ้าเกิดขึ้นว่าไปอยู่ไหนสายตาของนักอ่านนานาชาติ มันจะมีจุดเหมือนโดยสรุปในเรื่องของเมืองและความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นสากล เหมือนๆกัน อย่างที่ผมบอกเรื่องทุนนิยม สินค้าเราซื้อมา ซื้อง่าย ทิ้งง่าย แล้วก็ซื้อใหม่ แต่ก่อนทีวีเราใช้มานานๆ หรืออย่างโทรศัพท์มือถือ เราไม่ค่อยเปลี่ยน หลังๆมานี้คือสองปีก็ต้องเปลี่ยนกัน ผมก็ต้องไปตามหาไอโฟน 6 พลัส ก็คือจะต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ในเล่มนี้พยายามนำเสนอ ซึ่ง 30 ปีมาแล้ว จงรอไว้ คุณค่าของการรอ บางทีมีประโยชน์มาก ทำให้รู้ถึงคุณค่านั้นๆ

เพราะฉะนั้นผมขอสรุปว่าในสายตาของนักอ่านนานาชาติ คุณค่ามันอยู่ในความเหมือนคือลักษณะของเมือง ความต่างคือรูปของความคิดและวิธีการมองแบบตะวันออก ซึ่งมันแฝงตั้งแต่ชื่อเรื่องไปจนถึงวิถีทางที่ตัวละครเอกทั้งคู่ที่เขาเลือกที่จะทำ จะเดินไปในทิศทางที่ไม่เหมือนกับพ่อแม่ของเขา”

 

ปูนปิดทอง ผู้หญิงทรงคุณค่าของกฤษณา อโศกสิน

ปูนปิดทอง ผู้หญิงทรงคุณค่าของกฤษณา อโศกสิน

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ