เขียนสารคดีอย่างไรให้คนอ่านนิยม : เขียนสารคดีอย่างไรให้คนอ่านนิยม วิทยากรโดย คุณธีรภาพ โลหิตกุล

เขียนสารคดีอย่างไรให้คนอ่านนิยม

เขียนสารคดีอย่างไรให้คนอ่านนิยม ธีรภาพ โลหิตกุล

 

ธีรภาพ โลหิตกุลเป็นนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวที่มีคนอ่านมากมายเป็นแฟนประจำ หลายคนอยากทราบวิธีการทำงานว่าเป็นเช่นไรบ้าง มีการเก็บข้อมูลการเขียนและค้นคว้าเช่นไร จึงครองใจผู้อ่านมาตลอด นอกจากนั้นภาพถ่ายฝีมือของเขาก็สวยงามเป็นที่ประทับใจทุกภาพ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจึงเชิญมาเล่าให้ฟังในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ โดยมีจำเนียร พลสวัสดิ์ บรรณาธิการของสำนักพิมพ์เป็นผู้ร่วมสนทนา

คุณธีระภาพกำลังเล่าเรื่องการทำงานเขียนสารคดี

พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากหนังสือที่เขียนคือ มนต์รักมะพร้าวแห้ง

 

จำเนียร : ก่อนเริ่มงานเขียน มีวิธีการอย่างไรในการเก็บข้อมูล
ธีรภาพ : ผมคิดว่าสารคดีเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่ง ที่อ่านแล้วได้เนื้อหาสาระ ได้ความรู้ด้วย ถ้าสารคดีใดที่ไม่ผ่านกระบวนการร้อยเรียงให้อ่านสนุก ได้อรรถรส ผมคิดว่านั่นอาจจะเป็นสารคดีที่มีคุณสมบัติการเป็นสารคดีที่น้อยไป

จำเนียร : มีวิธีการที่จะเริ่มเขียนอย่างไร
ธีรภาพ : ต้องศึกษาค้นคว้า ที่สำคัญคือต้องรู้สึกอยากเขียน เรื่องที่ทำให้เราเกิดความสะเทือนใจมันจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้เรารู้สึกอยากเขียน

จำเนียร : อาจจะพูดได้ว่าสิ่งแรกก่อนที่จะเขียนสารคดี คือต้องเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาก่อนใช่ไหม
ธีรภาพ : ใช่ เรื่องนี้ต้องมาก่อนเลย คือเราต้องรู้สึกอยากจะถ่ายทอด อยากจะเล่า อยากจะสื่อเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง มันต้องมีสิ่งนี้ก่อน แล้วสิ่งอื่นก็จะตามมา เช่น ลีลาการเขียน ภาษา สำนวน

จำเนียร : หลังจากที่มีแรงบันดาลใจอยากจะเขียน และเก็บข้อมูลอื่น ๆ ได้แล้ว สิ่งที่เด่นเป็นพิเศษของคุณธีรภาพคือเทคนิคและวิธีการนำเสนอ ซึ่งหลาย ๆ เรื่องมักนำเทคนิคมาจากการเขียนเชิงวรรณกรรม หรือการตัดต่อของภาพยนตร์มาใช้
ธีรภาพ : ผมมีความเห็นว่า ถ้าเราเขียนสารคดีแล้วเล่าเพียงแต่ว่า ตลาดน้ำดำเนินสะดวกสร้างเมื่อปีใด ตั้งอยู่ที่ไหน ข้อมูลตรงนี้ผมคิดว่าเราน่าจะหาจากที่อื่นได้ แต่สารคดีมันน่าจะมีอะไรมากไปกว่านั้น สิ่งที่ผมอยากจะให้ก็คือในวันที่ผมไปตลาดน้ำดำเนินสะดวก ผมได้อะไรกลับมา เพราะฉะนั้นในงานของผม ผมก็จะแบ่งข้อมูลออกเป็นสองประเภท ในสารคดีของผมจะต้องมีข้อมูลประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ข้อมูลทางกายภาพ เช่น ตลาดน้ำสร้างในสมัยไหน ขุดใน พ.ศ.อะไร ยาวกี่วา ห่างจากกรุงเทพฯ กี่กิโลเมตร แต่มันไม่สามารถที่จะทำให้เรื่องประทับอยู่ในใจเราได้ ทำให้เรื่องไม่มีมิติทางลึก อีกข้อหนึ่งก็คือข้อมูลทางจินตภาพ ซึ่งแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันออกไป ถือว่าเป็นทัศนะของแต่ละบุคคล สารคดีไม่สามารถที่จะปั้นแต่งอารมณ์ความรู้สึกเองได้ แต่อารมณ์ความรู้สึกที่เจอจากสถานที่จริงบางทีมันยิ่งกว่าในนิยายเสียอีก ถ้าเรารู้วิธีการนำมาเสนอ

จำเนียร : ผู้อ่านที่เป็นแฟนประจำจะเห็นว่าคุณธีรภาพเป็นนักเก็บเกร็ด คือมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยและอารมณ์ขันแทรกอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นยังสามารถเอาบทกวี เพลงลูกทุ่งพื้นบ้าน เกร็ดทางประวัติศาสตร์ และอื่น ๆ อีก มาร้อยเรียงเข้ากับงานเขียนได้อย่างงดงาม อยากทราบว่าทำอย่างไร
ธีรภาพ : ยกตัวอย่างเช่นเรื่องมนต์รักมะพร้าวแห้ง บางคนก็สงสัยว่าทำไมต้องมะพร้าวแห้งด้วย เรื่องก็มาจากได้รับสมญาว่าเป็นนักเขียนแห่งสายน้ำแต่จริง ๆ แล้วว่ายน้ำไม่เป็นนะครับ แต่ก็ได้ผ่านกระบวนการเรียนว่ายน้ำ แต่ว่าไม่ได้เรียนแบบเด็ก ๆ รุ่นนี้ที่มีครูสอนแบบมาตรฐาน ผมเรียนที่คลองบ้านก๋ง ที่คลองบางพระ จังหวัดฉะเชิงเทรา และครูของผมคือลูกมะพร้าว มะพร้าวแห้งนะครับ ใช้มีดอีโต้สะกิดมันนิดหน่อย แล้วก็ดึงออกมาเส้นผูกเข้าด้วยกัน มะพร้าวก็จะอยู่ใต้รักแร้ข้างละลูก แล้วก็ฝึกมาแบบนั้น พอใกล้ ๆ จะเป็นก็ดึงเอามะพร้าวออกไป ผมเองพอใกล้จะเป็นเอามะพร้าวออกได้สองวันก็เปิดเทอม ต้องกลับกรุงเทพฯ ก็ไม่เป็น ปิดเทอมใหม่ไปอีก ต้องไปเริ่มใส่มะพร้าวใหม่อีก มันก็เลยไม่เป็นสักทีจวบจนกระทั่งบัดนี้แหละครับ เลยเรียกว่ามนต์รักมะพร้าวแห้ง การที่ว่ายน้ำไม่เป็นทำให้เราต้องเกาะมะพร้าวอยู่ตลอด ทำให้เราอยากจะรู้เรื่องแม่น้ำเสียเหลือเกินเพราะเรารู้สึกอิจฉาคนที่ว่ายน้ำได้ เราอยากทำแบบเขาแต่เราทำไม่ได้ เราก็เลยอาจจะทดแทนความรู้สึกนั้นด้วยการเขียนเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำ

จำเนียร : เป็นคนที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับสายน้ำมาก เรียกว่ามากที่สุดในจำนวนคนที่เขียนสารคดีด้วยกันหรือเปล่า
ธีรภาพ : อาจจะมีคนเขียนมากกว่า แต่เรื่องที่ผมเขียนแล้วได้รับความนิยมมักจะออกไปในเชิงน้ำ ๆ อย่างท่องไตรโตรกแห่งแยงซี ก็เป็นแม่น้ำแยงซี

จำเนียร : จากประสบการณ์ที่ยาวนานในวงการเขียน คุณธีรภาพมีความสามารถนำหลายเรื่องนี้มาร้อยเรียงอยู่เรื่องเดียวกัน ซึ่งก็นับว่าเป็นกลวิธีการเขียนอย่างหนึ่ง งานสารคดีส่วนใหญ่ของคุณธีรภาพมักจะไม่ยาวมากนัก แต่ตอนนี้จะพูดถึงสารคดีที่ค่อนข้างยาว คือเรื่องไตรโตรกแห่งแยงซี ซึ่งก่อนนำมารวมเล่มต้องเขียนลงในนิตยสารก่อน อยากจะทราบความแตกต่างในการนำเสนอว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำอย่างไรที่จะให้ผู้อ่านคอยติดตามสารคดียาว ๆ แบบนี้ไว้ได้
ธีรภาพ : นาน ๆ จะเขียนอะไรที่เป็นเรื่องยาว ๆ คำว่าโตรก ก็คือหน้าผาหิน ที่ฝั่งตรงข้ามของหน้าผานี้จะมีอีกหน้าผาหนึ่ง และมีน้ำอยู่ตรงกลาง เขาเรียกว่าโตรกผา โตรกอันนี้มันใหญ่มาก ยาวเป็นสิบ ๆ กิโลเมตร จึงเรียกว่ามหาไตรโตรกแห่งแยงซี สำหรับสารคดีที่เป็นตอนเดียวจบเราอาจจะหยิบเอาประเด็นใดประเด็นหนึ่งมานำเสนอ แต่สำหรับการเขียนสารคดีแบบยาวเราจะต้องมีการวางโครงเรื่อง สมมุติในการเขียนเรื่องไตรโตรกแห่งแยงซีเราจะต้องวางว่าจะมีสักกี่ตอน ตอนหนึ่งจะเขียนเรื่องอะไรบ้าง ในแต่ละตอนก็จะมีหลายประเด็นแต่ละประเด็นก็จะต้องมีน้ำหนักไม่ใช่ว่าประเด็นความสำคัญจะเท่ากันหมด ถ้าเท่ากันหมดมันก็จะไม่สนุก

จำเนียร : เรื่องไตรโตรกแห่งแยงซีนี้ถ้าผู้อ่านสังเกตดูจะเห็นว่าข้ออ้างอิงในหนังสือเล่มนี้จะมีอยู่ค่อนข้างมาก เข้าใจว่าหลังกลับจากการเดินทางแล้วมีการค้นคว้าเพิ่มเติมอีกใช่ไหม
ธีรภาพ : คือการทำงานสารคดี ต้องทำการบ้านทั้งก่อนและหลังไป ก่อนไปถ้าไม่ทำการบ้านอะไรก็จะรู้สึกหงุดหงิดคือไม่รู้เรื่องอะไรเลย เพราะฉะนั้นจะต้องค้นคว้าว่าใครเขียนอะไรเกี่ยวกับแม่น้ำแยงซีไว้บ้าง เราก็จะอ่านให้หมดเท่าที่จะหาได้ และพอไปแล้ว เจออะไรก็กลับมาค้นอีก เพราะฉะนั้นต้องทำการบ้านเยอะครับ การค้นข้อมูลที่เป็นเอกสารมีความสำคัญมาก สำคัญพอ ๆ กับการค้นข้อมูลด้วยดวงตาของเราเมื่อเวลาเราไปสถานที่ ช่างสังเกต ช่างมอง หน้าผานั้นเป็นยังไง แม่น้ำนี้เป็นยังไงแล้วก็เอามารวมกันเป็นงาน

จำเนียร : ถึงตรงนี้ก็พอจะสรุปได้ว่า การที่จะเป็นนักเขียนสารคดีต้องเริ่มต้นจากการค้นคว้าหาข้อมูลและก็คิดประเด็นว่าเราต้องการที่จะนำเสนอเรื่องอะไร ซึ่งการนำเสนอต้องมีมิติทั้งทางเรื่องอารมณ์ ความรู้สึกและก็เป็นมิติทั้งเรื่องทางกายภาพสิ่งที่ทำให้สารคดีของคุณธีรภาพมีเสน่ห์อีกอย่างก็คือ ทัศนะความคิดเห็นในการทิ้งท้ายปิดเรื่องเพื่อฝากข้อคิดให้กับผู้อ่าน ตรงนี้คุณธีรภาพมีวิธีการอย่างไร
ธีรภาพ : เราต้องถามว่าอะไรคือสารที่เราอยากจะส่งให้กับผู้อ่าน ตรงนี้แหละที่จะตอบคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่เราจะทิ้งท้ายให้ผู้อ่านรับทราบ ถ้าเรากำหนดหัวใจของเรื่องได้แล้ว เวลาเขียนเราจะขึ้นต้นจนลงท้ายได้

จำเนียร : นอกจากงานเขียนสารคดีที่ดีแล้ว ถ้ามีภาพถ่ายที่สวยงามด้วยก็จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจติดตามมากขึ้น
ธีรภาพ : ครับก็เป็นส่วนที่เสริมกัน ถ้าถ่ายภาพดีแล้วเขียนเรื่องไม่ดีมันก็ลำบาก ผมยังยืนยันว่า ผมเป็นคนเขียนหนังสือมากกว่าคนถ่ายภาพ งานภาพของผมจะดึงออกมาจากเรื่องไม่ได้ ต้องอยู่คู่กับเรื่องจึงจะดูดี

จำเนียร : เทคนิควิธีการถ่ายภาพที่จะทำให้ได้ภาพที่ดีเพื่อนำมาประกอบกับการเขียนสารคดี
ธีรภาพ : คือเรื่องของเทคนิค แสงเงา องค์ประกอบภาพ ผมคงจะไม่ถนัดพอ แต่สำหรับผมหัวใจของการถ่ายภาพคือผมต้องตอบโจทย์ให้ได้เหมือนกับที่ผมตอบโจทย์ตัวเองในการเขียนหนังสือว่า ถ้าเขียนเรื่องนี้สารที่เราจะส่งให้ผู้อ่านคืออะไร ในทำนองเดียวกันถ้าผมจะถ่ายภาพ ผมต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า สารของภาพนี้คืออะไร ถึงได้กดกล้องถ่าย

จำเนียร : คือตอนที่เรามองมุมมองอยู่ที่กล้อง เราก็ต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่า ภาพนี้เราต้องการจะสื่ออะไร ถูกต้องไหมครับ
ธีรภาพ : ครับ ภาพที่เราถ่ายออกมาบางทีมันไม่ใช่แค่ความสวยอย่างเดียว มันต้องมีนัยะทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์หรือสิ่งที่เราอยากจะบอกด้วย

จำเนียร : อยากทราบเกี่ยวกับเรื่องกล้อง เรื่องอุปกรณ์ว่ามีผลหรือเปล่า ว่าจะต้องเลือกใช้เลนส์แบบไหนหรือใช้เทคนิคอะไร
ธีรภาพ : ถ้าพูดถึงอุปกรณ์กล้องก็ใช้น้อยที่สุด พยายามตกแต่งน้อยหน่อย พวกฟิลเตอร์สีถ้าไม่พยายามใช้ได้ก็ดี ผมคิดว่าอุปกรณ์กล้องเป็นเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือหัวใจของคุณว่าจะถ่ายภาพนั้นด้วยเหตุผลอะไร เรื่องราวอะไร มันบอกเล่าอะไร

จำเนียร : คุณสมบัติที่ดีกับการจะเป็นนักเขียนสารคดี คุณธีรภาพคิดว่าจะต้องเป็นอย่างไรบ้าง
ธีรภาพ : แต่ละคนก็มีบุคลิกที่แตกต่างกันไป ถ้าเป็นนักเขียนสารคดีผมคิดว่าจำเป็นต้องเป็นคนที่มีความรู้สึกอยากเล่า อยากถ่ายทอด และก็ตามมาด้วยการเป็นคนช่างซักช่างถาม

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ