หากมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง : บทวิจารณ์โดย ณัฐชลิตา นิลเขียว

หากมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องจริง

     “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” หากมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นไม่ใช้เรื่องจริง “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” เป็นผลงานหนึ่งในเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ของอาจินต์ ปัญพรรค์ ซึ่งได้รับ การยกย่องว่าเป็น 1 ในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน อันสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตแรงงาน ความสัมพันธ์ของ ผู้คน ตลอดจนชีวิตของผู้เขียน ในช่วงเวลา 4 ปีที่ได้ไปใช้ชีวิตในเหมืองแร่
 

     ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม ได้พูดถึงความมีมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในเหมืองแร่ โดยมี“นายฝรั่ง” รวมไป ถึงตัว “ข้าพเจ้า” 2 ตัวละครนี้ได้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ผ่านคำพูดและการกระทำของ ตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงความมีเมตตา ความเข้าอกเข้าใจ ความสงสารที่มีต่อชายหนุ่มเมืองกรุง ทำให้ผู้อ่านได้สามารถเรียนรู้ข้อคิดที่ได้ไปพร้อม ๆ กับการกระทำของตัวละคร ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือจำเป็นต้องตีความ จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในข้อดีของเรื่องสั้นเรื่องนี้
 

“…ฝนตกอย่างนี้ถนนอาจจะเป็นหล่มนายงานอาจจะต้องการคนงานเพิ่มในชั่วโมงก็ได้ แล้วนี้ก็ยังไม่เที่ยง

อย่างน้อยครึ่งวันหลังก็อาจบรรจุได้ แล้วพรุ่งนี้ก็รับติเก็ตจากออฟฟิศใส่ชั่วโมงย้อนหลังให้ได้…”

“…เยสฉันกลัวแต่ฉันไม่ได้ทำอะไรนอกข้อบังคับเลย ชายผู้นี้เป็นชายที่มีเมียตามกฎหมาย

และเมียกำลังจะมีลูกที่เข้านะต้องหาเลี้ยง เข้าเป็นคนละคนกับชายโสดนักสไตรก์คนเก่า…”
 

     จากการกระทำของตัวละครที่กระทำผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฏตลอดทั้งเรื่องนั้น ทำให้ผู้อ่านอย่างดิฉันเกิดข้อฉงนสงสัยว่า “มนุษยธรรม” คือสิ่งใดกันแน่ ?
 

     ในทรรศนะของผู้เขียนนั้น “มนุษยธรรม” คือการที่ตัวละครนายฝรั่ง ได้รับชายหนุ่มเมืองกรุงเข้าทำงาน โดยไม่สนใจถึงข้อบังคับของสมาคมเหมือง หรือการที่ชายคนนั้นจะเคยเป็นหัวหน้าสไตรก์จากเหมืองเก่ามาก่อนก็ตาม แต่ตัวดิฉันนั้นมองต่างออกไป เพราะเรื่องในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม กลับสะท้อนให้เห็นแต่ ปัญหาว่าไม่มีมนุษยธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้นเลยในสังคม
 

      มนุษยธรรม คือ ธรรมที่ทำให้คนเป็นมนุษย์สมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นการมีเมตตากรุณา การไม่ทำร้ายผู้อื่น การเคารพในความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างของผู้คน รวมไปถึงการมองคนให้เท่ากัน เพราะการมองคนให้ เท่ากันถือเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ไม่เกิดการละเมิดในตัวบุคคลอื่น ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นใครก็ตาม
 

      สาเหตุหลักของการไม่มีมนุษยธรรมในเรื่องนี้คือ “ปัญหาอำนาจนิยม” ที่สะท้อนให้เห็นจากบทบาท การทำงานของตัวละครภายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนายฝรั่ง ข้าพเจ้า ชายหนุ่มเมืองกรุง หรือกรรมกร แม้ในเรื่องสั้นเรื่องนี้จะมีช่วงเวลาในการดำเนินเรื่องเพียง 2 วัน แต่ก็แสดงให้เห็นอะไรมากมายในเหมืองแร่แห่งนี้การไม่มีมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ตัวละครของเรื่อง เริ่มตั้งแต่ตัวละครที่เป็นผู้เล่าเหตุ การ์ณทั้งหมดของเรื่อง นั้นคือตัวละคร “ข้าพเจ้า” ตัวละครนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการเอารัดเอาเปรียบของ เจ้านาย กับลูกน้องได้เป็นอย่างดี ผ่านช่วงเวลาสำคัญของเรื่องนั้นคือ “ช่วงเวลาฝนตก” ตัวละครนี้มีสิทธิ์ เลือกในการทำงานมากกว่าตัวละครอื่นอย่างกรรมกร ว่าจะมาช่วยซ่อมถนนหรือไม่ แต่ตัวเขากลับไม่ทำ หรือแม้แต่การที่ตัวละครนี้กลับบ้านก่อนถึงเวลาเลิกงานในทุก ๆ วันอาทิตย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเพียงเพราะนายฝรั่งไม่เข้ามาตรวจงาน
 

“…และในยามบ่ายเปล่าเปลี่ยวข้าพเจ้าก็ติดรถงานกลับไปนั่งเล่นในร้านกาแฟ

ไม่แยแสต่อเสียงหวูดเลิกงานเลย…”
 

     เมื่อตอนที่ตัวละครนี้ได้พบกับชายหนุ่มเมืองกรุงเป็นครั้งแรก เขาได้เกิดความรู้สึกดีและเป็นกันเองกับ ชายคนนั้นในทันที เพียงเพราะเข้าเป็นคนกรุงเทพด้วยกันกับเขา พอฟังภูมิหลังก็รู้สึกอยากช่วยเหลือขึ้นอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดิฉันสงสัยว่ากับชายหนุ่มจากกรุงเทพที่พึ่งเจอกันเมื่อครู่ตกงานมา เขาก็มีความรู้สึกที่อยากช่วยเหลือ ให้เขาได้งาน แล้วกับกรรมกรที่ทำงานอย่างขยันขันแข็งกับไม่มีความรู้สึกเช่นเดียวกับชายหนุ่มเมืองกรุงเลย หรือ ?
 

“…เป็นสำเนียงของคนกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน…ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นกันเองกับเขาขึ้นมาทันที…”
 

     อีกตัวละครหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาอำนาจนิยมนั้นคือ “นายฝรั่ง” เขาคือผู้ถืออำนาจสูงสุดในเหมืองแร่แห่งนี้ เป็นผู้คุมบังเหียน มีสิทธิมีเสียงในการสั่งการและควบคุมความเป็นไปของเหมืองแร่ อาทิ เมื่อตอนเกิดฝนตกภายในเรื่อง นายฝรั่งจะไม่ใช้ผู้ที่ลงไปซ่อมทำนบด้วยตัวเอง แต่จะเป็นผู้ยืนสั่งการกรรมกรทำงานตามที่เขาต้องการ
 

“…นายฝรั่งจะต้องเผ่นลงมาจากบังกะโลในชุดเสื้อนอนห่มด้วยเสื้อกันฝนมาบงการให้ทุกคน

สุมหัวกันตัดต้นไม้ ปักหลัก ขนทรายทุ่มเทลงไปรักษาทำนบไว้ให้ได้…”
 

     นั้นแสดงให้เห็นว่าบทบาทของนายฝรั่งในเรื่องนี้ คือคนที่อยู่บนยอดสุดของสังคมเหมืองแร่การตัดสินใจของ เขาจึงถือว่าเป็นเรื่องถูกเสมอ จากเหตุการณ์ข้างต้นแสดงให้เห็นว่านายฝรั่ง มิได้มองกรรมกรของเขาอย่างเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นเพียงการมองว่ากรรมกรคือแรงงานของเขา ที่เขามีสิทธิ์จะให้ทำอย่างไรก็ได้ ดังนั้นการที่นายฝรั่งรับชายหนุ่มเมืองกรุงเข้าทำงาน ไม่ใช่การรับด้วยการมีมนุษยธรรมอย่างแท้จริง แต่เป็นเพียงการรับด้วย ความเห็นใจเท่านั้น
 

     หากเปรียบเหมืองแร่เป็นสภาพสังคมของเราในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการไม่มีมนุษยธรรม การใช้อำนาจนิยม ตัวละคร 2 ตัวจึงเปรียบได้ว่า “นายฝรั่ง” เปรียบเหมือนชนชั้นนายทุน หรือชนชั้นสูงในสังคม เป็นผู้มีอำนาจทางสังคม ที่ใช้ความเห็นอกเห็นใจผู้ที่ต่ำกว่าตนเป็นเหตุผลในการช่วยเหลือ “ข้าพเจ้า” ก็เปรียบได้กับชนชั้นกลางในสังคม ที่อยากช่วยเหลือแต่ไม่มีอำนาจใดใด จึงใช้ระบบอุปถัมภ์ในการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน อย่าง “ชายหนุ่มเมืองกรุง” คนที่มีพื้นเพเหมือนกับตน และ “กรรมกร” คือผู้ที่อยู่ล่างสุดของสังคม มีหน้าที่แค่ทำงานให้ผู้ที่มีวรรณะสูงกว่าตนต่อไปเรื่อย ๆ
 

     “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” ไม่เพียงแต่สอนให้ผู้อ่านมี“มนุษยธรรม” ต่อผู้อื่นเพียงเท่านั้น แต่ยังสอนให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ถึง “การไม่มีมนุษยธรรม” ที่แฝงเป็นเงามืดในสังคมของเราตลอดมา

 

บทวิจารณ์โดย นางสาวณัฐชลิตา นิลเขียว
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ