นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย : นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย : เราจะไปทางไหนกัน?

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย

นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย

รายการเสวนา โดยมี รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
ผู้ร่วมรายการคือคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ รศ.ดร.ดวงมน จิตต์จำนงค์ และคุณพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังจนล้นห้องประชุม

 

เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำหรับนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "พ่อ" ผลงานเล่มล่าสุดของปองพล อดิเรกสาร ที่ทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นนำมาพิมพ์รวมเล่ม หลังจากที่ทยอยลงเป็นตอนในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มานานหลายเดือน งานนี้พ่อของผู้เขียน พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร และ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาเป็นประธานร่วมเปิดงานให้ท่ามกลางบรรดาแฟนนักอ่านและสื่อมวลชนจำนวนมาก ในวันนั้นมีเสวนาในหัวข้อ "นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทย : เราจะไปทางไหนกัน" ให้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงวรรณกรรมมาแสดงทัศนะกันอีกด้วย บุคคลเหล่านั้นคือ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม นักเขียนเจ้าของนวนิยายเรื่องขุนเดช, ประดาบก็เลือดเดือด ฯลฯ

รศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์ นักวิจารณ์วรรณกรรมรางวัลมูลนิธิ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ, คุณพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ หัวหน้าฝ่ายผลิตรายการศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา และนักค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร กล่าวเปิดงานว่า คุณปองพลเคยมาพูดว่าอยากจะเขียนเรื่องพ่อ ระหว่างสมเด็จพระนเรศวรกับพระมหาธรรมราชาว่ามีความผูกพันกันอย่างไร เพราะในประวัติศาสตร์มีกล่าวถึงน้อยมาก พระมหาธรรมราชาในฐานะพ่อจะมีคำแนะนำในด้านการเมืองและการรบอย่างไร ตัวเองในฐานะที่เป็นพ่อเห็นว่าเป็นความคิดที่ดี จึงสนับสนุนและให้กำลังใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคที่คุณปองพลเป็นสมาชิกอยู่ กล่าวว่ารู้สึกประทับใจและแปลกใจว่าคุณปองพลมีเวลาได้อย่างไร เพราะว่าที่พรรคใช้งานหนักมาก แต่ก็ยังมีเวลามาเขียนหนังสือได้ ที่สำคัญหนังสือแต่ละเล่มมีคนติดตามมาก ผลงานแต่ละเรื่องเป็นการนำเอาจินตนาการ ความรู้ และประวัติศาสตร์ มาผสมผสานรวมกันจนเป็นหนังสือออกมาได้

การเสวนาเริ่มขึ้นโดยคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ แสดงความเห็นว่า "ผมอธิบายไม่ได้หรอกว่า นวนิยายอิงประวัติศาสตร์มันคืออะไร มันแตกต่างจากนวนิยายธรรมดาๆ อย่างไร แต่สำหรับเรื่องพ่อแล้ว ผมคิดว่าอาจจะเป็นนิยายอิงพงศาวดารก็ได้ ต้องขึ้นอยู่กับว่าคำจำกัดความว่าอิงประวัติศาสตร์มันคืออะไรก่อน." คุณสุจิตต์บอกว่าอิทธิพลการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ สมัยโบราณจะมีหรือเปล่าไม่ทราบ กลวิธีการเขียนอย่างนี้คนส่วนมากจะคิดว่ารับมาจากอิทธิพลตะวันตก แต่เขาคิดว่ากลวิธีเช่นนี้มีมานานแล้ว เป็นวิธีการเขียนที่เราเรียกกันว่า นิทาน ตำนาน หรือพงศาวดาร นั่นเอง สำหรับเรื่อง "พ่อ" ที่คุณปองพลเขียนนั้น เป็นการนำเอาพงศาวดารมาใส่บรรยากาศเข้าไป ถือเป็นลักษณะของการเขียนนิยาย แต่ถ้าจะมองว่าถูกต้องตามประวัติศาสตร์หรือไม่ นักประวัติศาสตร์ควรจะเขียนนวนิยายหรือนักเขียนนวนิยายควรจะต้องอ่านประวัติศาสตร์หรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะขึ้นอยู่กับว่าจะเขียนเรื่องอะไร อยากชื่นชมที่คุณปองพลเอานวนิยายเรื่องนี้มาเขียน แต่ประเด็นที่อยากกราบเรียนคือ ท่านปองพลเอาพงศาวดารมา ในเล่มนี้ท่านปองพลไม่ได้บอกไว้ แต่ผมอ่านจบแล้วว่านี่แหละคือพงศาวดาร คุณสุจิตต์ยังบอกอีกว่าไม่ควรจะค้นหาข้อเท็จจริงในนิยายอิงประวัติศาสตร์ เพราะเป็นเพียงนิยาย ส่วนจะอิงมากอิงน้อยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในมุมมองของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อย่างคุณพลาดิศัย เห็นว่าการเขียนนวนิยายอิงประวัติศาสตร์นั้น ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ การรวบรวมเอกสารทางประวัติศาสตร์จากแหล่งต่างๆ เพื่อนำใช้ในการเขียนเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะบางข้อมูลก็สอดคล้อง แต่บางข้อมูลก็ขัดแย้ง อยู่ที่การเลือกใช้และ จุดมุ่งหมายของผู้เขียนว่าจะนำเสนอออกมาในแง่มุมใด "ในภาพรวมแล้วเรื่องพ่อ ถ้าอ่านในภาคนิยาย ในความรู้สึกของความเป็นพ่อ ผมว่าความรู้สึกนั้นสมบูรณ์แล้ว แต่ถ้าเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์จะมีบางส่วนที่แตกต่าง บางส่วนที่ไม่มีในประวัติศาสตร์ท่านก็เติมฉากเติมตัวละครลงไปเพื่อให้มีบทบาทในนั้นทำให้มีอรรถรสเพิ่มขึ้น ฉะนั้นเวลาอ่านต้องตั้งใจไว้อย่างหนึ่งว่า ถ้าเราอ่านนิยายก็คือนิยาย ถ้าอ่านประวัติศาสตร์ก็คือประวัติศาสตร์ อย่านำมาปนกัน..."

รศ.ดร.ดวงมน จิตร์จำนงค์ นักวิจารณ์วรรณกรรมให้ความเห็นว่า พงศาวดารไม่ได้บันทึกความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของคนคนนั้น มีแต่ข้อมูลที่ผู้เขียนสามารถนำมาสร้างเป็นวรรณกรรม ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้เขียนที่จะต้องหาวิธีทำให้วรรณกรรมนั้นมีชีวิตชีวาขึ้นมา ด้วยการปั้นความรู้สึกนึกคิดใส่เข้าไปในตัวละครที่ ตนเองสร้างขึ้น "วรรณกรรมมีหน้าที่ตีแผ่หัวใจของมนุษย์ ถ้าจะถามว่าไปทางไหนกัน ดิฉันก็คงจะตอบว่าไปสู่การเปิดเผยจิตวิญญาณมนุษย์ในบริบทของสังคม ซึ่งทำให้มนุษย์มีข้อกำหนดบางอย่างและสามารถท้าทายอิสรภาพบางอย่างของมนุษย์ คงจะต้องทำจุดนี้ถ้าเราจะเรียกว่านวนิยาย จะเป็นอิงประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ตาม" ดวงมน ยังได้นำหัวข้อเสวนามาเปรียบเทียบกับนวนิยายเรื่องพ่อว่า" ทุกคนควรจะไปทางไหนกัน เรายังอยู่ในเส้นทางซึ่งยังไม่ถึงจุดที่จะยุติ เพราะฉะนั้นงานคุณปองพลก็ย่อมจะเป็นงานที่น่าสนใจและน่าจับตามอง ท่านก็คงอยู่ในกระแสการเดินทางต่อไป ที่จะประสานข้อเท็จจริงเข้ากับความจริงในหัวใจของมนุษย์ออกมาให้เราเข้าใจ ให้ซาบซึ้งในการต่อสู้ของบรรพบุรุษไทย"

งานนี้มีผู้ฟังหลายท่านร่วมแสดงทัศนะในฐานะนักอ่านที่มีต่องานเขียนของคุณปองพลด้วย นักอ่านท่านหนึ่งได้เสนอความเห็นไว้อย่างน่าฟังว่า ถ้าคุณปองพลจะเป็นนักเขียนก็ขอให้เป็นนักเขียน เขียนอย่างที่อยากเขียน เขียนแล้วมอมเมาก็ไม่ว่า เพราะจะเชื่อหรือไม่ก็เป็นสิทธิของบุคคลนั้น แต่ให้เขียนอย่างที่อยากเขียน และอย่าพยายามเปลี่ยนตัวเองเป็นนักประวัติศาสตร์ ก่อนจบเสวนาในวันนั้น เจ้าของผลงานก็ได้มีโอกาสขึ้นมาแสดงทัศนะบ้าง ซึ่งท่านบอกว่ายินดี รับคำวิจารณ์ เพราะเข้าใจว่า มุมมองในเรื่องบทประพันธ์นั้นมีความแตกต่างกัน บางคนอาจสนใจเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ หรือเรื่องโลดโผนผจญภัย แต่ในการเขียนนวนิยายเรื่องนี้คุณปองพลบอกว่า"ผมพยายามนั่งนึกไปว่าคนสี่ร้อยปีก่อนคิดยังไง คนสมัยนั้นคิดยังไง และคนที่เป็นพ่อเขาคิดกันยังไง บ้านเมืองสมัยนั้นเป็นอย่างไร พยายามคิดพยายามถ่ายทอดออกมา แต่ก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นนิยาย ผมไม่ได้เขียนเรื่องจริง ผมเขียนนิยายคือให้ อรรถรสในเรื่องความตื่นเต้น สนุกสนาน ถ้าผมจะเขียนเรื่องจริงผมก็ต้องมาชำระประวัติศาสตร์ ผมไม่ทำเช่นนั้น เพราะผมเขียนนิยายโดยอาศัยจินตนาการ"คุณปองพลได้เกริ่นทิ้งท้ายไว้ว่า "พ่อ" ในภาคสองนั้นจะเป็นจุดจบของบุเรงนอง ซึ่งเรื่องนี้มีบันทึกอยู่แล้วในประวัติศาสตร์ แต่ที่เขียนเพราะต้องการจะตอบข้อสงสัยของตนเองและต้องการถ่ายทอดความรู้สึกไปยังผู้อ่านด้วย ก็คงต้องรอติดตามกันต่อไปในภาคสองรับรองว่าเรื่องราวเข้มข้นกว่านี้แน่นอน..

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ