หนังสือคือธนาคารความรู้ : พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙

หนังสือคือธนาคารความรู้

“หนังสือเป็นการสะสมความรู้และทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ได้สร้างมาทำมาคิดมาแต่โบราณกาลจนทุกวันนี้ หนังสือจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นคล้ายๆ ธนาคารความรู้และเป็นออมสิน เป็นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ก้าวหน้าได้โดยแท้”

 พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการอ่านที่ได้ทรงพระราชทานแก่คณะสมาชิกห้องสมุดทั่วประเทศ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2514

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีผู้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ “ในหลวงกับการอ่าน” เมื่อครั้งเปิดตัวโครงการ “เด็กไทยรวมใจอ่านถวายในหลวง 60 ล้านเล่ม” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กระดาษดั๊บเบิ้ลเอ และบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด

“ในชีวิตคนเรา พระองค์ทรงแนะนำว่า ให้อ่านกว้างๆ เยอะๆ และทรงแนะนำว่า ให้คิดว่าหนังสือที่เราอ่านเป็นความรู้ของคนอื่นยังไม่ประทับตราอยู่ในสมอง ซึ่งเป็นความรู้ของเรา เช่น เราอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง อ่านเสร็จเราไม่ได้คิดตามแล้วลืมไปหมดเลย แต่ถ้าเราอ่านแล้วคิดตามไปด้วย ใช้หลักเหตุผลจนกระทั่งเกิดเป็นความรู้ที่ประทับอยู่ในสมองของเรามันกลายมาเป็นความรู้ของเรา" ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย กล่าวพราะฉะนั้น ความรู้ในความหมายของพระองค์ท่านนั้น การอ่านมี 2 ระดับ คือ ระดับที่ 1 เราต้องไปอ่านความรู้คนอื่น ส่วนระดับที่ 2 เราเอามาคิดใคร่ครวญ จำไว้เป็นความคิดของเรา ตอนนี้เป็นสมบัติของเราใครเอาไปก็ไม่ได้ ก่อให้เกิดความรู้ หรือเรียกว่า “knowledge” และถ้าเชื่อมโยงความรู้ของเราที่มีอยู่ก่อนกับความรู้ใหม่ที่เข้ามา จะเกิดเป็น “ปัญญา” หรือเรียกว่า “wisdom” เรื่องสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือน คือ การเอาความรู้ไปใช้ พระองค์ท่านใช้คำว่า “ความฉลาดรู้” คือ รู้แล้วเอาไปใช้ได้ เพราะความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาด ความสามารถ และความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดการศึกษาหาความรู้ จึงสำคัญตรงที่ต้องศึกษาเพื่อให้เกิดความ “ฉลาดรู้” คือ รู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร จึงเรียกว่า “ฉลาดรู้” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “intelligent” โดยสรุปจึงแยกได้ 3 คำ คือ ความรู้ ปัญญา ความฉลาดรู้ ถ้าเป็นภาษาอังกฤษ ก็คือ “knowledge” “wisdom” และ “intelligent” โดย “intelligent” นั้นต้องเอาไปใช้ได้ด้วย

ข้อสรุปจากการศึกษาพระราชดำรัส คือ เกิดมาต้องอ่านหนังสือ เพราะหนังสือ คือ ธนาคารความรู้ที่มนุษย์ได้สั่งสมมาตั้งแต่โบราณกาล ถ้าไม่อ่านหนังสือจะไม่ฉลาด รู้ทันเหตุการณ์ เราต้องทั้งกว้างทั้งลึก มีเวลาว่างเมื่อไรก็หยิบหนังสือมาอ่าน เป็นการเอาความรู้จากคนอื่น และรู้จักเอามาแปลงเป็นความรู้ของตัวเอง เมื่ออ่านแล้วคิดด้วยเหตุผล เรียกว่า เป็นความรู้ภายในของเราเอง เมื่อได้ความรู้ใหม่แล้วต้องมาเชื่อมโยงกับความรู้เก่า ก่อให้เกิดเป็นปัญญา ถ้ารู้จักเอาไปใช้ ถือว่าเป็นความฉลาดรู้ เอาไปใช้อย่างชาญฉลาด องคมนตรี กล่าว 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เล่าอีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มา 70 ปี ทรงมีโครงการพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาให้แก่คนไทย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ประมาณ 3,000 โครงการ หากคนไทยจะตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านจะต้องทำอย่างไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงไม่ได้ต้องการอะไรจากพวกเรามากไปกว่าทรงต้องการให้พวกเราเป็นคนดีและรู้รักสามัคคีกันไว้ องคมนตรีแนะสิ่งหนึ่งที่คนไทยสามารถตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เวลาพระองค์ท่านสอนอะไร ควรนำมาศึกษาดูและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ท่าน ก็ถือว่าเป็นการตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านแล้ว ซึ่งคำว่า คำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากเรียกเป็นราชาศัพท์ว่า “พระบรมราโชวาท” แปลว่า คำสอน ตัวอย่างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาท “หนังสือเป็นธนาคารความรู้” หากจะรับสนองพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน องคมนตรีแนะให้หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงเรียน บ้าน วัด บริษัท และสถานที่ราชการทุกแห่ง ควรจัดให้มี “ธนาคารความรู้” หรือ “ห้องสมุด” ประจำโรงเรียน บ้าน วัด และหน่วยงานต่างๆ ทั้งนี้ หากมองในทางพัฒนาในความก้าวหน้าของมนุษย์ เพื่อให้ชีวิตมีความมั่นคง หนังสือมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งค้ำจุนชีวิตให้มีความสุขได้ ซึ่งหนังสือทั่วไปทุกอย่างทุกชนิด โดยเฉพาะทางวิชาการหมด ยกเว้นหนังสือที่ไม่ดี เช่น เคยมีหนังสือเล่มหนึ่ง ฝรั่งเขียนถึงวิธีฆ่าตัวตาย ถือเป็นหนังสือที่ไม่ดีและไม่มีประโยชน์

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน 2549 หน้า 11

 

Writer

The Reader by Praphansarn