ชรากาล ที่น่ารัก: คุณค่าของวัยชรา : บทวิจารณ์โดยกมลชนก มั่งคั่ง

ชรากาล ที่น่ารัก: คุณค่าของวัยชรา

     ชีวิตของมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด จากการเป็นเด็ก เข้าสู่วัยรุ่น จากนั้นเป็นผู้ใหญ่และลงเอยด้วยความชรา ในแต่ละช่วงของการเปลี่ยนผ่านของชีวิตนั้น มนุษย์อาจต้องมีการทบทวนหรือพยายาม เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตน เพื่อให้ยอมรับได้ในสภาพของตนที่กำลังเปลี่ยนไป เข้าใจในปัญหา และเงื่อนไขใหม่ ๆ ที่จะต้องเผชิญ และสามารถอยู่กับตัวเองที่เปลี่ยนไปอย่างยอมรับได้และมีความสุขชีวิต


     ในการเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงวัยล้วนมีเรื่องของการพยายามเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของตัวเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นก็ต้องระมัดระวังในทางเดินของชีวิต วัยรุ่นเมื่อเข้าสู่ผู้ใหญ่ก็ต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้น ผู้ใหญ่ที่เข้าสู่วัยชราก็เช่นกัน ที่จะต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตน  บทกวีเรื่องชรากาล ที่น่ารัก ของชมัยภร บางคมบาง ก็คือชิ้นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงการเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของมนุษย์เมื่อกลายเป็นวัยชรา และยอมรับหรือโอบรับมันด้วยความยินดี
 

     ชรากาล ที่น่ารัก เริ่มด้วยการยอมรับในความเปลี่ยนแปลงของใบหน้าที่ค่อย ๆ มีริ้วรอยเพิ่มขึ้น โดยแทนริ้วรอยบนหน้าด้วยคำว่า “เธอ” (อุปลักษณ์ที่เปรียบริ้วรอยเป็นเธอ) ซึ่งแสดงถึงการยอมรับ มองว่าริ้วรอยบนหน้านั้นไม่ใช่ความแปลกปลอม เป็นดังคนคุ้นเคยที่เราเรียกอย่างกันเองว่า่ “เธอ” ดังบทกวีท่อนนี้

         “เธอค่อยค่อยลีลามาทีละเส้น

          เธอค่อยค่อยหลีกเร้นมาทีละสาย

         มาเตือนตรงมาเตือนอ้อมมาล้อมราย

         จนชัดฉายแน่นหนักบนพักตรา

 

        บทกวีเสนอให้เห็นต่อไปว่าการมาของ“เจ้า” ซึ่งก็คือวัยชรา ได้ทาให้คนคนหนึ่งยอมรับว่าตัวเองนั้น เปลี่ยนไปแล้ว และยอมรับว่าตัวเองมีเรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนตามด้วย ทั้งการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย และในการกระทำที่เชื่อมโยงกับความคิดจิตใจ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เช่น

          “ยอมเป็นคนอ่อนล้าซึ่งหลังค่อม

           ยอมเป็นคนผมขาวเป็นเงาย้อม

           ยอมเป็นคนที่พร้อมจะเอนล้ม

 

         การมาของวัยชรายังเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนยอมรับที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดในหลายเรื่อง เช่น

         “ยอมเป็นคนอ่อนแอเหมือนแพ้พ่าย

          ยอมเป็นคนง่ายง่ายไม่กดข่ม

          ยอมเป็นคนเงียบนิ่งกำหนดลม

          ยอมเป็นคนโง่งมบางเวลา
 

      และยอมรับด้วยว่า ด้วยสภาพวัยของตนเองนั้นอาจทาให้ตนไม่ลงตัวหรือสอดคล้องกับเรื่องต่าง ๆ อย่างเดิมอีกต่อไปแล้ว จึงต้องยอมรับในความไม่ลงตัวและการปฏิบัติต่าง ๆ ที่มีแก่ตน เช่น ยอมเป็นคนวุ่นวายในบางครั้ง (อาจเป็นความวุ่นวายในสายตาของลูกหลาน เพราะความคิดเห็นหรือความต้องการนั้นไม่ลงตัวกัน) ยอมเป็นคนล้าหลังขลาด ๆ กล้า ๆ (เพราะสิ่งรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปเร็วมากจนตนไม่อาจตามได้ทัน) และ ยอมเป็นป้าเป็นยายให้ล้อเลียน (อาจเพราะทำอะไรไม่ถูกใจหรือเป็นที่ขำขันของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน)


     ชีวิตที่ดาเนินมาถึงวัยชรานั้นได้ก้าวผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย และกลายมาเป็นประสบการณ์และ ความรู้ความเข้าใจ คนในวัยชราจึงมีความคิดที่ตกผลึก สามารถที่จะยอมรับได้กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแก่ตนทุกอย่าง ประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจที่เขามี สามารถตัดสินแยกแยะ ทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และให้ ความเห็นได้เหมาะสมควรแก่การฟัง วัยชราจึงไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากวัยที่คน ๆ หนึ่งได้กลายเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น ดังบทกวีท่อนนี้

           “ประสบการณ์ ชีวิตสนิทแนบ

           ความเข้าใจอิงแอบสม่ำเสมอ

           ก้าวทุกก้าวการทวนทบการพบเจอ

           รู้จักทั้งเลิศเลอและต่ำตม

          จนแยกแยะความยับเยินได้หยดย้อย

          จนรัดร้อยความจริงได้เหมาะสม

          จนเรียบเรียงความเป็นไปได้เฉียบคม

          จนรู้จักการติ-ชมตามสมควร

 

      ในท้ายที่สุด วัยชราเป็นสิ่งไม่อาจหลีกเลี่ยง ดังนั้นบทกวีที่พูดถึงวัยชราอย่างบทนี้จึงให้อารมณ์ของ การยอมรับโดยมิใช่การจำใจยอมรับ แต่เป็นยอมรับอย่างเข้าใจ โดยเวลาเราจะยอมรับสิ่งใด ๆ ก็ตาม เรามักจะต้องเข้าใจสิ่งนั้นก่อน กวีบทนี้ได้ทำให้เราเข้าใจว่า วัยชราที่มาเตือนให้คนยอมในเรื่องต่าง ๆ นั้นไม่ใช่ สิ่งที่เลวร้าย วัยชราเป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า ซึ่งก็คือคุณค่าของการเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คนผู้นั้นต้องทำความรู้จักตัวเองอีกครั้ง และยอมรับว่าตัวเขาได้กลายเป็นอย่างไร ต้องพบเจออะไร แล้วควรจะเป็นคนอย่างไร วัยชรายังมีคุณค่าของการเป็นวัยที่คน ๆ หนึ่งได้ถึงพร้อมด้วยประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจในชีวิต คุณค่าของวัยชราที่ได้เตือนให้คนเข้าใจและยอมรับในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงความสมบูรณ์ในประสบการณ์และความรู้ ความเข้าใจที่มีในวัยชรานั้น ทำให้วัยชราได้ชื่อว่าเป็น ชรากาล ที่น่ารัก

 

ชรากาล ที่น่ารัก: คุณค่าของวัยชรา
บทวิจารณ์โดยกมลชนก มั่งคั่ง

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ