คุยนอกรอบกับ จันทรา รัศมีทอง : เจ้าของผลงาน ความฝันของฉันทนา

คุยนอกรอบกับ จันทรา รัศมีทอง

 

“คุยนอกรอบ” วันนี้ เราจะพาคุณผู้อ่าน ไปพูดคุยกับนักเขียนรางวัลชมนาด ครั้งที่ 6 “จันทรา รัศมีทอง” เจ้าของผลงาน “ความฝันของฉันทนา” สารคดีเล่าชีวิตสาวโรงงานเย็บผ้า ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานรางวัลรองชนะเลิศ โครงการชมนาดครั้งที่ 6 (The Best of Non-Fiction) ผลงานสารคดีที่เล่าเรื่องราวของผู้เขียนที่ต้องเสียสละโอกาสทางการศึกษาให้กับน้องๆ และกลายมาเป็นสาวโรงงานเย็บผ้าที่อยู่ในสังคมที่มีทั้งมิตรภาพและการแข่งขัน การเรียนรู้และการอยู่รอดถูกเล่าควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเมืองไทย  

 

Q : เริ่มต้นงานเขียนเมื่อไหร่ อย่างไร

A : เริ่มงานเขียนเรื่องสั้นครั้ง พ.ศ.2548 ได้รางวัลชมเชยกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จากนั้นเว้นช่วงไป 3 ปี เพราะไม่ประสบความสำเร็จกับงาน 2 ชิ้น เลยเลิกไป แล้วมาเริ่มใหม่ทั้งเรื่องสั้นและนิยาย ปี2551 แล้วก็เขียนมาเรื่อยๆ ตกรอบบ้าง ได้รางวัลบ้าง

 

Q : รู้จักโครงการชมนาดได้อย่างไร และเพราะเหตุใดจึงตัดสินใจส่งผลงานเข้าประกวด

A : รู้จากการประชาสัมพันธ์ตามสื่อ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ ได้งานอ่านที่ได้รับรางวัลหลายเรื่อง เพราะชอบแนวสารคดีชีวิต ทีแรกไม่คิดจะส่งเพราะตัวเองเขียนสารคดีไม่เป็น แต่พอได้อ่านงานของคุณไหมพรม (ผู้เขียน “สองชีวิตหนึ่งใจ” รางวัลรองชนะเลิศชมนาด ครั้งที่ 5) เลยคิดว่าประมาณนี้เราน่าจะเล่าได้ โดยนำประสบการณ์ตั้งแต่เด็กและช่วงที่เข้าไปทำงานในโรงงานมาเขียน และก่อนหน้านั้นถูกปรามาสว่า เป็นแค่สาวฉันทนาเข้ามายุ่งในวงการวรรณกรรมทำไม เลยอยากเล่าสู่กันฟัง

 

Q : ในมุมของผู้เขียน ผู้เขียนคิดว่าหนังสือ “ความฝันของฉันทนา” จะช่วยสะท้อนปัญหาของสังคมในด้านใด และสะท้อนอย่างไร

A : สะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำให้คนจำนวนมากขาดโอกาสในการศึกษา ดังเช่นผู้เขียนและเพื่อนๆ ไม่ได้เรียนถึงระดับปริญญา เพราะความยากจน แม้พวกเราชาวโรงงานไม่ได้งอมืองอเท้า แต่รายได้ที่ไม่พอกับค่าใช้จ่ายก็เป็นปัญหา ซึ่งแต่ละคนจัดการกับปัญหาต่างกัน ผู้เขียนพยายามนำเสนอให้แก้ปัญหาด้วยการขยันและประหยัด ทั้งยังมีคนในสังคมบางกลุ่ม ดูแคลนอาชีพผู้ใช้แรงงาน เกิดความชิงชังรังเกียจ แม้จะเป็นอาชีพสุจริตก็ตาม

 

Q : จากการอ่านหนังสือเรื่องนี้ พบว่า “คำสอนจากเตี่ย” เป็นคุณค่าสำคัญอีกประการของหนังสือเล่มนี้ และสัมผัสได้ถึงความรักและความผูกพันของผู้เขียนที่มีต่อบิดา จึงอยากให้เล่าสู่ท่านผู้อ่านว่า ผู้เขียนคิดว่าคำสอนจากบิดา มีความสำคัญต่อชีวิตของผู้เขียนอย่างไร

A : ถึงเตี่ยเรียนน้อย แต่เป็นคนใฝ่รู้ ชอบอ่านหนังสือ เลยมีคำแนะนำอันเกิดจากประสบการณ์ มาสอนบ่อยๆ ถึงเดี๋ยวนี้ลูกๆ ก็ยังยึดคำสอนของเตี่ยเป็นเหมือนคัมภีร์ในการดำเนินชีวิต สำหรับผู้เขียนอาจสนิทกับเตี่ยมากกว่าลูกคนอื่น เพราะต้องช่วยกันทำมาหากิน มีปัญหาอะไรก็ปรึกษากันตลอด ทุกวันนี้ยังเสียดายที่เตี่ยจากไปกะทันหัน ลูกๆ บ่นเสมอว่ายังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณให้สมกับสิ่งที่เตี่ยให้เรามา ความสำเร็จของลูกทุกคนวันนี้ เกิดจากคำสอนที่ได้รับจากเตี่ยทั้งนั้น เตี่ยเคยบอกว่าสอนปากเปียกปากแฉะ แต่ถ้าลูกไม่เชื่อไม่ทำตามก็ไร้ประโยชน์ พี่เลยบอกว่าถ้าคำสอนไร้เหตุผลก็คงไม่มีใครทำตาม แต่คำสอนของเตี่ยเป็นเหตุเป็นผล ที่ลูกปฏิเสธไม่ได้

 

Q : รู้สึกอย่างไรเมื่อทราบว่าผลงานได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง โครงการชมนาด

A : ดีใจที่สุด เพราะรางวัลชมนาดเป็นรางวัลใหญ่ ที่จริงผู้เขียนหวังแค่ได้พิมพ์เผยแพร่ก็พอใจแล้วตอนได้รับแจ้ง ผู้เขียนรีบไปไหว้รูปเตี่ย บอกว่าคำสอนของเตี่ยจะได้ตีพิมพ์แล้วนะ อยากให้เตี่ยได้เห็นที่สุดเลย

 

Q : มีหลักในการพัฒนางานเขียนของตนเองอย่างไร

A : พยายามอ่านให้มาก แต่ไม่ใช่อ่านเพื่อลอกเลียนนะคะ แต่อ่านเพื่อศึกษาวิธีคิด ศึกษาการเลือกใช้ถ้อยคำ เมื่อก่อนใช้ภาษาแบบอ่อนหัด เดี๋ยวนี้ดีขึ้นหน่อย นอกจากนั้นยังต้องเป็นนักฟังที่ดี สมัยนี้มีคลิปคำอภิปรายจากครูบาอาจารย์ให้เลือกฟังเยอะแยะ กวาดใบไม้ไปก็เปิดฟังได้ สำคัญที่สุดคือต้องเขียนบ่อยๆ ตกรอบหรือไม่ผ่านการพิจารณาจากบรรณาธิการก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการศึกษาค้นคว้ารูปแบบหนึ่ง ยิ่งเรียนน้อยยิ่งต้องขยันให้มากกว่าคนอื่น

 

Q : สุดท้ายอยากฝากถึงผู้อ่านที่สนใจโครงการชมนาดอย่างไรบ้าง

A : โครงการชมนาดมีเสน่ห์อย่างยิ่งตรงที่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้เขียนเอง หรือผู้เขียนเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว บางแง่มุมได้รับรู้แล้วถึงกับอ้าปากค้าง คิดว่าแบบนี้ก็มีด้วยหรือ ผู้เขียนอยากบอกว่าอะไรที่คุณไม่เคยเห็นไม่ใช่ว่าจะไม่มี ต่างคนต่างพบเห็นประสบการณ์ต่างกัน

 

สำหรับเพื่อนนักเขียนบางท่านที่บอกว่าชีวิตตนเองจืดชืดจนไม่น่าสนใจ  ขอเรียนว่าเราสามารถเล่าเรื่องของคนอื่นได้ค่ะ มาช่วยกันถ่ายทอดชีวิตจริงอันหลากหลาย เพื่อให้ผู้อ่านหนังสือที่ได้รับรางวัลชมนาด เต็มอิ่มกับแง่มุมชีวิต เพื่อการเรียนรู้ และสามารถนำไปปรับใช้ได้ด้วย

 

 

บทความโดย : ชฎาพรรณ บุญสิงห์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ