ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน : ครั้งหนึ่งในความทรงจำ : โดย ณัฐ ต้องรักชาติ

ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน : ครั้งหนึ่งในความทรงจำ

 

          ผมเชื่อว่าทุกคนต่างมีความรู้สึกประทับใจในเรื่องๆ หนึ่ง ซึ่งเรามักจะเก็บไว้เป็นความทรงจำดีๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่อาจมีความทรงจำไปในทางเดียวกับตัวละครการดำเนินเรื่องของสารคดีที่มีชื่อว่า ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ของ ธีรภาพ โลหิตกุล

 

          ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ของ ธีรภาพ โลหิตกุล เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างการปกครองของพม่ารูปแบบเผด็จการทหารกับชนกลุ่มน้อย ที่เรียกตัวเองว่า "กะเหรี่ยง" แถวชายแดนตะวันตกของไทย บริเวณแม่น้ำสาละวิน โดยผ่านการชมภาพยนตร์ "มือปืน 2 สาละวิน" ของ ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล โดยมีตัวละครหลักในการดำเนินเรื่อง ได้แก่ "จ่าแรม" ตำรวจไทย กับ "นักรบกะเหรี่ยง" กับชนกลุ่มน้อย โดยทั้ง 2 ตัวละคร รู้ทั้งรู้ว่าการกระทำของเขาผิดทางกฎหมาย ทั้งการช่วยเหลือและการรุกล้ำดินแดนและอธิปไตย แต่ด้วยความสำนึกของมนุษยธรรมของจ่าแรม ที่เห็นชนกลุ่มน้อยผู้เป็นเหยื่อกระสุนของทหารเผด็จการพม่าอย่างไม่มีทางต่อสู้

 

          ถือได้ว่า ธีรภาพ โลหิตกุล ได้เขียนสารคดีเรื่องนี้ ที่จะเสนอประเด็นเรื่องราวประสบการณ์ที่ตัวละครได้พบเจอที่สะท้อนบทบาทเพื่อนบ้านระหว่างไทยและพม่า ผ่านการทรงจำที่ได้รับจากสิ่ง ๆ หนึ่งรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนของชนกลุ่มชาติพันธุ์ และระบบเผด็จการในการคุกคามมนุษย์ด้วยกันเอง

 

          ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน มีกลวิธีการดำเนินเรื่องที่มีการใช้โวหารภาพพจน์ ไม่ว่าจะเป็นการบรรยายสถานที่ บุคคล ธรรมชาติ อารมณ์ความรู้สึก หรือแม้แต่เหตุการณ์ โดยผ่านตัวละครในเรื่องนี้ที่เรียกตัวเองว่า "ข้าพเจ้า" ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งในขณะนั้นเขาอยู่ในช่วงเหตุการณ์ การประท้วงต่อการกลับมาของ ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519

 

          จากการดูภาพยนตร์เรื่อง "มือปืน 2 สาละวิน" ทำให้เรารู้สึกแบบเดียวกันกับเหตุการณ์ต่างๆ ทั้งในภาพยนตร์และจากการพบเห็นในหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่เหตุการณ์จริง ณ วันที่ 5-6 ตุลาคม พุทธศักราช 2519

 

          ธีรภาพ โลหิตกุล ได้สร้างการดำเนินเรื่องผ่านคนอ่อนไหวต่อความรู้สึก และได้ใช้พรรณนาโวหารผ่านทางบทบาทของตัวดำเนินเรื่อง กล่าวถึงอารมณ์อย่างละเอียด สอดแทรกความรู้สึกเพื่อให้ผู้รับสารเกิดภาพพจน์ เกิดอารมณ์คล้อยตามไปด้วย ดังเนื้อความต่อไปนี้ "เป็นเวลาเนิ่นนานที่รู้สึกแขนขาชาไปหมด หยดน้ำใสๆ ไหลออกมาพรากแก้มเป็นทางยิ่งพยายามหลับตาระงับความรู้สึก ก็เหมือนยิ่งไปยั่วยุความรู้สึกส่วนลึกให้ปะทุออก"

 

          โดยภาพรวมแล้ว ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน ของ ธีรภาพ โลหิตกุล สะท้อนให้เห็นอยู่ 2 เรื่องหลัก เรื่องแรกเกี่ยวกับ การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ต่อเพื่อนบ้าน สิ่งๆ เหล่านี้ทำให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างกัน ทำให้เกิดการเข้าใจและแน่นแฟ้นผ่านการช่วยเหลือซึ่งกันและกันถึงแม้จะผิดกฎกติกาก็ตาม อีกทั้งช่วยลดอคติทางความคิด ชาติพันธุ์ ความเชื่อ อาจได้รับการลบเลือนไปบ้างไม่มากก็น้อย

 

          อาจกล่าวได้ว่าการให้ความช่วยเหลือเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ได้ทำให้มีความสัมพันธ์มากขึ้น เรื่องที่สองเกี่ยวกับการปกครองด้วยระบบเผด็จการทหาร การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจโดยทหาร เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ทั้งทางกายและจิตใจ

 

          ธีรภาพ โลหิตกุล ถือได้มีการวางแนวทางของเรื่องที่มีความตื่นเต้น และเร้าใจถึงแม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ใกล้ชิดเหตุการณ์จริงในการสู้รบแต่สามารถเชื่อมโยงจากการรับชมภาพยนตร์ และได้โยงเข้ากับความทรงจำและประสบการณ์ที่เขาได้เห็นและพบเจอในชีวิต และเห็นได้ว่าตัวละครไม่สนับสนุนแก่อำนาจเผด็จการ แต่ปัจจุบันประเทศไทยได้ "หยุดเวลาเพื่อสร้างประชาธิปไตย" หรือเป็นการ "ซื้อเวลาเพื่อหยุดประชาธิปไตย" ใครก็ได้ช่วยตอบผมที

 

 

ประสบการณ์ น้ำตา สาละวิน : ครั้งหนึ่งในความทรงจำ
บทวิจารณ์ โดย นายณัฐ ต้องรักชาติ
โครงการ “อ่าน  เขียน  เรียนรู้  สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ