งานเปิดตัว “ต้นส้มแสนรัก” : สำนวนแปลคุณมัทนี เกษกมล ตอนที่ 2

งานเปิดตัว “ต้นส้มแสนรัก”

คุณนภาธิต : อยากจะให้ทุกท่านช่วยแสดงความคิดเห็นว่าเซเซ่ เขาเป็นตัวแทนของเด็กที่ขาดความอบอุ่นโหยหาความรักหรือเปล่า

อ.ฐนธัช : เรื่องนี้มันเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนะครับ ถ้าเด็กที่ไม่มีจินตนาการมาอ่านหนังสือเล่มนี้เขาก็จะคิดว่าเด็กอะไรคุยกับต้นส้มได้ พูดกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวได้ เขาเป็นคนที่ตั้งชื่อให้กับสิ่งต่างๆรอบตัว ประการสำคัญก็คือเขาเป็นคนที่ชอบภาษายาก ๆ ซึ่งตรงนี้เองพออ่านแล้วในฐานะที่เป็นครูจึงเกิดความสนใจว่าทำไมเซเซ่ถึงฉลาด ก็เพราะเขาให้ความใส่ใจในภาษา คำไม่ใช่เพียงเนื้อความเท่านั้น แต่คำยังเป็นตัวสื่อความคิด อย่างที่เขาถามว่าคำ ๆ นี้หยาบไหม หรือถ้าเขาพูคำหยาบขึ้นมาคำนึงถามว่าเขาไปเอาคำเหล่านี้มาจากใคร เขาก็เอามาจากพ่อเขาเอามาจากคนรอบข้าง แต่แล้วเด็กกลับถูกตี ผู้ใหญ่ไม่ถูกประณาม เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ แม้แต่การใส่ใจในคำหรือภาษาที่เขาใช้มันก็จะนำไปสู่ความคิดที่มีต่อโลกต่อชีวิตของเซเซ่ตามมาอีก ทีนี้ย้อนกลับไปที่ว่าถ้าเด็กที่ไม่มีจินตนาการมาอ่านก็จะไม่เข้าใจเซเซ่ แต่ในความเป็นจริงเด็กทุกคนเคยผ่านขั้นตอนนี้มาหมด คือการพูดคุยกับตัวเอง การพูดคุยกับสิ่งต่าง ๆ แล้วการที่เขาสมมติ เช่นการเล่นใช้ใบไม้แทนสตางค์ เล่นขายของ เอาใบตองมาทำเส้นก๋วยเตี๋ยว คือเด็กทุกคนผ่านจุดนี้มาหมดแล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อเราโตขึ้นเราได้ผ่านประสบการณ์ พบพานกับความจริงหรือวัตถุที่เป็นจริงมากขึ้นทำให้เราลืมช่วงวัยตรงนั้นมา ในความคิดของผมในแง่นี้ของเซเซ่มีอยู่ในทุกคน แล้วทุกคนก็เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเซเซ่ อย่างน้อยเราก็เคยดื้อเคยซน ไม่เชื่อฟัง เคยเป็นที่ขาดรักน้อยใจ เราก็เคยผ่านตรงนี้มา และการที่เราเป็นส่วนหนึ่งของตัวละคร แล้วตัวละครเป็นส่วนหนึ่งของผู้อ่านนี่เองที่ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นอมตะในความคิดของผม

ดร.มัทนา : อย่างที่ อ.ฐนธัชพูดว่าเด็กทุกคนจะมีจินตนาการอย่างนั้น มีจินตนาการกันทุกคน แต่ในความคิดของดิฉันนะคะ อย่างเซเซ่เขาไปคุยกับต้นส้มนั่นไม่อันตราย แต่ปัจจุบันที่อ่านเจอในหนังสือพิมพ์ที่คิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์แมนแล้วกระโดดลงจากตึก ดิฉันว่านั่นมันก็ไมต่างกันเลย แต่ของเซเซ่ไม่เป็นอันตราย หรือแม้แต่พระเจ้า อเล็กซานเดอร์มหาราชก็เคยคิดว่าตนเป็นอาคีลิสกลับชาติมาเกิดและท่านก็ยังเชื่อจนกระทั่งท่านสิ้นพระชนม์ไปก็ยังเชื่ออย่างนั้น ดิฉันคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ผิดปกติอะไร อย่างเซเซ่นี่เป็นเรื่องที่น่ารักแล้วก็ไม่เป็นอันตราย ดีกว่าไปคิดว่าตัวเองเป็นซูเปอร์แมนแล้วโดดลงมาจากตึกแบบนี้น่ากลัวกว่า

คุณศรีนวล : เซเซ่เขามีจินตนาการว่ากิ่งของมิงกินโย คือต้นส้มของเขาที่เขาชอบขึ้นไปขี่นั้นเป็นม้าชั้นดีของชนเผ่าอาปาเช่ ซึ่งเป็นอินเดียแดงเผ่าหนึ่ง เขาเป็นเด็กยากจน เขาไม่มีของเล่น เขาสามารถทำให้ต้นส้มธรรมดาต้นนึง ที่มีขนาดลำต้นเหมาะกับวัยเขาที่จะโตพร้อมกันไปเรื่อย ๆ เขาขึ้นไปขี่กิ่งขอมิงกินโย ประหนึ่งว่าได้ขี่ม้าแล้วควบไปท่ามกลางชนเผ่าของอินเดียแดงกำลังต่อสู้กัน ถ้าบอกว่าเด็กมีจินตนาการที่เป็นตัวเป็นตนและสร้างสรรค์มากขนาดนี้ สมมติว่าถ้าเราเป็นเด็กจน ๆ คนนึงแล้วขาดจินตนาการ วัยเด็กเราต้องการของเล่น แต่เราขาดจินตนาการ มองต้นส้มก็คือต้นไม้ แต่ยังอยากได้ของเล่นอยู่แต่ยังไม่มีตังค์ ก็อาจจะพาให้เด็กที่ขาดจินตนาการคนนี้ไปเป็นขโมยได้ แต่ถ้าเรามีจินตนาการเราสามารถที่จะสนุก สามารถที่จะมีความสุขกับสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราได้ภายใต้จินตนาการที่เรากำหนด อันนี้เป็นจุดที่เด็กในปัจจุบันนี้ขาดไป เด็กเดี๋ยวนี้เน้นวัตถุนิยม เขาไม่สามารถมองกระป๋องนมที่พ่อแม่ใช้แล้วมาประดิษฐ์เป็นรถเป็นอะไรต่อมิอะไรได้ แต่ด้วยความจนในเด็กวัยอย่างเซเซ่เขามองทุกอย่างเป็นของเล่นได้ พอเขาเห็นถุงเท้าที่ลักษณะคล้ายกับงู จินตนาการของเซเซ่บอกว่ามันต้องกลายเป็นงูเป็นของเล่นของเขาได้ ถ้าเด็กไม่มีจินตนาการไปเจอมันก็คือถุงเท้าสกปรก ๆ คู่หนึ่ง นี่คือคุณค่าของจินตนาการที่เซเซ่เป็น แม้ว่าวันหนึ่งนั้นจะกลายมาเป็นเครื่องมือไปแกล้งหญิงท้องแก่จนทำให้ถูกลงโทษ ถึงเขาจะรู้สึกสนุกที่ได้แกล้งให้คนนั้นคนนี้ตกใจ แต่เมื่อเขารู้ว่าคนที่โดนแกล้งนั้นเป็นคนท้องแก่เขาก็ตกใจและรู้สึกผิด ถ้าพูดถึงจินตนาการของเซเซ่นั้นถือเป็นเรื่องที่เป็นเลิศถ้ามองเทียบกับเด็กที่ไม่มีจินตนาการ และในแง่ของจินตนาการของเซเซ่ในเรื่องนี้เขาสามารถอิ่มสุขกับทุกสิ่งในรอบตัวเขา โดยที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

คุณนภาธิต : คิดว่าวรรณกรรมสะท้อนสังคม แล้วต้นส้มแสนรักสะท้อนอะไรให้เราเห็นบ้างในสังคม อาจจะเป็นยุคนั้นหรือมีอะไรเกี่ยวพันมาถึงยุคนี้บ้างคะ

อ.ฐนธัช : ถ้าถามถึงอิทธิพลทางสังคมคงต้องขอต่อประเด็นคุณศรีนวลที่ว่าเด็กสมัยใหม่ไม่ค่อยมีจินตนาการเพราะมีของเล่นสำเร็จรูปมากทำให้เด็กไม่รู้จักจินตนาการที่จะเอาสิ่งรอบ ๆ ตัวมาเป็นของเล่นของเรา ประเด็นนี้อยากจะบอกว่าเวลาอ่านรู้สึกว่าเด็กคนนี้เขาใกล้ชิดกับธรรมชาติ และสำนวนของผู้แปลทำให้หญ้าที่อยู่รอบ ๆ ต้นส้มก็ยังสวยงามได้ ความใกล้ชิดธรรมชาติแบบนี้แหละที่เราห่างหายกันไปทุกทีกับเด็กปัจจุบันจะมีจินตนาการสำเร็จรูปคิดแทนให้ เป็นจินตนการที่มีคำตอบ ทำให้จินตนาการเราไม่ได้กว้างไกลเพียงพออย่างที่เซเซ่ เป็น ประเด็นหนึ่งเป็นไปได้ไหมว่าในสังคมที่เป็นตัวเรื่องของต้นส้มเนี่ยมันเป็นสังคมที่เราผ่านเลยมาแล้ว ที่บอกว่าผ่านมาแล้วก็เช่นเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าและตำนานที่ตัวละครเล่าสู่กันฟัง แม้แต่ตัวเซเซ่เองที่เป็นเด็กอายุ5-6 ขวบ ก็ยังจดจำตำนานหรือเรื่องเล่าต่าง ๆ มาตอบโต้กับเพื่อนชาวโปรตุเกสเลย ซึ่งตรงนี้เราจะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะของคนสมัยก่อนที่มีชีวิตผูกพันอยู่กับเรื่องเล่าของชุมชนและสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มันได้หายไปแล้วจากวิถีชีวิตของเรา ฉะนั้นถามว่าต้นส้มใน พ.ศ. นี้ถ้าจะมองถึงอิทธิพลนอกจากว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพของคนไทยมายุคหนึ่งแล้ว ผมว่าถ้าคนไทยมาอ่านต้นส้มในพ.ศ.นี้ ถ้าเป็นวัยผมผมคิดว่าเราจะโหยหาที่จะกลับไปสู่อดีตอีกครั้ง อยากจะกลับไปสู่วัยเด็ก และก็อยากจะเข้าไปสู่ในโลกของจินตนาการอย่างวัยเด็ก เนื่องจากวัยวันที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันทำให้เราไม่สามารถจะทำได้ในชีวิตจริง แต่หนังสือ เล่มนี้จะทำให้เราหลีกหนีความเป็นจริงอันเคร่งเครียดกลับไปสู่ในโลกของวัยเด็ก และก็ทำให้เราได้ย้อนรำลึกถึงความน้อยอกน้อยใจ การเป็นเด็กที่พ่อแม่ไม่รักซึ่งเป็นช่วงที่เด็กทุกคนต้องผ่านมา และมันก็ทำให้เราน้ำตาซึมได้ ผมว่าถ้าคนอ่านต้นส้มมาก ๆ ในพ.ศ.นี้ มันจะปลูกความรักขึ้นในจิตใจ แล้วจะรู้ว่าขณะที่เราคิดว่าไม่มีคนรักเรา เมื่อตอนที่เซเซ่ป่วยมีคนมากมายเลยที่เซเซ่คิดว่าเขาไม่รักเซเซ่ มาผูกพันกับเขา แล้ววันที่เขาป่วยจนไม่รู้จะรอดชีวิตหรือเปล่า แล้วพี่สาวเขาเด็ดดอกส้มมาให้ ผมประทับใจตรงนี้มาก คือเขาก็บอกว่าต้นส้มของเซเซ่กำลังจะโตเหมือนกับวันนึงที่เซเซ่ต้องโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วเซเซ่ก็บอกว่าไม่ใช่ ต้นส้มมันตายไปตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว นี่ก็คือการข้ามไปสู่ขั้นตอนความเป็นผู้ใหญ่ว่า การที่เขาบอกว่าเขารักต้นส้มมาก แต่เขาได้เรียนรู้ความเป็นจริงจากชายชาวโปรตุเกสคนหนึ่ง ว่าความรักและความอบอุ่นที่มนุษย์มีต่อมนุษย์มันคืออะไร มากกว่าที่มนุษย์คนหนึ่งมีกับต้นไม้ ผมว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญมาก คนไทยอ่านและตามชีวิตและจิตใจของเซเซ่มาตลอดนะ ผมว่าความรักมันผุดงอกงามขึ้นบนจิตใจของคนอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคนเลย

คุณนภาธิต : ดิฉันรู้สึกอย่างหนึ่งว่าการที่เขารักและผูกพันกับโปรตุก้า อาจป็นเพราะโปรตุก้าเป็นผู้เดียวที่รับฟังเขา และเข้าใจโดยที่ไม่เถียง เขาจึงคิดว่าโปรตุก้าเป็นคนที่เข้าใจเขา แล้วอาจารย์มัทนาล่ะคะ

ดร.มัทนา : สำหรับความรู้สึกของดิฉันก็ไม่แน่ใจนะคะว่ามันจะล้าสมัยหรือไม่ แต่ในแง่ของความเป็นวรรณกรรม เราอ่านได้ทุกวัย เป็นเด็กก็อ่านได้ หรือเป็นแม่ก็อ่านแล้วได้แง่มุมอีกแบบหนึ่ง แล้วก็ในแง่ของการสะท้อนภาพสังคมอย่างที่ อ.ฐนธัชได้บรรยายว่าเขาเกิดมาในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติ เขาจึงจินตนาการเรื่องต่างโดยใช้ธรรมชาติ พูดจริง ๆ ว่าเด็กคนนี้ถ้ามาเกิดในสมัยเรา ก็เรียกได้ว่าเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษและต้องเข้าคลาสพิเศษ สิ่งที่เขาจะทำต่าง ๆ เทียบกับยุคนี้เขาก็คงมาทำกับคอมพิวเตอร์ เป็นการเปลี่ยนรูปแบบไปทำให้คิดว่าเรื่องนี้มันไม่น่าจะล้าสมัย ในแง่ของการเป็นวรรรณกรรมมันจะอยู่ตลอดไป

คุณศรีนวล : ในเรื่องของธรรมชาตินี้ดิฉันซึมซับตรงนั้นชัด ๆ ตอนที่เซเซ่ปีนไปควบบนกิ่งส้มของเขาเราก็คิดถึงม้าก้านกล้วยของเรา และในมุมที่แตกต่างเพิ่มเติมที่ดิฉันได้จากต้นส้ม ในวัยนี้คือวัยแม่ ก็คือเรามองว่าเซเซ่เหงาในวัยนั้น แต่ถ้าให้ผู้ใหญ่วัยสี่สิบเป็นต้นไป มีลูก ลูกเริ่มโตเริ่มมีเพื่อน เดี๋ยวคุณจะย้อนกลับไปเป็นเซเซ่ วัยเด็กกับวัยชราไม่ได้ต่างกันนัก ในขณะที่วัยชราจะรุนแรงกว่าในแง่ของความเหงา คุณเจอบทบาทนั้นแน่ในอีกไม่นานนี้ ความเหงาจะเข้ามาเยือน คนแก่ไม่ต่างอะไรกับที่เซเซ่รู้สึกว่าครอบครัวทิ้งเขา เมื่อคุณสูงวัยขึ้นคุณจะรู้สึกว่าเขาจากหายไปแล้ว พอเขาหายแล้วเราจะคว้าใคร สามี-ภรยาก็แก่กันแล้วคงไม่มากอดกันเหมือนเก่า มันก็เหงา และไม่ต่างอะไรกับเซเซ่ ฉะนั้นถ้าเราอ่านแล้วเรามองสะท้อนตรงนี้ เราจะรูสึกได้ดีกับการสะเทือนใจตรงนี้ ดีไม่ดีมันจะสอนให้เรารู้จักการเตรียมตัว และแน่นอนคุณจะหวนกลับไปถึงคนแก่ที่บ้านเราเองว่า เราปล่อยให้พวกเขาเหงาเหมือนเซเซ่หรือเปล่า ตอนที่อ่านต้นส้มตอนเป็นนิสิตหรือตอนเริ่มทำงานไม่เคยรู้สึกถึงจุดนี้แต่ตอนนี้รู้สึกแล้ว เพราะเราเห็นคนแก่เหงา เพราะฉะนั้นถ้าคุณทำความเข้าใจเซเซ่ดี ๆ แล้วคุณเตรียมรับมือ และปล่อยวาง คุณจะเข้าสู่วัยชราอย่างไม่เหงามาก อันนี้คือมุมนึงที่จะเห็นในต้นส้มแสนรักได้เหมือนกัน

คุณนภาธิต : ช่วยแยกวิเคราะห์ว่าคนแต่ละวัยจะได้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง

อ.ฐนธัช : ผมว่าในประวัติศาสตร์สังคมไทยเราไม่เคยมานั่งแยกกัน ผมเคยได้ยินนักวิชาการคนหนึ่งพูดว่าสงสารเด็กไทยที่ไม่มีวรรณกรรมสำหรับเด็ก ในอดีตเราไม่มีหรอก ผมก็มานั่งคิดว่าเราไม่มีจริงเหรอ พอมาดูละครจักร ๆวงศ์ ๆ นางสิบสองควักลูกตา เมียน้อยเมียหลวงตบตีกันก็เลยคิดว่ามันเป็นวรรณกรรมของเด็กไทยหรือเปล่า ถ้าใช่เนื้อเรื่องก็ควรจะสอดคล้องที่จะให้เด็กอ่าน แต่มันมีสิ่งที่น่าสนใจว่าเรื่องเล่าเหล่านี้มันอยู่กับเด็กมาตั้งแต่เล็ก ๆ ในชีวิตเราอาจจะดูลิเกเรื่องสังข์ทอง หรือโขนเรื่องรามเกียรติ์ไม่รู้กี่หน แต่ผมก็มั่นใจว่าเราดูในลักษณะที่แตกต่างกันไป อย่างในอเมริกาเด็กผู้หญิงต้องจดจำสโนไวท์ได้ เด็กผู้ชายต้องจดจำแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ได้ แต่ว่าในสังคมไทยไม่เคยทำวิจัยในประเด็นเหล่านี้ มีเรื่อหนึ่งน่าสนใจ เช่น เรื่องจันทโครพ เป็นเรื่องที่ยาวมากแต่เราก็จะจำตรงที่ว่านางโมราถูกสาปเป็นชะนี เมื่อเราดูในวัยเด็กเราก็จะเข้าใจอย่างหนึ่ง แต่พอเราเป็นหนุ่มสาวแล้วดูเรื่องนี้เราจะเข้าใจเลยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สอนเพศศึกษากับเขา พอแก่ตัวไปเราก็อาจจะได้รู้อีกว่าจันทโครพนั้นให้ประสบการณ์ในการมองวุฒิภาวะของมนุษย์ที่อยู่รอบข้าง ตัวอย่างเรื่องจันทโครพเป็นเรื่องเล่าที่เราเจออยู่ในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันถ้าเราโตขึ้นเราก็จะมองวรรณกรรมเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งที่แตกต่างออกไปและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น แม้บอกว่าต้นส้มแสนรักไม่ใช่วรรณกรรมเยาวชนก็จริง แต่ผมก็อยากเด็ก ๆ อ่านเรื่องนี้ ในวุฒิภาวะของเขา เขาจะรู้แค่ไหนก็ช่างเขาเถอะ แต่เขาอาจจะคิดว่าเซเซ่เป็นเพื่อเขา หรือเขาอาจจะตีความอะไรไม่ได้เลย แต่บางเหตุการณ์หรือคำบางคำในเรื่องต้นส้มแสนรักอาจจะอยู่ในใจเขาก็ได้ และเมื่อเขาโตขึ้นแล้วหยิบมาอ่านก็อาจจะเกิดแง่คิดใหม่ ๆ ขึ้นมา ผมเพิ่งหยิบต้นส้มมาอ่านอีกครั้งเมื่อวานนี้ แต่ผมไม่รู้สึกฟูมฟายเท่าเดิม อาจเป็นเพราะเราผ่านอะไรมามากแล้ว รู้ทันเซเซ่มากขึ้นแล้ว แต่ในการอ่านเมื่อวานนี้ทำให้เราคิดว่าเมื่อวันนึงเราก็เป็นอย่างเซเซ่นั่นแหละ และอีกไม่นานนี้เราก็จะยิ่งเป็นเซเซ่มากขึ้น

ดร.มัทนา : งานวรรณกรรมจะไม่ล้าสมัย เวลาอ่านจะรู้สึกร่วมไปกับตัวละครและเวลาอ่าน เราจะค้นพบตัวเองไม่ตัวใดก็ตัวหนึ่งในเรื่อง ในแง่ที่เด็กจะได้อะไร เด็กก็จะได้จินตนาการตามวัยของเขา ผู้ใหญ่ก็ได้แบบหนึ่ง อย่างที่คุณศรีนวลพูด พอในวัยชราก็จะได้อีกอย่างนึง แต่ความจริงดิฉันมองแล้วว่ามันเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ แล้วสิ่งที่จะได้ก็คือผู้ใหญ่จะพยายามหวนกลับไปในสมัยเด็กว่า ตัวเองรู้สึกยังไงคิดยังไงแล้วก็พยายามเรียนรู้เด็กที่จะเติบโตขึ้นมา แล้วก็จะไม่พยายามใช้มาตรฐานของผู้ใหญ่ไปวัดเด็ก พยายามเข้าถึงความรู้สึกนึกคิดในจิตใจของเขา ตรงนี้แหละคะจะเป็นประโยชน์

คุณศรีนวล : ถ้าถามว่าทำไมเด็กต้องอ่าน เด็กอ่านแล้วจะได้อะไร ที่เห็นชัด ๆ ก็คงจะเป็นในเรื่องของจินตนาการ เด็กจะได้หนังสือเป็นเพื่อน บางทีถ้าเขาถ้าเขาคิดอยู่ในโลกของเขาคนเดียวไม่ได้ออกไปเจอเพื่อน และยิ่งสังคมสมัยนี้คนก็มีลูกไม่มาก ยิ่งถ้าเป็นลูกคนเดียว โอกาสที่เขาจะมีเพื่อนก็น้อยลง ฉะนั้นถ้าเขามีหนังสือดีไว้อ่านหนังสือก็จะเป็นเพื่อนที่ดี ถ้าเราซื้อหนังสือเล่มนี้ให้เขาอ่านก็เปรียบเสมือนเราซื้อเพื่อนให้เขา เขาจะได้เรียนรู้จากหนังสือเล่มนี้ เรียนรู้จากเซเซ่ ว่าการปรับตัวในวัยเด็กของเขาสามารถทำได้อย่างไรบ้าง ตรงนี้เราก็จะสอนเขาได้ แทนที่เขาจะไปตะเกียกตะกายหาสิ่งที่อยู่ในทีวี หรือของเด็กเล่นในห้างสรรพสินค้า และสำหรับผู้ใหญ่ดิฉันเปรียบให้หนังสือเล่มนี้วางคู่กับ “กว่าจะถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว” ให้อ่านประกอบกับหนังสือตั้งครรภ์เตรียมคลอด หรือพวกหนังสือเลี้ยงลูกอย่างไรให้เป็นเด็กดี เพราะหนังสือเล่มนี้จะเป็นคู่มือที่จะสอนคุณพ่อคุณแม่ ให้มีจิตสำนึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ทุกครั้งที่คิดจะตวาดใส่ลูก หรือเงื้อไม้ตีลูก หรือขังเขาไว้ในห้องเพื่อเป็นการทำโทษ เพียงเพราะเขาเอาปากกามาขีดเขียนสมุดเล่มโปรดของคุณ เพียงแค่คุณเข้าใจเขา ทุกเส้นสายที่เขาขีดลงไปในหนังสือของคุณ หนังสือเล่มนั้นจะกลายเป็นไดอารี่ที่บันทึกลายมือลูกของคุณไว้ แต่ถ้าคุณไม่เข้าใจในวัยของเซเซ่ วัยแห่งจินตนาการที่คุณเองก็เคยเป็นละก็ คุณจะตีเขาแทบไม้จะหักเพราะเขาทำลายหนังสือของคุณ เพียงแค่คุณเข้าใจเซเซ่ คุณก็จะเข้าใจความเป็นเด็ก คุณไม่ต้องไปโทษทีวี โทษสังคม โทษยาเสพย์ติด มันจะไม่เข้ามาหาเราก่อนหรอกถ้าเราไม่ไล่ลูกออกไปหาสิ่งเหล่านั้น ตรงนี้เป็นมุมที่ค่อนข้างชัด และดิฉันก็อยากให้พ่อแม่ทุกคนอ่านหนังสือเล่มนี้

คุณนภาธิต : คุณศรีนวลกำลังจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นจิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กอย่างดี เอาหนังสือเล่มนี้ไว้ใกล้ ๆ เอาไม้เรียวไว้ไกลหน่อยถึงจะดีใช่ไหมคะ

คุณศรีนวล : ความจริงไม้เรียวไม่ใช่เรื่องเลวร้าย การตีเด็กไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่เราไม่ควรตีด้วยความโกรธ อย่าตีเพราะอาฆาต อย่าตีเพราะอารมณ์ชั่ววูบ ก่อนตีหรือหลังตีควรจะบอกเขาด้วยว่าทำไมถึงตี ทุกวันนี้ดิฉันก็ตีลูกค่ะ แต่ไม่เคยตีสุดแรงเกิด เวลาลูกทำผิดแล้วตัวเองโมโห ก็จะพยายามหลบไปก่อน เพราะไม่อย่างนั้นโดนแน่ เราไม่อยากตีด้วยอารมณ์ รอให้เย็นกว่านี้ก่อนแล้วค่อยตี คือไม่ใช่หายโกรธแล้วไม่ตีนะคะ ต้องตีอยู่เพราะเขาผิด แต่เราจะบอกเหตุผลและไม่ใช้อารมณ์ตรงนั้น

คุณนภาธิต : คำถามสุดท้ายนะคะแต่ละท่านใครมีต้นส้มของตัวเองบ้าง

อ.ฐนธัช : อันนี้ก็ขอเป็นเรื่องส่วนตัวที่เก็บไว้ในใจแล้วกันนะครับ (หัวเราะ) ผมว่าทุกคนมีโลกส่วนตัวหมด มันเป็นเรื่องที่ประทับใจที่มันผ่านไปแล้ว ตอนเด็ก ๆ ผมก็เคยคุยกับต้นไม้นะ แต่พอเวลาผ่านไปแล้วเรามานั่งนึกว่าตอนนั้นเราไม่ได้เหงาหรอกเพียงแต่เรามีเพื่อนที่ไม่มีตัวตนเท่านั้นเอง

ดร.มัทนา : สำหรับดิฉันคิดว่าไม่มีหรอกค่ะ จินตนาการของดิฉันจะเปลี่ยนรูปแบบต่างๆไปตามวัย

คุณศรีนวล : สำหรับดิฉันคือเจ้าทุยค่ะ แล้วก็ลานขายของของเรา มีต้นกล้วย เพราะต้นกล้วยเป็นอะไรได้หลายอย่างมาก ส่วนควายนี่เพราะเมื่อก่อนทำนา เวลาคุณแม่ให้จูงควายมา เราก็จะคุยกับมันไปเรื่อยจนถึงบ้าน แล้วต้นกล้วยก็เป็นหลายอย่าง โคนต้นเราก็เอามาเล่นเป็นหมูเป็นเนื้อ ส่วนก้านมันเราก็เอามาทำเป็นอ้อยควั่น แล้วใบกล้วยก็ทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว ถึงบอกว่าต้นส้มของเซเซ่ก็คือ ต้นกล้วยแสนรักของดิฉัน

คุณนภาธิต : ในฐานะที่วันนี้เราจะรำลึกถึงคุณมัทนี โดยการที่สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นได้นำสำนวนแปลของคุณมัทนีมาพิมพ์ใหม่ จึงอยากจะถามคุณมัทนาเกี่ยวกับความเป็นมาของหนังสือเล่มนี้ว่า ได้หนังสือเล่มนี้มาแปลได้อย่างไร

ดร.มัทนา : ก็เริ่มที่พี่ชายของเพื่อนคุณมัทนีเขาบินไปสิงคโปร์แล้วก็ไปได้หนังสือเล่มนี้มา จำได้ว่าเขาถือหนังสือเล่มนี้มาแล้วบอกว่า ได้หนังสือดีมาเล่มหนึ่ง แล้วก็บอกว่าในต้นส้มเนี่ยมีตัวละครตัวหนึ่งเหมือนดิฉันเลย คือขี้บ่นมาก ดิฉันก็รู้เรื่องหมดนะคะแต่ไม่เคยอ่าน ไม่ทราบว่าเขาใช้เวลาแปลนานเท่าไหร่ แต่รู้สึกว่ากว่าจะพิมพ์ออกมาก็เป็นปีนะ ดิฉันเองก็ไม่ได้มีส่วนร่วมสักเท่าไหร่ เพียงแต่สงสารเขาไม่อยากให้เขาเศร้ากับเรื่องนี้มาก มัทนีเขาขี้อายเขาจะคอยบอกดิฉันว่า อย่าไปบอกใครนะว่าเขาเป็นคนแปลเรื่องนี้ เดี๋ยวเขาจะมาถาม แล้วเขาก็ยังบอกดิฉันไว้ว่า หนังสือเล่มนี้มีประโยชน์กับผู้ใหญ่ และยังให้แง่คิดดี ๆ ได้ด้วยนะ และอยากให้คนอ่านหนังสือต้นส้มแสนรักของเขากันมาก ๆ

คุณนภาธิต : ต้องขอบคุณผู้ร่วมเสวนา และผู้สนับสนุนทุกท่านนะคะที่ทำให้เราได้มีงานดี ๆ แบบนี้ขึ้นมา สำหรับแฟน ๆ ของต้นส้มแสนรักทั้งหลาย ไม่แน่ว่าเราอาจจะมีโอกาสได้จัดงานพูดคุยกันอีกก็ได้นะคะ อยากจะขอย้ำว่าหนังสือดี ๆ แบบนี้ถ้ามีโอกาสก็อย่าลืมหามาอ่านกันนะคะ สวัสดีค่ะ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ