Review: Magic Study : เซ็ตติ้งนิยายที่ดีต้องมีประเด็นให้เล่นเยอะ

Review: Magic Study

                จากรีวิว Poison Study พาร์ทที่แล้ว เคยบอกไว้ว่านี่คือดาร์กแฟนตาซี

                บางคนอาจจะคิดว่า แค่นี้ดาร์กแล้วเหรอ

                Magic Study จะทำให้คุณสยองกว่านั้น

                ใครจะอ่านภาคนี้ก็เตรียมใจให้ดี ภาคนี้คือความยากลำบากที่สุดของเยเลนาที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้

               

                ความดีงามข้อหนึ่งของซีรีย์ STUDY คือพัฒนาการของตัวละคร โดยเฉพาะเยเลนา

                มันเป็นเหตุผลว่าทำไมซีรีย์นี้จำเป็นต้องใช้ดาร์กแฟนตาซีเป็นธีมหลัก

                เรื่องราวเริ่มต้นจากเด็กสาวที่เป็นเหยื่อทารุณกรรมคนหนึ่ง เธอคือตัวแทนของเด็กผู้หญิงอีกหลายคนที่ประสบชะตากรรมเดียวกัน

                มันคือบทพิสูจน์ที่เธอต้องเอาชนะเพื่อการเติบโตและแสวงหาความหวัง

                นิยายเรื่องนี้กระตุ้นเตือนให้เรามองไปข้างหน้า ตราบใดที่ยังมีชีวิต เมื่อนั้นก็ยังมีหวัง

                แต่การเอาชนะอุปสรรคก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นคือโจทย์ที่เยเลนาต้องเผชิญ

                มันไม่ใช่แค่มีพลังใจก็ทำได้ทุกอย่าง ชีวิตมันไม่ง่ายขนาดนั้น

                ตรงนี้ถือว่าเยเลนาโชคดี โชคดีที่ยังมีชีวิตอยู่ นี่คือโชคดีข้อแรก ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญ

                โชคดีข้อต่อมาคือเธอมีมิตรสหายคอยอยู่เคียงข้าง มีคนรักพยุงช่วยเหลือและให้กำลังใจ มีครอบครัวที่คอยเป็นห่วงเป็นใย

                ซึ่งก็นั่นแหละ โชคดีเช่นนี้จะไม่เกิดถ้าเธอชิงตายไปซะก่อน โชคดีเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะเยเลนาเริ่มต้นจากความเข้มแข็งและอดทน

 

                เรื่องราวของ Magic Study เริ่มต้นที่เมืองซิเทีย ซึ่งคือบ้านเกิดของเยเลนาที่พลัดพรากจากมา ทำให้เธอได้เจอญาติพี่น้องและพ่อแม่ที่ตัวเองก็จำไม่ได้เพราะความจำวัยเด็กถูกผนึกไว้

                อธิบายฉากก่อน

                เมืองอิเซียจากภาคแรกเป็นแบบสังคมเมือง ทุกคนมีหน้าที่ตามที่รัฐบาลกำหนดโดยแยกแยะตามความสามารถ

                มีการจัดสรรเขตให้พวกนายพลดูแลปกครอง ทุกอย่างมีกฎระเบียบและขั้นตอน

                ประเทศอิเซียตั้งอยู่เขตหนาวทางตอนเหนือ อากาศเย็นระดับทารุณ  

                เพราะต้องเอาตัวรอดในสภาพอากาศที่โหดร้ายนี่เองทำให้คนอิเซียเป็นพวกมีวินัยสูง

                ชาวซิเทียบางครั้งก็เรียกชาวอิเซียว่าคนเหนือ

 

                ส่วนซิเทียบ้านเกิดของเยเลนาเป็นลักษณะแบบชนเผ่า มีหลากหลายชนเผ่าหลากหลายวัฒนธรรม

                แต่ละชนเผ่าปกครองตนเองด้วยกฎระเบียบของตนเอง แต่มีสภากลางเป็นที่รวมประชุมตัวแทนของทุกเผ่า

                ทำให้ซิเทียมีลักษณะแบบสาธารณรัฐ ใช้สภาตัดสินข้อพิพาทต่างๆ รวมถึงเป็นที่ทำการของจอมเวททั้งสี่

                ซิเทียเป็นพื้นที่ทุ่งหญ้าและป่าในเขตร้อน ชาวอิเซียส่วนใหญ่รักอิสระเหมือนม้าในทุ่งหญ้า

                เมืองต่างๆในซิเทียค่อนข้างวุ่นวาย ไม่ค่อยมีระเบียบเท่าไหร่ถ้าเทียบกับอิเซีย

                ลองนึกภาพชาวโดรธากีใน Game of Throne ก็ประมาณนั้นแหละ

                และเพราะอยู่ทางตอนใต้ของทวีป คนใต้ก็เลยหมายถึงชาวซิเทียไปโดยปริยาย

 

                ใครคนเหนือคนใต้ ดูสีผิวปราดเดียวก็รู้ ชาวอิเซียเป็นพวกผิวขาว ชาวซิเทียผิวเข้ม

                อย่างเช่นเยเลนาที่เปิดตัวในเล่มแรก ถึงไม่รู้ที่มาของตัวเองแต่ก็แน่ใจว่าเป็นชาวซิเทียแน่นอน

                ตอนรีวิวภาคแรกไม่ได้เจาะลึกส่วนนี้มากเพราะต้องรอฉากซิเทียในเล่มสองนี่แหละ

                ถ้าพูดถึงแต่อิเซีย มันก็ไม่มีตัวเปรียบเทียบความต่างไง

               

                ซีรีย์ STUDY เป็นวรรณกรรมแฟนตาซีที่โคตรร่วมสมัย เหมาะกับคนยุคนี้มากๆ

                เซ็ตติ้งวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีตัวละครผิวสี ตัวละครหญิงโดดเด่น มีประเด็นทางการเมืองมากมาย พูดถึงการแบ่งชนชั้นวรรณะ ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ
                เป็นนิยายแฟนตาซีที่มีนัยยะทาง politics หลากหลายประเด็นมาก

 

                จักรวาลเวทมนตร์ใน STUDY ในเล่มสองเริ่มกว้างขึ้น จากเดิมที่เริ่มสัมผัสเวทมนตร์ได้ เยเลนาก็ทำอะไรได้มากขึ้น

                แต่เวทมนตร์ของเยเลนาไม่ตรงตามมาตรฐานของผู้ใช้เวททั่วไปเท่าไหร่

                ยกตัวอย่างเช่นนางจุดไฟไม่เป็น ทั้งที่เป็นเวทพื้นฐาน ใครๆ ก็ทำได้ แต่ดันใช้เวทระดับสูงที่คนอื่นทำไม่ได้ซะงั้น

                ความแปลกของเยเลนาคือใช้เวทมนตร์ด้วยสัญชาตญาณล้วนๆ ในตอนหลังทุกคนก็ตระหนักว่าตัวตนของเธอเป็นอันตราย เพราะเธอถือครองพลังต้องห้ามที่ทุกคนต้องหวั่นกลัว

                เพราะความแปลกแยกจากคนอื่นทำให้ใจเยเลนาไม่อยู่กับซิเทีย ไม่ใช่ว่าเธออยากกลับอิเซีย เธอแค่อยากอยู่กับวาเลคเท่านั้นเอง

                แต่สุดท้ายแล้วเยเลนาก็เลือกทำภารกิจของตนเองก่อน นั่นคือร่ำเรียนศาสตร์เวทมนตร์ให้สำเร็จ

                ในจุดนี้เองแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเยเลนา ต้องทนทำสิ่งที่ไม่อยากทำ ยอมละทิ้งความรักความชอบเพื่อภาระหน้าที่ เป็นสัญญาณของความเป็นผู้ใหญ่ที่เติบโตขึ้น

               

                ในภาคนี้มีตัวละครใหม่เพิ่มเข้ามา เป็นตัวละครที่สำคัญและน่าสนใจ

                มีอิทธิพลต่อเนื้อเรื่องและสร้างจุดเปลี่ยนยาวไปจนถึงภาคสามทีเดียว

                เขาคือคาฮิล เป็นหลานของกษัตริย์แห่งอิเซีย สายเลือดขัตติยะเพียงหนึ่งเดียวที่เหลือรอดจากเงื้อมมือวาเลคมาได้

                จุดมุ่งหมายมีเพียงหนึ่งเดียวคือทวงบัลลังก์คืนจากผู้บัญชาการ ตอนนี้ได้แต่ลี้ภัยอยู่ในซิเทีย และหาทางกอบกู้บ้านเมืองโดยอาศัยความช่วยเหลือจากสภาซิเทีย

                แต่ด้วยความที่คาฮิลเป็นแค่เด็กหนุ่มวัย 18 ก็เลยมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ค่อนข้างเยอะ

                เป็นเด็กหัวร้อนขี้โวยวายเอาแต่ใจ เจอกับเยเลนาครั้งแรกก็วุ่นวายหนักมาก

                คาฮิลมีคาแรคเตอร์แบบเทาๆ เขาไม่ใช่คนดีอะไร แต่ก็ไม่ได้เลวขั้นสุด เรียกได้ว่าถึงเกลียดก็เกลียดไม่ลง

                เป็นตัวละครที่มีโมเม้นท์น่าเห็นใจอยู่บ้าง เป็นส่วนผสมของอารมณ์โกรธแค้น ความถวิลหา ความไม่เข้าใจ ระคนกัน ประกอบกับสภาพความเป็นวัยรุ่น ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นตัวตนของคาฮิลอย่างที่เห็น

                เรียกว่ามีพาสชั่นสูงแต่วุฒิภาวะยังไม่พอ มีความพยายามแต่ก็ผิดที่ผิดทางตลอดเวลา เหมือนวัยรุ่นที่กำลังหลงทาง

 

                Magic Study เป็นส่วนที่น่าเศร้าที่สุดของซีรีย์เลยก็ว่าได้ แสดงความทุกข์ทรมานของเหยื่อผู้ถูกกระทำไว้ได้อย่างน่าประหวั่นใจ แต่ขณะเดียวกัน มิติต่างๆในเซ็ตติ้งของเรื่องราวก็มีความละเอียดลึกซึ้ง ผู้เขียนเสนอปมปัญหาของตัวละครได้น่าสนใจ ชวนเราอยากอ่านเรื่องราวในตอนต่อไปว่าความวุ่นวายทั้งหมดจะคลี่คลายลงอย่างไรในเล่มจบ

 

รีวิวภาค 1 Poison Study http://praphansarn.com/home/content/1526
รีวิวภาค 2 Magic Study   http://praphansarn.com/home/content/1543
รีวิวภาค 3 Fire Study       http://praphansarn.com/home/content/1567

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ