เฒ่าทะเล : The Old Man and the Sea

เฒ่าทะเล

 

เฒ่าทะเล (The Old Man and the Sea) เป็นผลงานวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม โดยเขียนที่ประเทศคิวบาในปีค.ศ.1951 และได้รับการจัดพิมพ์ครั้งแรกในปีค.ศ.1952 ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของเฮมิงเวย์ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องของชายชราคนหนึ่งผู้ออกหาปลาในประเทศคิวบา

 

เป็นเรื่องราวของประมงชราคนหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า "ซานติเอโก" ที่ได้ออกไปหาปลาแต่ก็ไม่สามารถจับปลามาได้ในช่วง 84 วันที่ผ่านมา เขามีเพื่อนต่างวัยเป็นเด็กชายคนหนึ่งชื่อ "มาโนลิน" ที่เสนอตัวช่วยหาปลา แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ยังไม่สามารถจับปลาได้อยู่ดี ภายหลังจากนั้น พ่อแม่ของมาโนลินให้ลูกของตนไปหางานอื่นทำแทน เมื่อมาโนลินกลับมาขอช่วยงานซานติเอโกอีกครั้งก็ถูกปฏิเสธก่อนที่จะได้รับการยินยอมครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งสุดท้าย ซานติเอโกขอพิสูจน์ตนเองด้วยการออกหาปลาตามลำพัง ในเบื้องต้นเขาจับได้แต่ปลาตัวเล็ก ทว่าในที่สุดเขาก็ได้พบกับ ปลามาร์ลิน (ปลากระโทงแทง) ขนาดยักษ์และมีความฉลาดเป็นพิเศษ เมื่อปลาติดเบ็ดแล้ว ปลากลับเป็นฝ่ายลากเรือไปเสียเอง ทำให้ซานติเอโกเริ่มนึกถึงมาโนลิน เขาอยากให้เด็กชายคนนี้มาช่วยเขาจับปลา

 

ซานติเอโกสู้กับปลายักษ์ตัวนี้ข้ามคืนถึงสามวัน และในเช้าวันที่สามนี้เอง ซานติเอโกตัดสินใจออกแรงเฮือกสุดท้ายโดยใช้ฉมวกปักเข้าที่กลางหลังของมัน ก่อนที่ปลายักษ์ตัวนี้จะสิ้นลม ซานติเอโกนำปลายักษ์ตัวนี้มาผูกไว้ที่ข้างเรือ แต่กลิ่นคาวเลือดของปลาทำให้ฝูงปลาฉลามเข้ามารายล้อม ซานติเอโกพยายามสู้กับพวกมัน แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะได้ เนื่องจากพวกมันมีมากเกินไป ซานติเอโกกลับมาพร้อมกับซากปลามาร์ลินที่เหลือแต่กระดูก ชาวบ้านที่มาพบเห็นถึงกับตกตะลึง เป็นอันว่าเขากลับมามือเปล่า ก่อนที่ซานติเอโกจะกลับเข้าไปนอนที่บ้านของตน นั่นเป็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่เขาได้รับชัยชนะ พร้อมกับความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน

 

แม้ว่าแฮมิงเวย์จะกล่าวว่าเรื่องที่เขาสร้างสรรค์ขึ้นมาจะมิได้ต้องการสื่อถึงแง่คิดใดๆก็ตาม แต่หลายคนที่ได้อ่านเรื่องนี้ต่างรู้สึกว่าแฮมิงเวย์ได้นำเสนอเรื่องราวที่เน้นถึงการมีจิตใจเป็นนักสู้ เพื่อชัยชนะและเพื่อความภาคภูมิใจในตนเอง และเป็นธรรมดาที่ชัยชนะนั้น อาจมาพร้อมกับความว่างเปล่าในบางช่วงของชีวิต

 

"เฒ่าทะเล" เป็นผลงานที่ส่งผลให้แฮมิงเวย์ได้รับรางวัลต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลพูลิตเซอร์ สำหรับผลงานด้านบันเทิงคดีที่ได้รับในปี ค.ศ.1953 และเขายังได้รับเหรียญรางวัล อะวอร์ดออฟเมอร์ริท สำหรับผลงานบันเทิงคดีจากสถาบัน อเมริกันอะคาเดมี่ออฟอาร์ทแอนด์เลทเทอร์ ในปีเดียวกันนี้ด้วย ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปีต่อมา

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ