จูลส์ เวิร์น : ผู้พัฒนาวิทยาศาสตร์ด้วยปลายปากกา

จูลส์ เวิร์น

ก่อนไฟดวงแรกจะถูกจุดขึ้น คงไม่มีคิดว่าหลอดไฟดวงกลมๆ เล็กๆ จะเข้ามาแทนที่ตะเกียงได้ แถมยังใช้งานได้ดีกว่า...หลายครั้งที่จินตนาการจากปลายปากกาของนักเขียนก็มีบทบาทต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์โลกได้ “จูลส์ เวิร์น” เจ้าของผลงาน “ใต้ทะเล 20,000 โยชน์” และ “80 วันรอบโลก” ก็นับเป็นหนึ่งในนั้น

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ก.พ.2371 เวิร์นถือกำเนิดขึ้นที่เมืองนองส์ ฝรั่งเศส เขาต้องเข้าเรียนกฎหมายตั้งแต่อายุ 20 ปี ตามความต้องการของบิดา แต่ด้วยความใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนมากกว่าทนายความ เวิร์นจึงหันไปจับงานเขียนโคลง กลอน บทละคร และนิยายสั้นเพื่อเลี้ยงชีพ จนสร้างความร้าวฉานให้กับสัมพันธภาพระหว่างพ่อผู้เป็นนักกฎหมายและเวิร์นผู้ต้องการยึดอาชีพนักเขียน 

แต่เวิร์นก็ยังคงมุ่งมั่นกับงานเขียนที่เขารักต่อไป

“นิยายวิทยาศาสตร์” (Science Fiction) หรือ “ไซไฟ” เรื่องแรกของเวิร์น คือ “5 สัปดาห์ในบอลลูน” (Five Weeks in a Ballon) ออกมาเมื่อปี 2406 ถือเป็นงานเขียนชิ้นแรกในแนวนี้ โดยมีกัลยาณมิตรอย่าง “เฮตเซล” (Hetzel) เจ้าของนิตยสารแนวผจญภัยสำหรับเด็กเป็นผู้เปิดพื้นที่บนถนนหนังสือให้แก่เขา และตามมาด้วยนิยายอีกกว่า 60 เรื่องตลอดชีวิตที่เขาแต่ง 

เวิร์นเขียนเรื่องอิงกับความสนใจของคนฝรั่งเศสในเวลานั้นที่มีกระแสในวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการสำรวจโลกใหม่มาก ซึ่งในเรื่อง 5 สัปดาห์ในบอลลูน เวิร์นถึงกับลงไปเรียนรู้เทคนิคการควบคุมบอลลูนจากเพื่อนนักบอลลูนมืออาชีพด้วยตัวเอง เพื่อให้การนำเสนอเรื่องราวของเขามีความกลมกลืนมากที่สุด 

ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเรื่องที่เขาแต่ง มักอิงหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างมีชั้นเชิง สมเหตุสมผล และมีความเป็นไปได้ทางเทคนิคมากกว่านักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นพี่อย่าง “เอ็ดการ์ อัลแลน โพ” (Edgar Allan Poe) ที่มีนิยายไซไฟในแนวเพ้อฝันแฟนตาซีเป็นส่วนใหญ่ รวมถึง “แมรี เชลลีย์” (Mary Shelley) ผู้แต่ง “แฟรงก์เกนสไตน์” (Frankenstein) ต้นแบบ “ผีชีวะ” ตนแรกของโลก ผลงานของเวิร์นจึงจับใจผู้อ่านได้ไม่ยากและขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพด้วยเวลาไม่นาน

ส่วนผลงานสร้างชื่อต่อๆ มาของเวิร์น เช่น “สู่ใจกลางพิภพ” (Journey to the Center of the Earth) ในปีถัดมา เวิร์นได้ไขปริศนาเมืองโบราณที่หายสาบสูญใต้พิภพอันมีสัตว์ประหลาดพำนักอยู่ให้นักอ่านได้รู้จัก 

“จากโลกถึงดวงจันทร์” (From the Earth to the Moon) ในปี พ.ศ.2409 ที่เปิดจินตนาการถึงห้วงอวกาศในยุคที่ยังไม่มีใครนึกออกว่า ยานอวกาศ จรวด และสภาพไร้น้ำหนักจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร 

ช่วงที่เวิร์นมีชีวิตอยู่นั้น ยานพาหนะที่วิ่งเร็วที่สุดคือ “ม้าเหล็ก” ทว่าเวิร์นกลับคำนวณการเดินทางสู่ดวงจันทร์ไว้ว่า ห่างจากโลก 384,300 ก.ม. ซึ่งต้องเดินเท้าถึง 8 ปี 282 วันจะถึง แต่ถ้าเดินทางด้วยรถไฟที่วิ่งด้วยอัตราเร็วคงที่ 60 ก.ม.ต่อชั่วโมง ก็จะใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนกว่าๆ และถ้าเดินทางด้วยความเร็วเท่าแสงเราจะถึงดวงจันทร์ได้แค่ 1 ใน 4 วินาทีเท่านั้น

งานของเวิร์นอีกเรื่องที่เป็นที่รู้จักกันดีคือ “ใต้ทะเล 20,000 โยชน์” (20,000 Leagues Under the Sea) เป็นผลงานที่เขาได้เปิดโลกการผจญภัยลี้ลับใต้สมุทรให้เป็นที่รู้จักของผู้อ่านทั่วไปในปีที่ 10 นับจาก 5 สัปดาห์ในบอลลูนออกเผยแพร่ ผ่านตัวละครอย่าง ศ.แอโรแนกซ์ (Aronax) นักชีววิทยาจากพิพิธภัณฑ์ปารีส กองไซล์ (Conceil) ชายผู้รับใช้ เน็ด แลนด์ (Ned Land) นายฉมวกผู้หุนหัน และกัปตันเรือดำน้ำทันสมัย “เนโม” (Nemo) ผู้เกลียดชังสงคราม โดยใช้เรือดำน้ำที่ชื่อ “นอติลุส” (Nautilus) เพื่อยุติสงคราม

แถมในตอนท้ายของเรื่อง นอติลุสยังถูกจู่โจมโดย “หมึกยักษ์” ที่ก้นทะเลลึกจนพวกเขาเกือบเอาชีวิตไม่รอด จินตนาการที่โดดเด่นที่สุดของเวิร์นในเรื่องนี้คือ เรือดำน้ำลำหรูของเนโม ซึ่งมีบ่อกำเนิดพลังงานด้วยหลักการเดียวกับดวงอาทิตย์ รวมถึงหลอดไฟส่องสว่างที่เย็นและไร้ไส้ ก่อนที่โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) จะประดิษฐ์หลอดไส้มาใช้งานอย่างแพร่หลายเป็นเวลาถึง 6 ปี

ขณะที่ผลงานที่โด่งดังมากที่สุดของเขาซึ่งคลอดออกมาในปีเดียวกันเกี่ยวกับการออกเดินทางรอบโลกไปกับนวัตกรรม “รถจักรไอน้ำ” แห่งยุคอุตสาหกรรม ที่เพิ่งมีการขุดคลองซุเอด (Suez) เสร็จใหม่ๆ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่เบิกทางให้การเดินทางรอบโลกเป็นจริงได้ในเรื่อง “80 วันรอบโลก” (Around the World in 80 Days) ผ่านเรื่องราวของฟีเลียส ฟอกก์ (Phileas Fogg) และพาซพาร์ทรู (Passepartout) ที่เดิมพันกับหัวหน้าสถาบันวิทยาศาสตร์หลวงถึงการเดินทางรอบโลกใน 80 วันด้วยเงินพนัน 20,000 ปอนด์ 

นิยายเรื่องนี้ทำยอดขายได้ถึง 108,000 เล่ม อีกทั้งยังส่งผลให้มุมมองของคนเราต่อโลกเปลี่ยนแปลงไป จากความคิดที่ว่าโลกใบนี้ช่างกว้างใหญ่เกินคณนา มาเป็นโลกใบเดิมที่เริ่มต้นเดินทางรอบโลกจากจุดหนึ่งแล้วกลับมายังจุดเดิมได้ในเวลาไม่ถึง 100 วัน

ขณะที่บทพิสูจน์หนึ่งที่แสดงให้เห็นความโชติช่วงแห่งจินตนาการของเวิร์นคือ การที่นิยายของเขาได้โลดแล่นออกมานอกหนังสือไปปรากฏบนจอแก้วและบนแผ่นเซลลูลอยด์ โดยในงานเขียนของเขา 2 เรื่องหลัง คือ ใต้ทะเล 20,000 โยชน์ และ 80 วันรอบโลก ทางฮอลลีวูดได้นำไปทำเป็นภาพยนตร์ออกฉายแล้วในปี พ.ศ. 2497 และ ปี พ.ศ.2547 ตามลำดับ ทำให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสสัมผัสกับจินตนาการแห่งเวิร์นด้วย

นอกจากนั้นแล้ว เวิร์นยังมีผลงานแนวไซไฟเรื่อง “การรุกรานของทะเล” (Invasion of the Sea) ในปี พ.ศ.2448 ด้วย โดยเชื่อกันว่าเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายของเขา ทว่าเมื่อเร็วๆ นี้ยังได้มีการค้นพบนิยายวิทยาศาสตร์อีกเรื่องในรุ่นเหลนของเวิร์นคือ “ปารีสในศตววรษที่ 20” (Paris in the 20 th Century) ซึ่งเผยภาพจินตนาการของเวิร์นว่า นับจากเวลาที่เขาแต่งไปอีกไม่กี่ปีจะมีนวัตกรรมอย่างตึกระฟ้า รถไฟความเร็วสูง เครื่องคิดเลข และโทรสารไว้ใช้งาน พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าขบคิดว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เคยเป็นพระเอกในยุคหนึ่งก็มีแง่มุมในด้านมืดแอบซ่อนอยู่เช่นกัน

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุปตระกุล นักวิทยาศาสตร์และนักเขียนผู้บุกเบิกนิยายวิทยาศาสตร์คนแรกๆ ของเมืองไทย ได้ให้ทรรศนะเกี่ยวกับเวิร์นผ่านงานเขียนของเขาที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร “สารคดี” ถึงเหตุผลที่เราสามารถยกย่องเวิร์นว่าเป็นบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มปากว่า เวิร์นเป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์คนแรกของโลกที่ยึดอาชีพนักเขียนเป็นอาชีพ และเขายังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อยู่ในวงการนิยายวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ทั้งนักเขียนและรวมไปถึงผู้จัดทำหนังสือ 

นอกเหนือไปจากนั้น เวิร์นยังเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง ที่ได้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เขาจะเขียนจนแตกฉานก่อนจึงจะเริ่มจับปากกาเล่าเรื่อง ทั้งนี้เพื่อให้งานของเขามีความสมจริงและสมเหตุสมผลมากที่สุด เช่น การคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสิ่งประดิษฐ์และเครื่องจักรกลที่ล้ำสมัยกว่ายุคที่เขาอยู่มาก อย่างเรือดำน้ำในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457 -2451) ขณะเดียวกันงานเขียนของเวิร์นยังไม่เคยหยุดนิ่ง แต่มีพัฒนาการด้านมุมมองและสะท้อนถึงการติดตามข่าวสาร รวมถึงการตามติดในความสนใจใคร่รู้ของผู้คนในสังคมเป็นอย่างดี

“แม้จูลส์ เวิร์น จะมีชื่อเสียงจากการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ แต่จูลส์ เวิร์น ก็มิใช่นักวิทยาศาสตร์ บิดาของเขามีอาชีพเป็นนักกฎหมาย และหวังจะให้ลูกชายเจริญรอยตาม เส้นทางการศึกษาของจูล เวิร์น จึงมุ่งเป้าสู่อาชีพนี้ ทว่าในท้ายที่สุดด้วยใจรัก จูลส์ เวิร์น ก็หันเหสู่อาชีพนักเขียนจนได้ และทำได้อย่างดีด้วย” รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ว่า

ในบั้นปลายชีวิต เวิร์นถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและร่ำรวยมาก เขามีเรือยอทช์ลำใหญ่เป็นของตัวเองเพื่อเป็นพาหนะนำเขาสู่การค้นพบในโลกอันกว้างที่เขายังไม่มีโอกาสได้เห็น ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวานในวันที่ 24 มี.ค.ปีพ.ศ. 2448 เมื่ออายุได้ 77 ปี 

เวิร์นยังเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญของ “เฮอร์เบิร์ต จอร์ส เวลส์” (H.G.Wels) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ผู้ถือครองตำแหน่งบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์โลกคู่กับเขา ซึ่งเวลส์ก็ได้ต่อยอดประกายจินตนาการนิยายวิทยาศาสตร์ของเวิร์นให้โดดเด่นยิ่งกว่าในท้ายที่สุด เหมือนอย่างที่เวิร์นเองเคยหลงใหลในนิยายวิทยาศาสตร์และยึดเอ็ดการ์ อัลแลน โพ เป็นแม่แบบมาแล้วในวัยหนุ่ม 

คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์ นักแปลหนังสือแนวประวัติศาสตร์ -วิทยาศาสตร์มืออาชีพ ซึ่งมีผลงานแปลชื้นสำคัญคือ “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” (An Inconvenient Truth) มองว่า ในแง่หนึ่งจูลส์ เวิร์น มีความคล้ายคลึงมากกับอัล กอร์ (Al Gore) อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้เขียน “โลกร้อน ความจริงที่ไม่มีใครอยากฟัง” 

คุณากร บอกว่า เพราะทั้ง 2 ต่างได้ทำหน้าที่เชื่อมต่อองค์ความรู้วิชาการทางวิทยาศาสตร์ให้กับสังคมได้เสพและร่วมรับรู้ด้วยผลงานที่ไม่ใช่งานทางวิชาการในภาวะที่นักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีทักษะในการนำเสนอยังมีน้อย เพราะมีกรอบด้านจรรยาบรรณมากำหนดเวิร์นและกอร์ จึงทำหน้าที่เป็นคนกลางผู้หยิบยกประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่มีความยาก สลับซับซ้อนและถ่ายทอดให้ตรงความจริงได้ไม่ผิดเพี้ยนค่อนข้างลำบากมาแยกย่อยให้สังคมเข้าใจได้ง่ายขึ้น 

“เหมือนอย่างเรื่อง 5 สัปดาห์ในบอลลูน ที่เป็นการท่องโลก ทำให้เห็นลักษณะภูมิศาสตร์ใหม่ๆ ซึ่งคนในยุคนั้นคิดไม่ถึง หรือเรื่อง 80 รอบโลกที่ทำให้เห็นเรื่องของเส้นแบ่งเวลาซึ่งมีวิธีการนำเสนอที่แยบยล และเป็นหนังสือที่ผมยังโปรดปรานมาถึงวันนี้ โดยยังเป็นหนังสือที่สนุกที่สุดเล่มหนึ่งเท่าที่ผมเคยอ่าน หรือแม้กระทั่งเรื่องใต้ทะเล 20,000 โยชน์ที่มีเรือดำน้ำชื่อนอติลุสที่มีต้นแบบมาจากหอยแอมโมไนต์ ขณะที่เรื่องสู่ใจกลางพิภพก็เหมือนกันที่ว่ายังมีโลกที่สาบสูญไป ที่ทำให้คิดว่ามันเป็นไปได้ไหมที่มันจะยังคงอยู่ และยังมีพรมแดนไหนที่เรายังไม่สำรวจ” คุณากรอธิบาย

“ในแง่หนึ่งผมคิดว่า มันเป็นความหลงใหลของมนุษย์ที่คิดว่ามันยังมีโลกบางอย่างที่เรายังไม่รู้จักมันซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง เป็นทวีปเร้นลับอย่างที่เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) ผู้แต่งเชอร์ล็อก โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) นักเขียนรุ่นก่อนจูลส์ เวิร์น จะเกิด ซึ่งบอกว่ามีทวีปเร้นลับอยู่ในอเมซอน และที่นั่นมีไดโนเสาร์ แต่เมื่อมีการสำรวจทางภูมิศาสตร์จนพิสูจน์ได้แล้วว่าไม่มีจริงก็พูดไม่ได้แล้ว เวิร์นก็เสนอว่ามันอยู่ใต้โลก และเมื่อมีการพิสูจน์ว่าแนวคิดนี้เป็นไปไม่ได้อีก ต่อไปนี้จึงนำไปถึงเรื่องของไทม์ แมชชีน (The Time Machine) ซึ่งเป็นโลกที่คนถวิลหา อย่างการที่คนสมัยนี้นึกถึงคนไทยสมัยเก่าแล้วมองไปที่หลวงพระบาง” คุณากรว่า

“การอ่านหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์มันทำให้คนเรากล้าคิด กล้าที่ว่าฉันไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ ฉันไม่รู้หรอกว่าจะผิดหรือถูก แต่ฉันก็ไม่ได้นำมาเป็นข้อจำกัดว่าฉันจะคิด นั่นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราถูกสอนกันมาให้ท่องจำ ไม่ได้สอนให้คิด หนังสือนิยายวิทยาศาสตร์จึงเป็นเหมือนสนามเด็กเล่นทางความคิด” คุณากร ทิ้งท้ายเกี่ยวกับแง่มุมดีๆ ของนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งเวิร์นเป็น 1 ในผู้รังสรรค์คนสำคัญ

ศาสตร์ ศิลป์ และที่ขาดไม่ได้คือ “จินตนาการ” จากปลายปากกาของนักเขียนที่ชื่อ “จูลส์ เวิร์น” จึงพร้อมสรรพอยู่ในชิ้นงานของเขาอย่างครบครัน และเป็นเสน่ห์ดึงดูดผู้คนทุกยุคทุกสมัยไม่มีเสื่อมคลาย

 

 

ที่มา : https://mgronline.com/science

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ