พฤติกรรมด้านมืดจากหนังสือ : รวมเรื่องสั้นของ อัญชัน

พฤติกรรมด้านมืดจากหนังสือ

 

โดย  ใน เขี่ยภาษา

 

          พฤติกรรมด้านมืดในวรรณกรรมเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาโครงสร้างของวรรณกรรมในด้านตัวละคร  ซึ่งพฤติกรรมด้านมืดเป็นแนวทางในการศึกษาวรรณกรรมเพื่อให้เห็นถึงสภาพสังคมที่ผู้เขียนวรรณกรรมได้รังสรรค์เป็นเรื่องราว   วรรณกรรมเกิดจากรากฐานของด้านดีและด้านมืด   เมื่อศึกษาวรรณกรรมทั้งสองด้านเราจะเห็นความสำคัญของวรรณกรรมอย่างถ่องแท้  พฤติกรรมด้านมืด เป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของสังคมอันเป็นชนวนความขัดแย้งการแตกแยก   จากการศึกษาหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด อัญมณีแห่งชีวิต  ของอัญชัน  พบว่าการนำเสนอพฤติกรรมด้านมืดของตัวละครนั้นเด่นชัดมาก    ซึ่งมีพฤติกรรมการฆ่า    การทารุณกรรม   การแสดงความเกลียดชังและความหวาดกลัวอย่างชัดเจน  ซึ่งอัญชันพยายามสะท้อนออกมาเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความชั่วดีในสังคม

 

คำสำคัญ

          การฆ่า

          การทารุณกรรม

          การแสดงความเกลียดชัง

          การแสดงความหวาดกลัว

 

          วรรณกรรมไทยโดยมากมักแต่งขึ้นเพื่อความสำเริงอารมณ์มากกว่าที่จะเสนอปัญหาชีวิตหรือปัญหาสังคมให้ผู้อ่านขบคิดหรือวิพากษ์วิจารณ์   สิ่งที่ผู้แต่งนำเสนอมักเป็นการชี้นำให้ผู้อ่านนำสิ่งที่ได้อ่านไปเสริมแต่งการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์และการกระทำที่ไม่เกิดโทษ 

            เรื่องสั้นเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนภาพสังคม  ซึ่งมักนำเสนอเรื่องราวหรือแง่มุมด้านบวกให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงใจ  ทำหน้าที่กล่อมให้ผู้อ่านได้รับความเพลิดเพลินและความรู้แง่คิดจากเรื่องราวที่สมมติขึ้นหรือสร้างสถานการณ์ขึ้น  เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนตั้งใจจะถ่ายทอดออกมา

            งานเขียนประเภทเรื่องสั้น  เป็นงานเขียนมุ่งเน้นเรื่องราวความเป็นจริงของสังคมทั้งด้านดีและร้ายเพื่อให้เห็นข้อเปรียบเทียบซึ่งกันและกัน  และเป็นข้อคิดของผู้อ่านจะได้ทราบความดีชั่วจากการนำเสนอผ่านพฤติกรรมตัวละครในเรื่องสั้น  แต่เป็นที่น่าแปลกใจว่ามีงานเขียนจำนวนมากที่มักนำเสนอภาพความรุนแรง  เช่น  การฆ่า การทารุณกรรม  ความกลัว  ฯลฯ  ความรุนแรงเหล่านี้ถือเป็นด้านมืดในวรรณกรรม(เสาวลักษณ์   อนันตศานต์,2548  :  157-158)

            พฤติกรรมด้านมืด  พบมากในวรรณกรรมปัจจุบันเพื่อที่จะสะท้อนแง่มุมบางแง่มุมของสังคมที่มีภาพลบ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าที่เหี้ยมโหด  การข่มขืนหรือการทารุณกรรม  เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มีอยู่จริงในสังคม  แต่คนในสังคมมักจะไม่นำมาพูดกันอย่างโจ่งแจ้ง เพราะคิดว่าไม่เหมาะสม  ดังนั้นวรรณกรรมปัจจุบันจึงเป็นตัวแทนด้านลบแล้วสะท้อนภาพของสังคมออกมาเผยแพร่ย่างมากมาย

            พฤติกรรมด้านมืด  คือ  พฤติกรรมของตัวละครที่แสดงความโหดร้ายออกมา  ซึ่งได้แก่  การฆ่า  การทารุณกรรม    การแสดงความเกลียดชังและความหวาดกลัว  (เสาวลักษณ์  อนันตศานต์,2548  :  157-158)

            วรรณกรรมปัจจุบันพยายามสะท้อนภาพด้านมืด  เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักและจำแนก  ตัดสินว่าสิ่งเหล่านั้นผิดจริง  เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดีจริงหรือมีนัยซ่อนเร้นแฝงไว้   ด้านมืดในวรรณกรรมจึงเป็นเหมือนแบบทดสอบทางด้านความคิดของผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

            อัญชัน  นักเขียนที่มีความสามารถในการอธิบายหรือใช้ภาษาเพื่อให้เกิดจินตนาการ งานเขียนของเธอมักสะท้อนภาพสังคมในมุมมองที่แปลกจากนักเขียนคนอื่น  เธอสามารถที่นำมุมเล็ก ๆ ในสังคมมาขยายเป็นเรื่องราวที่ผู้อ่านรู้สึกสะเทือนไปตามอักษรที่เธอเรียบเรียง    ในปี พ.ศ. 2528   “ แม่ครับ”  เรื่องสั้นเรื่องแรกที่เธอได้รับรางวัลจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย  “หม้อที่ขูดไม่ออก” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นประจำปี  พ.ศ. 2531  จากนิตยสารลลนา  และหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด  อัญมณีแห่งชีวิต  ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซี่ยน(ซีไรต์) ประจำปี  พ.ศ. 2533

            อัญมณีแห่งชีวิต  ของอัญชัน  เป็นงานเขียนที่สะท้อนสังคมด้านมืด  แสดงทัศนะเรื่องราวแง่มุมของสังคมให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความสำคัญของด้านมืดที่สังคมไม่แก้ไขและไม่ยอมทำความเข้าใจ  อัญชันเสนอภาพลบของสังคมได้อย่างชัดเจน   สร้างบรรยากาศและอารมณ์หลากหลายทั้งอ่อนหวาน  เศร้า  กร้าว  แกร่ง โหดร้าย  แม้กระทั้งสยองขวัญ (คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์,  2533 )

            บทความนี้เป็นการศึกษาและสำรวจอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมด้านมืดจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด อัญมณีแห่งชีวิต  ของอัญชัน เพื่อศึกษาพฤติกรรมการแสดงออกของตัวละครที่เป็นด้านลบว่าเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกเพื่ออะไร  โดยผู้เขียนได้อาศัยทฤษฏีการวิเคราะห์วรรณกรรมด้านมืด(เสาวลักษณ์  อนันตศานต์,2548 :  157-158) เป็นกรอบแนวคิดที่จะใช้ในการศึกษาครั้งนี้เพื่อเสนอมุมมองใหม่ของวิเคราะห์วรรณกรรมไทย

 

การฆ่าจากมุมมองของของอัญชัน

          พฤติกรรมที่ปรากฏในงานเขียนวรรณกรรมปัจจุบัน  มักแสดงพฤติกรรมของตัวละครในภาพลบเพื่อสะท้อนความเป็นจริงของสังคม  โดยงานเขียนหลายเรื่องเน้นย้ำ  เพื่อให้สังคมเปิดกว้างยอมนับเรื่องราวที่เกิดขึ้น 

            ในหนังสือรวมเรืองสั้นชุด  อัญมณีแห่งชีวิต ของอัญชัน  ประกอบไปด้วยเรื่องสั้นจำนวน  11  เรื่อง  เป็นเรื่องราวที่แสดงพฤติกรรมด้านมืดที่สะท้อนจากปัญหาทางสังคม  งานเขียนแต่ละเรื่องอธิบายและให้รายละเอียดมากจนรู้สึกสัมผัสได้และรับรู้ถึงสภาวะนั้น ๆ  ไปพร้อมกับเรื่องราวที่อัญชันนำเสนอ

            พฤติกรรมการฆ่า   ในความหมายของผู้เขียน  “การฆ่า”  หมายถึง  การทำให้ตาย  เป็นการแสดงพฤติกรรมการทำลายชีวิตของผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์  ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมปัจจุบันมากมาย 

            ชลธิรา   สัตยาวัฒนา( 2513 : 48)    ได้กล่าวถึงพฤติกรรมที่มุ่งไปสู่การฆ่าว่า เกิดจากสัญชาตญาณมนุษย์ที่มาจากความโกรธ  การแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวและการแสดงอำนาจทำลายหรือทำร้ายผู้อื่นโดยตรง

            ในประเด็นพฤติกรรมการฆ่า  จากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด อัญมณีแห่งชีวิต  ของอัญชัน  ได้สะท้อนพฤติกรรมด้านมืดในการฆ่า  ปรากฏในเรื่อง “ สมรภูมิ, เพื่อนร่วมเดินทาง คนนอกใบลาน” จากเรื่องสั้น 3  เรื่องนี้  อัญชันได้นำเสนอการฆ่าเป็นสองลักษณะคือ  การฆ่าคนและการฆ่าสัตว์

            การฆ่าคน  อัญชันไม่ได้นำเสนอภาพกลวิธีการฆ่าอย่างชัดเจนคือไม่ได้นำเสนอเหตุการณ์แต่เขานำเสนอผลที่เกิดขึ้นแล้ว “รอด”  ตัวละครจากเรื่อง “เพื่อร่วมเดินทาง” ได้ข่มขืนหญิงสาวแล้วทำการฆ่า  แต่อัญชันก็ไม่ได้นำเสนอภาพเหตุการณ์อย่างชัดเจน  เพียงแต่นำเสนอร่องรอยของการฆ่าให้ปรากฏไว้  “..เหมือนมือวางบนผ้าเปื้อนเลือดอีนั่น..”(หน้า 100 ) ซึ่งอัญชันทิ้งร่อยรอยการฆ่าไว้เพียงน้อยนิด  เพื่อจงใจให้ผู้อ่านแต่งแต้มกลวิธีการฆ่าของ “รอด” ตามแนวคิดของตนเอง  การฆ่าคนในเรื่องนี้ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ตัวละครของเรื่องฆ่าผู้อื่นตายแล้วท้ายสุดใช้ความคิดของตัวเองฆ่าตัวเอง  อัญชันพยายามพรรณนาความน่ากลัวสยดสยองของภาพความคิดตัวละคร  ที่ตัวละครสร้างขึ้นเองแล้วสุดท้าย “ ร่างอันปราศจากชีวิตของรอด.. แข็งอยู่ในท่าหมอบคุดคู้”(หน้า 115) อัญชันนำเสนอผลการฆ่าโดยอาศัยลักษณะของเวรกรรม  คือจากที่  “รอด”  เป็นผู้ฆ่าคนอื่นแล้ว“รอด”  ใช้ความคิดตัวเองฆ่าตัวเอง  ซึ่งเป็นการตอบแทนที่สาสมที่อัญชันนำเสนออกมาในรูปแบบการฆ่าคน  นอกจากนี้อัญชันยังนำเสนอภาพการฆ่าคนที่คิดว่ามีความผิด(แต่ไม่ผิด) ในเรื่อง “ คนบอกใบลาน “ เป็นเรื่องราวของ “ตาเหนาะ”  คนที่ไม่นับถือพระ   แล้วโดนชาวบ้านค่ำบาตร  ตาเหนาะไปพบเณรถูกงูกัดจึงช่วยอุ้มไปเพื่อขอความช่วยเหลือชาวบ้าน  แต่มรรคทายกเห็นคิดว่าตาเหนาะฆ่าเณร  “ไอ้เหนาะ  นั่นมึงนี่! มึงทำอะไรเณร เฮ้ย! หยุดเดี๋ยวนี้นะ” (หน้า 145) ตาเหนาะไม่หยุดเพราะกลัวจะช่วยเณรไม่ทัน  ยิ่งทำให้มรรคทายกที่ยังไม่รู้เรื่องสงสัยหนักเข้าไปอีก  สุดท้าย “ชายคนนั้นก็กลิ้งกระเสือกกระสน ฟุบลง  หัวทิ่มค้ำน้ำค้ำบกอยู่ครึ่งตัว  เห็นเลือดสีแดง ๆ ทะลักปรี่ออกมาจากรูแผลตรงขมับที่กระสุนปืนยาวเจาะ” (หน้า 146 ) ตาเหนาะโดนมรรคทายกฆ่าเพราะความเข้าใจผิด  อัญชันเสนอภาพถึงความตายของคนในสังคมว่าการฆ่านั้นจะเป็นการฆ่าที่สมกับความผิดหรือการฆ่าที่เกิดจากความเข้าใจผิด

            การฆ่าสัตว์  อัญชันได้นำเสนอการฆ่าที่หลายคนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา  หรือเป็นเรื่องปกติสำหรับการฆ่าสัตว์เล็กโดยเราลืมคิดถึงไปว่าเขาก็มีชีวิตเหมือนเรา  “สมรภูมิชีวิต”  เรื่องสั้นที่อัญชันนำเสนอเรื่องราวของการฆ่า  นำไปสู่ระบบห่วงโซ่ธรรมชาติ    ตัวละครตัวหนึ่งในเรื่องโดนมดแดงกัดแล้วเขาก็ใช้มือขยี้มดแดงตาย  ซึ่งดูแล้วมันออกจะเป็นเรื่องปกติของสังคมด้วยซ้ำ  แต่อัญชันกลับตอกย้ำการฆ่าครั้งนี้ให้น่ารักน่าชังเข้าไปอีก   โดยให้ชื่อตัวละครที่ฆ่ามดว่า “เจ้าหนู”  แสดงถึงความใสซื่อ  ความน่ารักน่าชังของตัวละคร  ฉะนั้นเมื่อ “ เจ้าหนู “ โดนมดแดงกัดแล้วเขาก็ขยี้มันจนตายจึงเป็นเรื่องราวปกติ  จากนั้นเจ้าหนูก็ไปตกปลาได้ปลาช่อนตัวใหญ่มือเอาปลาขึ้นจากน้ำ   มันดิ้นมากจนเจ้าหนูโกรธ “ ฉวยคันเบ็ดได้ไม่รอช้า  ก็แฉลบเข้าไปเปิดฝากระป๋อง  ลงมือเอาคันไม้ไผ่ฟาดหัวปลาเข้าเป้ก ๆ อีช่อนสิ้นแรงไป” (หน้า 89) เห็นได้ว่าอัญชันนำเสนอเรื่องราวการฆ่าที่ทุกคนเห็นว่าแสนจะธรรมดาเพราะเป็นความรู้สึกที่คิดว่าถูกจนเคยชินนั่นเอง  แล้วเจ้าหนูก็โดนงูกัดตายร่างเจ้าหนูตายใกล้กับต้นไม้  มดไปกัดแทะร่างเพื่อเอาไปเลี้ยงตัวอ่อน  นานวันผ่านไปคนก็มาแหย่ไข่มดแดงแล้วเริ่มวงจรการฆ่าอีกครั้งจากคน  เราจะเห็นได้ว่า  จากเรื่อง “ สมรภูมิ”  อัญชันพยายามเสนอให้มีความเท่าเทียมของชีวิตไม่ว่าคนหรือสัตว์  โดยสังเกตจากชื่อแต่ละฉาก  “ คน-สัตว์-คน” ซึ่งมี 3 ฉาก ทั้งสามฉากนำเสนอความเป็นชีวิตที่ไม่ได้แบ่งแยกว่าสัตว์หรือคนโดยอาศัยการฆ่าเป็นเครื่องบ่งถึงความเท่าเทียม

            พฤติกรรมด้านมืดในด้านการฆ่า  เราจะเห็นได้ว่าอัญชันนำเสนอการฆ่าสามแง่มุม  ประการแรกเป็นการฆ่าที่ต้องมีการชดเชย  ประการที่สองคือ เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมของสิ่งมีชีวิต  ประการสุดท้ายคือ ชื้ข้อสังเกตว่าเป็นการฆ่าที่สาสมกับความผิดหรือฆ่าเพราะเข้าใจผิด  พฤติกรรมด้านมืดในด้านการฆ่าที่ปรากฏในเรื่องสั้นชุดนี้จึงเป็นนัยบอกถึงแนวคิดหรือความโหยหาความยุติธรรมของชีวิตนั่นเอง

 

ทารุณกรรม : การกดขี่ข่มเหง

          พฤติกรรมที่ปรากฏในสังคมปัจจุบันที่ยังไม่มีทางแก้ไขได้อย่างหนึ่งคือ การทารุณกรรม  เพราะมนุษย์ไม่รู้จักการควบคุมพฤติกรรมตนเองทำให้เป็นที่เดือดร้อนของคนอื่น  ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์

            หนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “ อัญมณีแห่งชีวิต”  อัญชันพยายามสะท้อนภาพความทารุณกรรม  กดขี่ข่มเหงไว้อย่างชัดเจนในเรื่อง  “หม้อที่ขูดไม่ออก”    เป็นเรื่องสั้นที่มีความโดดเด่นในการ ทารุณกรรมกดขี่ข่มเหงเป็นอย่างยิ่ง   เพราะอัญชันได้เสนอภาพครอบครัวที่มีสามีเป็นผู้กระทำ  ภรรยาเป็นผู้ถูกกระทำและลูกเป็นผู้ตอกย้ำความบอบช้ำของแม่ 

            การทารุณกรรมที่เกิดขึ้นในเรื่อง “ หม้อที่ขูดไม่ออก” เป็นการทารุณที่สามีทำกับภรรยา ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมด้านมืดของตัวละครอย่างชัดเจน  จากเรื่องราวที่สามีจับได้ว่าภรรยาซ่อนหม้อที่ไหม้ไว้ใต้เตียงลูกจึงโดนสามีตบตี “ หล่อนรู้สึกตัวเองว่าถูกลากถูลู่ถูกังไปที่หน้าต่าง  แล้วถูกสามีจับเหวี่ยงออกไปกระทบขอบหน้าต่างดังโครม “ (หน้า 76) กระนั้นอัญชันก็ยังนำเสนอภาพการกดขี่โดยใช้วาจาให้ช้ำหนักเข้าไปอีก “อีกหนเดียว  นู่น  ลงไปคอหักอยู่ข้างล่างนู่นเลย  ได้ยินไหม” (หน้า 76 ) ลักษณะการทารุณกรรมที่ปรากฏเป็นการทารุณแบบซ้ำซากและต่อเนื่อง  

            การทารุณกรรมที่อัญชันนำเสนอเป็นปัญหาสังคมในด้านลบที่มีอยู่มากมาย  การล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน “ หม้อที่ขูดไม่ออก” จึงเป็นตัวแทนในการนำเสนอเรื่องราวการทารุณกรรม  การกดขี่ข่มเหงที่ยังปรากฏในสังคมทั่วไป

           

การแสดงความเกลียดชัง

          การแสดงพฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งที่พบในงานเขียนของอัญชัน    คือ การแสดงความเกลียดชัง  อัญชันเสนอภาพความเกลียดชังซึ่งเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่อัญชันมีความโดดเด่นในการถ่ายทอดพฤติกรรมด้านมืดออกมา

            การแสดงความเกลียดชัง  คือ  การแสดงพฤติกรรมความรังเกลียด  การไม่คบค้าสมาคม   การพูดด่า   พูดเหน็บแนม  ความอิจฉาริษยา   การแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงพอใจต่อบุคคลใดบุคลหนึ่งเพราะความอคติ

            “ ปลาหางเปีย” เรื่องราวที่เกิดจากความอิจฉาริษยาเพราะความไม่เข้าใจ  อัญชันให้ตัวละครแสดงอาการก้าวร้าว  กิริยาที่ไม่เหมาะสม   “ปล้อง”  เด็กสาวผู้ที่คิดมาโดยตลอดว่าไม่มีใครรักตนเอง  ทุกคนรัก“ป๊อด” น้องชายของเธอ  อัญชันจึงสอดใส่พฤติกรรมด้านมืดในการแสดงความเกลียดชัง  ความริษยา หลายครั้งที่ปล้องด่าน้องชายเพราะความเกลียดชัง “บอกว่าไม่ก็ไม่  หูแตกรึไงวะ” (หน้า 31) ใช้คำพูดด่าทอเพื่อแสดงอาการเกลียดชัง   เมื่อเกิดเหตุการณ์ทะเลาะกันญาติผู้ใหญ่ไปห้าม   ปล้องกับบอกว่า “ช่างกู”(หน้า34)  ซึ่งเป็นการแสดงความก้าวร้าวออกมาอย่างเด่นชัด

 

            

cr. https://www.gotoknow.org/posts/238464

สั่งซื้อหนังสือ : http://bookonline.praphansarn.com/home/detail/449

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ