งานแถลงข่าว : โครงการ Chommanard Book Prize ตอนที่ 2

งานแถลงข่าว

คุณชมัยภร : กราบเรียนท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน งานนี้ก็เป็นงานที่เอิกเกริกนะคะ แต่ว่าทุกคนก็ยังไม่รู้ว่า รางวัลชมนาดมีหลักเกณฑ์อย่างไร ก็จะบอกกันตอนท้ายงานนะคะ ตอนนี้เรามาเสวนากันก่อน พิธีกรเป็นดาราเราจำไม่ได้ แต่อย่าเสียใจไปนะ เราแก่เอง วันนี้เป็นวันที่เราจะพูดกันถึงรางวัลที่จะนำไปสู่สากล ผู้ที่อยู่บนเวที เป็นนักเขียนที่มีผลงานสู่สากลนะคะ อย่างพี่โบตั๋น มีผลงานแปลเป็นภาษาต่างๆถึง 10 ภาษา เรื่องหนึ่งที่ดิฉันจะพูด คือเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” เรื่องนี้ เกรียวกราวมาก เพราะฉะนั้น เราจะยกตำแหน่งนักเขียนหญิงที่มีผลงานไปไกลระดับโลก หนังสือเล่มนี้ของพี่โบตั๋น แปลไปแล้ว 10 ภาษา ของพี่ปองพลก็เหมือนกัน คือ เขียนสู่สากลเลย เพราะท่านเขียนเป็นภาษาอังกฤษ วันนี้ ท่านปองพลก็อยากจะปลอมเป็นผู้หญิง ให้เข้ากับบรรยากาศงาน แต่คงไม่ได้ เพราะคนจำหน้ากันได้หมด

 

Chommanard Book Prize ครั้งที่ 2

 

เราจะมาพูดกันในเรื่องพื้นๆก่อนนะคะ ดิฉันขออนุญาตนะคะ ในฐานะที่ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมาหมาดๆ ก็ขอเป็นผู้เชื่อม ไม่ขอพูดในเนื้อหาสาระมากนัก ขอเป็นเพียงผู้เชื่อมระหว่างการเสวนาของท่านผู้เสวนาทั้ง 2 ท่านนะคะ

ก่อนที่จะพูดเรื่องโครงการ Chommanard Book Prize ขอพูดเรื่องต้นชมนาดอีกนิดนะคะ เมื่อสักครู่พูดกันทุกคน เราเลยต้องแถมให้ ให้สำหรับผู้ชายนะคะ เนื่องจากวันนี้ผู้ชายมาน้อย เมื่อวันก่อน มีผู้ชายมา 2 คน ไปจอดรถหน้าบ้านของดิฉัน บริเวณที่ต้นชมนาดกำลังออกดอก แล้วลงจากรถมายืนเถียงกันหน้าดำหน้าแดงว่าดอกอะไร เถียงกันอยู่พักใหญ่ และหนึ่งในผู้ชายคนนั้นก็สรุปว่า ดอกใบเตย เพราะว่ากลิ่นมันเหมือนใบเตย แล้วก็ขึ้นรถ ขับรถกลับไป เพราะฉะนั้น อันนี้ก็คือตัวอย่างของพระเอกในละครไทย ที่นอกจากจะใช้ความรุนแรงแล้ว ยังไม่รู้จักดอกชมนาด ถนัดแต่ตบแล้วก็จูบ ก็ฝากไว้ด้วยก็แล้วกัน

กลับมาเรื่องของเรานะคะ วันนี้ สร้างสรรค์นวนิยายไทยอย่างไร ให้โดนใจคนทั้งโลก จะเป็นแบบนวนิยายเกาหลีหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเป็นแบบนวนิยายไทย ที่ตบแล้วจูบ ก็คงไม่โดนใจคนทั้งโลกนะ เราจะถามท่าน ทั้ง 2 นะคะ ว่าท่านมีแนวทางในการสร้างสรรค์นวนิยายของท่านอย่างไร เรียนเชิญพี่โบตั๋น ในฐานะที่เป็นผู้หญิงก่อนค่ะ

คุณโบตั๋น : โดนใจคนทั้งโลกนี่ ต้องบอกว่า สะดุ้งเฮือก เพราะว่าจะโดนใจวัยรุ่นไทยทุกวันนี้ยังทำไม่ได้เลย โดนใจแต่พวก 50 ขึ้นไป แต่ถ้าถามว่า มีแนวทางอะไรในการสร้างสรรค์ ดิฉันต้องถามตามใจตัวเองค่ะ คืออยากเขียนอะไร ก็จะเขียน ตลาดเขาจะว่าอะไรก็ช่างตลาด

คุณชมัยภร : แล้วสิ่งที่พี่อยากเขียน มันเป็นอย่างไรล่ะ

คุณโบตั๋น : จริงๆ ดิฉันเป็นคนที่รสนิยมไม่ดีหรอก ดิฉันชอบอ่านหนังสือประเภทบู๊ล้างผลาญ ฆ่าล้างโคตร ชอบอ่านประเภท มังกรหยก เพชรพระอุมา นั่นแหละคือรสนิยมที่แท้จริงและอยากเขียนแต่เขียนไม่ได้ ขอตั้งข้อสังเกตตัวเองนิดหนึ่ง ทุกวันนี้เขียนหนังสือมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี แล้ว ตอนแรกคนนึกว่าดิฉันเป็นผู้ชาย เนื่องจากตอนเขียน “จดหมายเหตุเมืองไทย” ดิฉันใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 และก็เป็นผู้ชายด้วย เพราะถือว่าการเป็นนักเขียนนี่ เราไม่ได้เขียนให้หญิงหรือชายอ่าน แต่เขียนให้คนอ่านซึ่งจะเป็นเพศไหนก็ได้ และแฟนนักอ่านของดิฉันก็เป็นผู้ชายเยอะมากนะคะ อาจจะเป็นเพราะดิฉันเขียนเรื่องประเภทที่ชื่อเรื่องหนักๆ เช่น เหยื่อ โฉด อเวจี เวลาดิฉันเขียนหนังสือ ดิฉันจะไม่แยกเพศค่ะ อยากเขียนอะไรก็เขียน แต่แน่นอนว่า ในความอยากนั้น ก็ต้องมีขอบเขตของศิลปวัฒนธรรมค้ำคอเราอยู่ แต่สิ่งที่อยากเขียนจริงๆนี่ คือสิ่งที่เป็นสัจจะของโลก ความรู้สึกของคนที่รู้สึกร่วมกัน อย่างจดหมายเหตุเมืองไทย ที่แปลได้หลายภาษา ดิฉันเข้าใจเลยว่าทำไม เนื่องจากเป็นตัวแทนของความรู้สึกของคนที่อพยพมาจากประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่ ความรู้สึกของผู้คนเหล่านี้ จะต่างกับเด็กรุ่นใหม่ ที่เห็นว่าการอพยพเป็นเรื่องสนุก ไปเรียน ไปหาประสบการณ์ แต่คนอพยพเหล่านั้น เขาอพยพด้วยความจำเป็น และความรู้สึกมันจะเป็นสากล ทุกแถบของโลกบ้างมีการอพยพ เพราะฉะนั้น เมื่อนำมาแปลเป็นภาษาต่างประเทศแล้วเขาก็จะเข้าใจ แต่ดิฉันไม่ได้ตั้งใจเลยนะ ไม่ได้ตั้งใจอะไรทั้งสิ้น และตอนที่เขียน ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องเขียนให้หญิงหรือชายอ่าน เพราะฉะนั้นเวลาใช้ภาษา จะใช้เป็นกลางที่สุด จะไม่ให้คนอ่านจับได้ว่า เราเป็นหญิงหรือชาย เราไม่ได้เจตนา แต่อย่างท่านปองพลคงปิดไม่ได้หรอกค่ะ

คุณชมัยภร : ค่ะ ดิฉันพอจะมองเห็นแล้วว่า เขียนในสิ่งที่รับรู้ แล้วถ่ายทอดออกไป เผอิญเรื่องแรกเป็นเรื่องที่โดนใจคนทั้งโลก ในการถ่ายทอดออกไป คุณพี่โบตั๋น บอกว่ารางวัลอย่าหวังมาก คืองานเขียนที่เราจะนำไปสู่สากลนี่ ก็อย่าหวังมากว่าจะไปสู่สากลนะคะ เดี๋ยวจะผิดหวัง ก็คงจะเป็นแบบที่พี่โบตั๋นบอกว่า ทำโดยไม่ได้ตั้งใจนะคะ ทำด้วยหัวใจจริงๆ จึงออกมาเป็นจดหมายเหตุเมืองไทย ที่เกรียวกราวมาก ทีนี้ ของท่านปองพลนะคะ ท่านมีงานเขียนมากมาย ท่านมีงานสร้างสรรค์อย่างไร ขอเรียนเชิญค่ะ

คุณปองพล : สวัสดีครับ

คุณชมัยภร : ท่านคิดจะเขียนเป็นผู้หญิงบ้างหรือเปล่าคะ

คุณปองพล : อ๋อ ไม่หรอกครับ เพราะว่าคงจะลำบากเหมือนกัน ผมเห็นด้วยกับคุณโบตั๋น ความคิดเดียวกัน คือเขียนหนังสือ ต้องเขียนในสิ่งที่เราชอบ หรือสนใจ และถนัดที่สุด ก็คงจะเป็นเช่นนั้น การจะเขียนให้โดนใจคนทั้งโลก ก็คงจะยากเหมือนกัน เพราะว่าผู้อ่าน แบ่งเป็นหลายกลุ่ม หลายระดับ หลายวัย หนังสือที่ออกไปเนี่ย อาจจะถูกใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่อีกกลุ่มอาจจะไม่ชอบ ไม่อ่านก็ได้ สำหรับผมนั้น ผมชอบหนังสือประวัติศาสตร์ นวนิยายของผม จะเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ก็ดี สถานที่ก็ดี หรือบุคคลสำคัญในอดีต ก็จะเป็นเรื่องเช่นนั้น แต่เนื่องจากผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษ เพราะว่าเราต้องการจะสื่อไปถึงคนทั้งโลก และภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่คนนิยมใช้กันมากที่สุด โดยผมจะเขียนต่างจากนักเขียนคนอื่น คือเขียนเป็นภาษาอังกฤษ แล้วนำมาแปลเป็นภาษาไทย ส่วนที่บอกว่าเขียนให้โดนใจ ผมอยากจะเรียนว่า ผู้อ่านเอาใจลำบากนะครับ จะยกตัวอย่างให้ฟังว่า ผมเคยอ่านเอกสารวิจัยของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการ เขาไปสำรวจหนังสือในใจเยาวชนตั้งแต่ประถมถึงมัธยม 500 เล่ม ( 500เรื่อง ) ปรากฏว่าใน 500 นั้น ใน 10 อันดับแรก มี แฮรี่ พอตเตอร์ Lord of the Ring หนูน้อยหมวกแดง เป็นหนังสือต่างประเทศทั้งนั้น มีของไทยติดอยู่เรื่องเดียว อันดับที่ 10 คือ ประวัติศาสตร์ชาติไทย สงสัยครูบังคับให้อ่าน สิ่งที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้น คือ รายงานของกรมวิชาการ เขาไปทำวิจัยมาว่า ในอันดับหนังสือดีจำนวน 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน ปรากฏว่า 100 เล่มนี้ มันอยู่ใน 500 เล่มที่เด็กอยากอ่าน (ที่พูดไว้ข้างต้น) ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่น่าคิด และผมต้องฝากถึงสมาคมนักเขียนฯ ไว้ด้วยว่า นักเขียนไทยจะทำอย่างไร เราหวังว่าเราผลิตออกมาแล้ว เยาวชนไทยควรจะอ่าน แต่ปรากฏว่าเป็นอย่างที่ผมบอกเนี่ยแหละครับ อย่างที่คุณสมมาตรบอกว่า วรรณกรรมเกาหลีเป็นที่นิยม อาจจะเป็นนิสัยคนไทยก็ได้ ที่ยอมรับของต่างประเทศมาก ผมคิดว่าประเทศไทยคงจะเป็นประเทศที่มีรถที่มียี่ห้อมากที่สุดในโลกนะครับ ทุกยี่ห้อขายได้หมด หนังสือก็เช่นเดียวกัน

คุณชมัยภร : ค่ะ เรื่องหนังสือที่ว่า มีแต่หนังสือฝรั่ง ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจนะคะ ท่านอาจจะนำไปร่วมกันคิด เมื่อวานดิฉันได้คุยกับเจ้าหน้าที่ที่เขาทำงานให้กับ สสส. นะครับ แล้วเขาบอกว่าผลการวิจัยออกมาว่า หนังสือสำหรับเด็ก 0-3 ขวบ ในประเทศไทย ไม่มีของนักเขียนไทยที่ได้รางวัลติดต่อกันมานับเป็นสิบปีได้ ทำให้รู้ว่า นักเขียนในตำแหน่งนี้ขาดจริงๆ เพราะฉะนั้น เด็ก 0-3 ขวบ เขาฟังเรื่องฝรั่งมาตลอด พ่อแม่เล่าให้ฟังเรื่องฝรั่งมาตลอด ดังนั้น อย่าแปลกใจค่ะท่าน ที่ 10 เล่มนั้นเป็นฝรั่งทั้งหมด ยกเว้นประวัติศาสตร์ชาติไทย ตอนนี้ก็อาจจะเป็นนเรศวรมหาราชนะคะ ก็เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันต่อไปนะคะ ทีนี้ วันนี้เรามาพูดกันถึงเรื่องรางวัลนะคะ อยากจะเรียนถามนักเขียนทั้ง 2 ท่าน ว่ารางวัลนี้มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน สำหรับนักเขียนสตรี

คุณโบตั๋น : โดยส่วนตัวแล้ว ดิฉันชอบการคำนวณกระดาษ คำนวณหนังสือ เพราะรวยกว่าเขียนนิยาย รวยกว่าเยอะ เรื่องค่ากระดาษเนี่ย จะรู้ดีกว่า เรื่องการผลิต เรื่องการบรรณาธิการ เรื่องเกี่ยวกับการลงทุนพิมพ์นี่ จะรู้ดีกว่าเลย ทำไมตรงนี้จึงมีปัญหาเรื่องพิมพ์ มีปัญหาเรื่องเพลท เรื่องอะไรเนี่ย จะบอกว่าชำนาญกว่าเขียน นวนิยาย แต่บังเอิญว่า คนรู้จักเขาเขียนนวนิยายมากกว่า แล้วจริงๆดิฉันก็ทำหนังสือเด็กมากกว่าหนังสือผู้ใหญ่ คุณชมัยภรก็เขียนหนังสือเด็กเยอะ ดิฉันก็ทำหนังสือเด็กเยอะมากในนามปากกาอื่น หรือบางทีก็ไม่ใช้นามปากกาเลย แต่จะใช้ชื่อสำนักพิมพ์ไปเลย เพราะฉะนั้น ก็อย่างที่เมื่อกี้ โทษนักอ่านนิดนึงว่า ส่วนใหญ่เขาจะซื้อหนังสือตามกระแส แต่จะมีบางกลุ่มที่ซื้อแล้วเลือกไม่ได้ดังใจท่าน

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องรางวัลนี่ ถ้าเขาให้ดิฉันก็รับ เดี๋ยวจะหาว่าดิฉันยโสโอหัง ให้แล้วไม่รับ ความจริงแล้วรางวัล SEATO มันเป็นรางวัลการเมือง เราก็รู้อยู่แก่ใจ ป้องกันเอเชียอาคเนย์ ป้องกันอะไรต่างๆ กลัวคอมมิวนิสต์ใช่มั้ยยุคนั้นน่ะ ดิฉันได้รางวัลมาตั้งแต่ปี 2512-2513 ซึ่งตอนนั้น เราก็รู้กันอยู่ว่า สหรัฐอเมริกาจะยื่นมือเข้ามาควบคุมอาณาบริเวณภูมิภาคแห่งนี้ เป็นสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับวรรณกรรมเลยแม้แต่นิดเดียว แต่เขาจะทำคะแนน ก็เท่านั้นเอง แต่ถ้าจะถามว่าทำไมคุณถึงรับ ทั้งๆที่คุณไปด่าเขาโครมๆ ถ้าอยากให้ฉัน ฉันก็เอา เพราะถ้าอย่างนั้น ถ้าไม่รับ ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาอีกว่าเด็กแค่นี้ยโสโอหัง ทั้งๆที่ตอนนั้น อายุ 24 ปีเท่านั้น คือเด็กมาก เด็กกว่าพวกที่ได้รับรางวัลนักเขียน รางวัลซีไรต์อะไรทั้งหลาย ทั้งปวงระดับชาติ เพราะฉะนั้น ต้องบอกไว้เลยค่ะว่ากลัว กลัวโดนหมายหัว เพราะฉะนั้นก็รับไปเหอะ ไม่ว่าอะไรหรอก ถ้าให้ฉันก็รับ หรือถามว่าจริงๆแล้ว เชียร์มั้ย ไม่มีทาง เพราะดิฉันเป็นคนขวานผ่าซาก ถ้าใครอ่าน “จดหมายเหตุจากเมืองไทย” ก็จะรู้ ดิฉันเป็นพวก ต.ม.

คุณชมัยภร : ค่ะ ดิฉันก็เพิ่งจะรู้นะคะว่า คุณโบตั๋นเป็นพวก ต.ม. คือ ตรงไปตรงมา พูดอะไรตรงมาก รางวัลสำหรับที่ประพันธ์สาส์นในตอนนี้ มองเป็นเรื่องของเครดิตนะคะ ดิฉันคิดว่านักเขียนใหม่ๆที่นั่งอยู่ในตอนนี้ คงคิดว่าเป็นเครดิตก็เป็น แต่คิดว่าคงเป็นกำลังใจด้วยอย่างยิ่งสำหรับคนที่กำลังเริ่มก้าว แต่สำหรับท่านปองพลนี่ ดิฉันไม่แน่ใจนะคะ ท่านอาจจะมีความเห็นต่างไปในเรื่องรางวัล ขอเรียนเชิญค่ะ

คุณปองพล : ผมคิดว่า ผู้ที่เป็นนักเขียนทุกคนนะครับ คงไม่ได้คิดเป็นนักเขียนเพื่อหวังที่จะเอารางวัล หรือจะได้รายได้ร่ำรวยจากการเขียน ที่จริงแล้วคงเขียนเพราะชอบในเรื่องนั้น สนใจ และต้องการสื่อความคิดไปสู่สาธารณชนมากกว่า ตอนที่เขียนไม่นึกว่าจะเขียนต้นฉบับของตนเองได้ดี ผมคิดว่าคงเป็นความภูมิใจส่วนตัวของตนเองมากกว่าว่า ได้รางวัลก็ดี แต่ถ้าคิดว่าเป็นเรื่องรางวัลกับเป็นยอดขายดี ผมเอายอดขายดี ซึ่งมันก็แตกต่างนะครับ ถ้าหนังสือที่ได้รางวัล และลงเว็บไซต์ คนก็จะรู้จักเยอะ และไม่ได้เป็นหนังสือขายดี อย่างเรื่องแฮรี่ พอตเตอร์ที่เป็นหนังสือขายดี ก็ไม่เห็นจะได้รางวัลเลย เพราะฉะนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ตัวรางวัลอย่างเดียว

คุณชมัยภร : สงสัยค่ะ สงสัยว่า ถ้าท่านเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ท่านจะพูดอย่างนี้หรือเปล่าคะ จะเอาขายดี หรือเอารางวัล ถ้าเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม นี่มี “ถ้า” ด้วยนะ เผื่อคราวหน้า

คุณปองพล : มีคนถามผมว่า ผมเป็นทั้งนักการเมือง ทั้งนักเขียนเนี่ย ระหว่างตำแหน่ง รัฐมนตรี กับนักเขียน Best Seller คุณจะเอาอะไร ผมบอกว่า Bestseller

คุณชมัยภร : งั้นก็ตอบได้เลยนะคะ ว่า ถ้าเป็นรัฐมนตรี ก็จะ Bestseller อยู่อย่างนี้ไม่ได้นะ

คุณปองพล : แล้วก็อยากจะบอกว่างานเขียน มันอยู่ที่ใจชอบถึงแม้ว่าผมมีตำแหน่งเป็นทางการเนี่ยผมก็ยังเขียนหนังสือ บางวันผมกำลังนั่งทำงานอยู่ที่กระทรวง ผมก็คิดอยากกลับบ้านไปเขียนหนังสือ ก็เบื่องานเหมือนกัน ผมคิดว่า นักเขียนทุกคนคิดเช่นนั้น เพราะฉะนั้น ที่ผมเขียนไปเนี่ย ก็เพื่อต้องการเผยแพร่ความคิดออกไป ผมไม่ได้หวัง หรือตั้งเอาไว้ว่า ปีนี้ต้องเอาซีไรต์ เพราะเห็นกรรมการแจกกันทีไร ต้องทะเลาะกันทุกที

คุณชมัยภร : กรรมการทะเลาะกันเหรอคะ

คุณปองพล : ที่มีปัญหากัน ก็กลายเป็นว่าสร้างความขัดแย้งขึ้นมา มันก็เป็นเรื่องได้อีกเรื่องเลย เรานำเรื่องการตัดสินรางวัล มาเขียนเป็นนวนิยายได้อีกเรื่องหนึ่ง เพราะนวนิยาย มันเกี่ยวกับความขัดแย้งของคนหลายกลุ่ม

คุณชมัยภร : ถ้าไม่มีรางวัลซีไรต์ ประเทศไทยจะอับเฉา ไม่มีอะไรทะเลาะกันเลย

คุณปองพล : สงสัยจบจากงานนี้ ผมต้องไปตกลงกับคุณโบตั๋นในการเขียนนวนิยายเกี่ยวกับการตัดสินรางวัล

คุณชมัยภร : เขียนเกี่ยวกับรางวัลชมนาดเลยดีมั้ยคะ ขอเรียนถามท่านปองพลนิดนึงว่า ในฐานะที่ท่านทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐด้วย ถ้าเกิดจับพลัดจับผลูว่า ต้องไปเกี่ยวข้องกับงานบริหารในส่วนวัฒนธรรม ท่านคิดว่ารัฐบาลจะมีบทบาทในการมาดูแลงานเกี่ยวกับด้านการเขียนได้มากน้อยแค่ไหน

คุณปองพล : คือว่า การเขียน หรือ การพิมพ์นี่ มันมีต้นทุน ผมเนี่ย เมื่อต้องมาเกี่ยวข้อง ผมทราบดีว่า ต้นทุนการพิมพ์มันสูง รัฐบาลควรมาพิจารณาเรื่องการลดภาษี เรื่องกระดาษ หมึกพิมพ์ ต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ สำนักพิมพ์ก็สามารถที่จะมาส่งเสริมนักเขียนให้มากขึ้น เพราะขณะนี้ มีโครงการที่ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลที่แล้ว ก็คือ เรื่อง “แปลงสินทรัพย์เป็นทุน” ก็เป็น “แปลงต้นฉบับเป็นทุน” เขามาปรึกษา บอกว่า เอาหนังสือของผมเป็นหนูตะเภาก็แล้วกัน เพราะว่าเขามีเงื่อนไข ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่ว่าต้องการจะส่งเสริม และเอาต้นฉบับของนักเขียนหน้าใหม่ ที่เมื่อเขียนไปส่งสำนักพิมพ์ ก็ไม่มีใครอยากจะพิมพ์ให้ แต่ถ้าเขามีทุน เขาสามารถไปจ้างพิมพ์ได้ จัดจำหน่ายออกไป ผมว่าอันนี้ ควรเป็นสิ่งที่จะส่งเสริมต่อไป

คุณชมัยภร : สงสัยท่านคงรู้แต่ตอนพิมพ์ ยังไม่รู้ตอนขาย ท่านก็เลยเชียร์ให้พิมพ์ พิมพ์เสร็จแล้วไปกอง ท่านขายเองค่ะ

คุณปองพล : ผมทำทั้ง 2 อย่างครับ ผมเป็นคนที่ทำอะไรจะทำเองหมด ตั้งแต่เขียนหนังสือ ตรวจปรู๊ฟเอง ติดต่อโรงพิมพ์เอง ไปนั่งขายเอง ทำเองทั้งหมดเพื่อจะได้มีประสบการณ์ ได้รู้ ถึงได้บอกว่า ที่จริงประเทศไทย เหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางของการพิมพ์ได้ เพราะว่าเรามีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อให้ เรามีนักเขียนที่มากมาย เรามีศิลปิน เรามีช่างอาร์ต ที่จะทำหน้าปก เขียนแบบอะไรต่างๆ ที่มากมาย และต้นทุนต่ำกว่าต่างประเทศด้วย แต่พอมาถึงเรื่องพิมพ์นี่ ต้นทุนสูงทันที

คุณชมัยภร : อย่างนี้กระทรวงไหนคะ กระทรวงพาณิชย์ หรือ กระทรวงอุตสาหกรรมคะ ชักงงแล้วค่ะ ไม่รู้ว่ากระทรวงไหน

คุณปองพล : กระทรวงการคลังครับ

คุณชมัยภร : กลับมาที่พี่โบตั๋นนะคะ พี่โบตั๋นมองเรื่องคุณภาพ เมื่อสักครู่นี้ มองเรื่องการผลิตนะคะ เราเริ่มกลับไปที่คุณภาพนักเขียนไทย วรรณกรรมไทยตอนนี้ ที่จะต้องแข่งกับเกาหลี มันเป็นอย่างไร

คุณโบตั๋น : คุณภาพนักเขียนเราน่ะไม่เลวหรอกค่ะ แต่คุณภาพนักอ่านกับคนดูละครเนี่ยมันบีบคั้นเรา แม้แต่นวนิยายที่เราเขียนไว้ ทั้งเรื่องมีฉากทะเลาะกัน 3 บรรทัด เพราะเมื่อมันกลายเป็นละครทีวี มันจะกลายเป็น 30 ตอน มันคนละเรื่องเดียวกัน ซึ่งเราก็ควบคุมไม่ได้เลย แล้วละครทีวีจะมีผลต่อคนซื้อ เพราะว่าจะมีคนซื้อเป็นจำนวนมาก ซื้อตามละคร ซื้อตามเรื่องดังๆ หรืออย่างเมื่อสักครู่ที่บ่นๆว่า ซื้อตามกระแส แล้วถามว่า คุณภาพนักเขียนของเราเป็นยังไง ดิฉันว่าก็ใช้ได้นะ แต่ถ้าเรื่องไหนที่ตั้งใจเขียนมากๆ ก็เราคิดว่ามันมีคุณภาพ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ