รื่นรมย์ในโรงพิมพ์ : ว่าด้วยเรื่อง ยิ้มต้นเดือน

รื่นรมย์ในโรงพิมพ์

 

     “ยิ้มต้นเดือน” เป็นนิตยสารในรูปเล่มพอกเก็ตแมกาซีนอีกเล่มหนึ่งของโรงพิมพ์พลพันธ์การพิมพ์ โดยมี “เฮียชิว”หรือ “สุพล เตชะธาดา”เป็นเจ้าของ เช่นเดียวกับนิตยสารหัวอื่นๆที่สังกัดอยู่ในค่ายประพันธ์สาส์น อันที่จริงแล้ว “ยิ้มต้นเดือน”ฉบับแรกขนาดรูปเล่มจะเป็นหนังสือขนาดแปดหน้ายก ทำกันแบบจรยุทธคือไม่มีห้องหรือสำนักเป็นของตัวเอง แต่จะอาศัยห้องนั้นบ้างห้องนี้บ้างนั่นแหละ

 

“เฮียชิว”หรือ “สุพล เตชะธาดา”(ขวา)


         สำหรับเล่มแรกๆนั้นมี “ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ”หรือ “ชาย บางกอก”เป็นบรรณาธิการ ช่วงก่อนที่จะออกหนังสือเล่มนี้นั้น “ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ” หรือที่พวกเราในโรงพิมพ์เรียกกันจนติดปากว่า“พี่เสิด”จะมาโรงพิมพ์เพื่อวางแผนกับเฮียชิวตอนเย็นๆหลายครั้ง กว่านิตยสาร “ยิ้มต้นเดือน”จะคลอดออกมาได้
         สำหรับพี่เสิดนั้นถือเป็นนักเขียนอาวุโสที่มีชื่อเสียงอีกคนหนึ่ง ไม่ว่าจะในนามปากกา “ชาย บางกอก”หรือ “เพชร ชมพู”ก็ตาม และเป็นนักเขียนที่สนิทสนมกับ “เฮียชิว”มาก ราวกับเป็นเพื่อนที่สนิทกันเลยทีเดียว

         

“ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ”หรือ “ชาย บางกอก”(คนนั่งกลางแถวหน้า)

 

         พี่“ประเสริฐ พิจารณ์โสภณ”นอกจากจะเป็นนักมวยเก่าแล้ว หน้าตายังหล่อเหลาอีกด้วย ถ้าประกวดนักเขียนไทยที่รูปหล่อแล้วพี่เสิดจะต้องเข้ารอบสุดท้ายอย่างแน่นอน นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นคนที่แต่งตัวเนี๊ยบทุกกระเบียดนิ้วอีกด้วย ก็ยิ่งเสริมความหล่อเหลาให้เพิ่มมากขึ้น

         เวลาพี่เสิดมาโรงพิมพ์ ความหล่อเหลาจะฉายโชนให้เห็นนับตั้งแต่เดินเข้าซอยเลยทีเดียว เสื้อขาวแขนยาวที่สวมใส่จีบจะคมกริบ เช่นเดียวกับกางเกงที่ใส่ รวมทั้งทรงผมไปจนถึงรองเท้า ทุกอย่างจะต้องเนี๊ยบหมด  และเพราะอย่างนี้แหละ จึงดูหล่อสมบูรณ์แบบ จนทำให้พวกไม่ค่อยหล่อที่อยู่ในโรงพิมพ์มักจะแอบแซวกันเล่นๆ
         “เฮ้ย...พวกมึงเดินเฉียดใกล้พี่เสิดต้องระวังหน่อยนะ”
         “ทำไมล่ะ”
         “ก็จีบเสื้อของพี่เสิดมันคมน่ะสิ...เดี๋ยวมันบาดเอา”
         จากนั้นพวกปากไม่ค่อยดีบนโรงพิมพ์ก็จะส่งเสียงหัวเราะกันคิกคัก เมื่อพูดถึงจีบเสื้อของพี่เสริฐ

 

นิตยสาร “ยิ้มต้นเดือน”


          หนังสือ “ยิ้มต้นเดือน”ออกสตาร์ทตอนแรกน่าสนใจไม่น้อย แม้จะมีนักเขียนนักวาดการ์ตูนมาร่วมอย่างคับคั่ง แต่การแจ้งเกิดด้วยยอดขายนั้นไม่ง่าย เพราะในตลาดหนังสือบ้านเรามีหนังสือแนวฮิวเมอร์ที่ครองตลาดมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว ที่รู้จักและมีคนอ่านอย่างกว้างขวางก็คือ “ขายหัวเราะ”ของวิธิต อุตสาหจิต แห่งค่ายบรรลือสาส์นที่ออกมาตั้งแต่ปี2516 นอกจากนี้แล้วก็ยังมีอีกเล่มหนึ่งจากค่ายนี้นั่นคือนิตยสารมหาสนุก  ซึ่งค่ายนี้ประสบผลสำเร็จอย่างมากสำหรับหนังสือแนวตลกขบขัน และยึดแผงมาจนถึงทุกวันนี้

 

“พี่ต่วย”เจ้าของ “ต่วย’ตูน”กับผู้เขียน

 

           นิตยสารอีกเล่มที่ประสบผลสำเร็จอย่างมากในช่วงนั้นก็คือนิตยสารต่วย’ตูนของค่าย “พี่ต่วย” หรือ “วาทิน ปิ่นเฉลียว” เพราะเป็นนิตยสารแนวขบขันที่ค่อนข้างจะมีสาระ ทั้งต่วย’ตูนฉบับพอกเก็ตแมกาซีน และนิตยสารต่วย’ตูนฉบับพิเศษ โดยทั้งสองเล่มไม่ยุ่งการเมืองแต่มุ่งหัวเราะเอิ๊กอ๊ากอย่างมีสาระตามสไตล์พี่ต่วยอย่างเดียว นอกจากนี้แล้วนิตยสารต่วย’ตูน ยังเป็นศูนย์รวมนักเขียนสไตล์ขบขันทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดอีกด้วย ซึ่งอารมณ์ขันของพี่ต่วยที่ถ่ายทอดผ่านการวาดเส้นสายตัวการ์ตูนนั้น ถือเป็นการ์ตูนสถาปัตยกรรมที่ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากพี่ต่วยเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง
          ดังนั้น...การแจ้งเกิดของนิตยสาร “ยิ้มต้นเดือน”จึงไม่ง่าย เพราะเจอคู่แข่งเจ้าเก่าที่ครองตลาดมานาน ยิ่งนิตยสารออกไม่ตรงเวลาตามบุคลิกของบรรณาธิการที่มักจะเข้าโรงพิมพ์ภาคทไวไลท์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ “เฮียชิว”ต้องปวดหัวไม่น้อย  
         อย่างเช่นเย็นวันหนึ่ง....พี่เสิดเดินด้วยมาดหล่อเหลาเข้าซอยผ่านหน้าร้านเจ๊เหลี่ยนมาถึงโรงพิมพ์เกือบจะหนึ่งทุ่มภายในโรงพิมพ์พนักงานแผนกต่างๆกลับบ้านกันหมดแล้ว โดยเหลือบางแผนกเท่านั้น ส่วนแท่นพิมพ์ก็หยุดเครื่องเพราะพิมพ์งานมาทั้งวัน จึงทำให้บรรยากาศเงียบผิดปกติ

 

         เมื่อพี่เสิดเดินขึ้นมาบนชั้นสามของโรงพิมพ์ ซึ่งพวกกองบรรณาธิการต่างก็กลับบ้านกันจนหมด โดยเหลือเพียงพวกบรรณาธิการบางคนที่อาศัยหลับนอนอยู่ในโรงพิมพ์เท่านั้นที่นั่งพูดคุยอยู่กับเฮียชิวที่ห้องนิตยสารเรื่องจริง เมื่อพี่เสิดเปิดประตูโผล่หน้าเข้ามา จึงร้องถามเฮียชิวทันที
         “เฮ้ย....ไอ้ชิว...โรงพิมพ์ของมึงนี่มันไม่คนมาทำงานกันรึไงวะ”พี่เสิดถามด้วยความสงสัย เพราะเดินผ่านตั้งแต่ชั้นล่างจนถึงชั้นสามไม่เห็นมีพนักงานนั่นแหละ
          เฮียชิวลุกพรวดจากเก้าอี้ หน้านิ่วคิ้วขมวด และถอดแว่นตาออกอย่างรวดเร็ว
         “โธ่...พี่เสิ้ด”เฮียชิวลากเสียงแหบสูง พร้อมทั้งส่ายหน้า “พนักงานเขากลับบ้านหมดแล้ววววพี่เสิด...”
         “เร๊อะ”พี่เสิดทำหน้างง
         “ก็พี่เสิดเล่นมาทำงานตอนหนึ่งทุ่มจะเห็นอะไรล่ะ”จากนั้นเฮียชิวก็บ่นพึมพำไปตามเรื่องสักพัก ก่อนจะพากันมานั่งคลายเครียดที่ร้านเจ๊เหลี่ยน ซึ่งจากการที่หนังสือล่าช้าไม่ออกตรงเวลานั่นเอง  หลังจากนั้น “หยอย บางขุนพรหม”จึงเข้ามารับช่วงต่อจากพี่เสิดอีกที

 

“ยิ้มต้นเดือน”ยุคคึกคักด้วยนักเขียนน้อยใหญ่


        พี่เสิดหายหน้าจากโรงพิมพ์ไปสี่ห้าอาทิตย์ จนเฮียชิวสงสัยและอดเป็นห่วงไม่ได้
       “สงสัยจะไม่สบาย”เฮียชิวพูดขึ้นแล้วหันมาทางผู้เขียน“ไอ้ตุ๋ยเดี๋ยวเย็นนี้นั่งรถไปบ้านพี่เสิดกับเฮียหน่อย”
       เฮียชิวพาผู้เขียนขึ้นรถออกจากโรงพิมพ์มุ่งหน้าไปบ้านพี่เสิดที่แถวประชาชื่นราวๆหกโมงเย็น พอไปถึงบ้านเห็นพี่เสิดก็ต้องผิดคาด
      “ปัดโธ่...นึกว่าไม่สบายเสียอีก”เฮียชิวพูดเสียงแหบพร่า
      “อ้าว...ไอ้ชิว...มายังไงวะ...มาๆกูกำลังต้มปลากระบอกอยู่พอดีเลย”พี่เสิดซึ่งทั้งตัวใส่ผ้าขาวม้าผืนเดียว  กำลังง่วนอยู่กับหม้อต้มปลากระบอกบนเตาถ่านร้องทักเสียงดัง
       แล้วเฮียชิวก็หันมากระซิบเบาๆกับผู้เขียน “นึกว่าไม่สบายที่ไหนได้...”จากนั้นจึงบอกให้คนขับรถเอาเหล้าที่เก็บไว้ท้ายรถออกมาตั้งบนโต๊ะตัวหนึ่งที่        ใต้ถุนบ้าน...สรุปแล้วค่ำวันนั้นเรากินเหล้าแกล้มต้มปลากระบอกฝีมือพี่เสิดอย่างเอร็ดอร่อย จนกระทั่งสามทุ่มกว่าๆจึงพากันกลับโรงพิมพ์
      “ไอ้ห่า...เห็นพี่เสิดแล้วเหมือนเป็นนักเขียนยุคไม้ เมืองเดิมจริงๆว่ะ....นุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว...วันๆนั่งมองใบกล้วยไหว...”
       เฮียชิวพูดขึ้นขณะนั่งในรถ...แล้วตามด้วยเสียงหัวเราะดังลั่น

 

นิรันศักดิ์ บุญจันทร์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ