13 ปี สวนเงินมีมา : สร้างแนวคิดใหม่ สานสังคมสู่ความสุขที่ยั่งยืน

13 ปี สวนเงินมีมา

กลิ่นกาแฟหอมกรุ่น ในร้านหนังสือ ตรงข้ามวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เชื้อเชิญให้ผู้คนที่ร่างกายกำลังปะทะกับแดดร้อนๆ ในยามบ่ายได้เข้ามาพักผ่อน ในดินแดนแสนสงบแห่งนี้ ซึ่งหลายคนขนานนามว่าเป็น ‘สวนแห่งปัญญา’

 

 

ที่เบื้องหน้าเป็นหญิงสาวสวมแว่น ในชุดเสื้อยืดกางเกงยืน กำลังนั่งอยู่ในท่วงทีสบายๆ เธอคือบุคคลที่ได้นัดหมายเอาไว้เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวของสำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อเดียวกับร้าน ซึ่งต่อสู้อยู่ในธุรกิจสิ่งพิมพ์มานานร่วมทศวรรษ และยึดมั่นในการผลิตงานที่ดีมีคุณภาพต่อสังคมไม่เปลี่ยนแปลง “สารภาพตามตรงเลยว่า เราทำธุรกิจไม่ค่อยเป็น” คุณวรนุช ชูเรืองสุข บรรณาธิการสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เอ่ยขึ้น พร้อมเสียงหัวเราะ เมื่อถูกถามถึงแนวทางการทำธุรกิจของสำนักพิมพ์แห่งนี้

 

 

แต่ที่อยู่ได้เป็นเพราะความมั่นคงในแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะประเภทของหนังสือที่สำนักพิมพ์คัดสรรมา โดยเฉพาะประเภทที่เปิดมุมมองใหม่ๆ ให้แก่สังคม หรือแนวคิดที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่คนไทยยังไม่คุ้นเคย บวกกับการสนับสนุนของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความปรารถนาดี อยากที่จะให้มีหนังสือประเภทนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยบ้าง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2544 กลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งทำงานอาสาสมัครมายาวนาน ได้ช่วยกันก่อร่างสร้างแหล่งผลิตความรู้ขนาดย่อมๆ ขึ้นบนที่ดินย่านคลองสาน อันเป็นสมบัติดั้งเดิมของ 3 หญิงชรา ‘ยายเงิน’ ‘ยายมี’ และ ‘ยายมา’ ผู้มีศักดิ์เป็นยายของ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยมีลูกศิษย์ลูกหาของปราชญ์สยามผู้นี้ช่วยกันเติมฝันด้วยการลงขัน จนเกิดเป็นบริษัท สวนเงินมีมา จำกัด ขึ้นมาในที่สุด
“แต่ก่อน พวกเราทำงานอยู่ที่เสมสิกขาลัย ซึ่งอยู่ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป โดยมี อ.สุลักษณ์เป็นประธาน แล้วอาจารย์เองก็จะมีโครงการอบรมอะไรมากมาย โดยเรื่องความรู้ด้านทุนนิยมซึ่งกำลังเป็นปัญหามาก เรื่องโลกาภิวัตน์ เรื่องบริโภคนิยม หรือการศึกษาทางเลือก แต่เรื่องของเรื่องคือ เวลาจัดอบรมกันทีหนึ่ง ทุกคนก็ลืมเนื้อหาที่ในคอร์สกันหมด เราก็เลยคิดวิธีที่จะทำให้ความรู้นั้นอยู่ได้ยั่งยืน เป็นรูปธรรม และเผยแพร่ได้ในวงกว้าง ก็เลยเรียนกับอาจารย์ว่าอยากจะขอเรี่ยไรทุนแล้วมาตั้งเป็นสำนักพิมพ์ โดยให้อาจารย์มานั่งเป็นประธาน จากนั้น เราก็รวบรวมสิ่งที่เป็นต่างๆ ที่เคยทำสมัยเสมฯ มาแปรรูปมาเป็นหนังสือ ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ตัวอาจารย์ค่อนข้างจะมีคอนเน็กชันที่กว้างขวาง เราก็เลยได้ต้นฉบับที่ใหม่ ที่นำกระแส ซึ่งบ้านเราไม่ค่อยจะมีมาพิมพ์เป็นภาษาไทย”

ความปรารถนาที่คุณวรนุชและทีมงานวาดหวังจะให้สวนเงินมีมาเป็น ก็คือ การเป็นผู้ประกอบการสังคมที่มีบทบาทในชี้ทางเลือกให้เกิดขึ้นในสังคม ช่วยเขยิบช่องว่างระหว่างความเป็นเมืองกับชนบทให้แคบลง เพราะต้องยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ เรื่องนี้เป็นปัญหามากในสังคมไทย คนในเมืองจำนวนมากปรับตัวเองไปตามกระแสทุนแล้วทิ้งต่างจังหวัด ทิ้งความเป็นชนบทไปเลย เพราะฉะนั้นพวกเขาจึงรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องลดระยะห่างพวกนี้ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

ด้วยเหตุนี้ หนังสือของสวนเงินมีมาจึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์นี้โดยตรง เช่น การนำเสนอความคิดนำเข้าจากราชอาณาจักรภูฏาน อย่างเรื่อง Gross National Happiness (GNH) หรือความสุขมวลรวมประชาชาติ เพื่อใช้เป็นชี้วัดคุณภาพของประชากรภายในประเทศนั้น ควบคู่ไปกับ Gross Domestic Product (GDP) หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งมุ่งเน้นการวัดความเจริญของประเทศด้วยการพัฒนาทางด้านวัตถุเป็นหลัก หรือแม้แต่เรื่องเกษตรอินทรีย์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการปลูกผักเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องวิถีการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันว่า ควรจะทำอย่างไร ถึงจะอยู่บนโลกใบนี้อย่างเป็นสุขและรอดพ้นการครอบงำของระบบทุนนิยม

“หนังสือที่เราเลือกมามักจะเป็นงานที่ตัวอย่างให้เห็น อย่างงานของ จอห์น เลน (John Lane) ซึ่งเขาจะพูดถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนเมืองว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยที่เราไม่ต้องหลีกหนีไปอยู่ที่เชียงใหม่ หรือลงใต้ เพราะต้องยอมรับว่าบางทีพอย้ายไปแล้ว ไม่ทันไรคุณก็อาจจะต้องย้ายกลับมาอยู่ที่กรุงเทพฯ เหมือนเดิม เพราะภาพในอุดมคติกับภาพจริงๆ ที่เขาลงไปเห็นมันไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเวลาเรามองสังคมเกษตร เราก็มักจะมองว่าเขาเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ แต่ทุกวันนี้เขาปรับตัวแล้ว เขาใช้ Line กันเป็นเรื่องปกติมาก ซึ่งภาพเหล่านี้มันไกลกว่าภาพฝันที่คนในเมืองมองค่อนข้างมาก

“โดยประเด็นหลักๆ ที่ทางสวนเงินมีมาเลือกมาทำ ส่วนมากก็จะเป็นประเด็นเชิงสังคม เช่นการศึกษาทางเลือก อย่าง Wardorf หรือ Summer Hill หรือเรื่องการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นงานที่พวกเขาถนัดอยู่แล้ว เนื่องทำต่อเนื่องมาตั้งแต่อยู่ที่มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ขณะเดียวกันก็มีการเปิดรับงานใหม่ๆ ซึ่งเป็นงานเชิงจิตวิญญาณ ศาสนธรรม ชีวิตเมืองที่สร้างสรรค์ หรือองค์ความรู้แนวใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เรื่องคนและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งมองแตกต่างจากเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มองเรื่องกำไร-ขาดทุนเป็นหลัก หรือวิทยาศาสตร์กับพระพุทธศาสนา ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ถ้าจะว่าไปแล้วไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย และเป็นสิ่งที่สากลโลกประสบเหมือนกันหมด ดังนั้นถึงต้นฉบับบางชิ้นจะถูกแปลขึ้นจากภาษาต่างประเทศ แต่ถ้าตั้งใจอ่าน ก็จะพบว่าสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตได้จริงๆ

ทว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ ก็เรียกว่าล้มลุกคลานกันหนักพอสมควร เพราะถึงงานเหล่านี้จะอิงกับวิธีชีวิตของผู้คนโดยตรง แต่ด้วยอคติที่เกิดขึ้นกับผู้อ่านจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่องหนังสือ ประเด็นที่นำเสนอ ภาษาที่ใช้ หรือแม้แต่ความหนาของตัวหนังสือ ก็ทำให้พวกเขารู้สึกขยาดและไม่กล้าหยิบ บางคนยังไม่อ่าน แต่ก็ตีความในใจเรียบร้อยแล้วว่า หนังสือของสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา ต้องเป็นงานที่เสพยากแน่ๆ ซึ่งดูเหมือนคุณวรนุชก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด
“ช่วงปีแรกๆ ที่เปิดก็มีปัญหาพอสมควร เพราะเราเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ ยังไม่มีใครรู้จัก คือถ้าสำนักพิมพ์ทางเลือกก็จะเป็นโกมลคีมทอง คบไฟ ซึ่งเขาเปิดมาประมาณ 30 ปีแล้ว และทำงานอะไรออกมาก็ไม่รู้ ศาสนธรรมแนวใหม่ เอาเรื่องวัชรยานมาพิมพ์ คนก็จะมองว่านี่จะเป็นกบฏต่อมหาเถรสมาคมหรือเปล่า “บางเรื่องเราอาจจะมองล่วงหน้าไปหน่อย เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อมมันไม่ได้เกิดฉับพลัน และบางทีก็ไม่ได้เกิดผลกระทบกับตัวคนตรงๆ อย่างเมื่อปี 2545 เราเคยทำเรื่อง สงครามน้ำ ซึ่งตอนนั้นในเมืองไทยปัญหายังไม่เกิด แต่ที่อินเดียหรือในยุโรป มันมีปัญหาเรื่องนี้เยอะมาก เพราะทรัพยากรมีจำกัด และเราก็เชื่อว่ายังไงสักวันมันก็ต้องขึ้นกับที่นี่ แต่คนเขายังมองไม่ออกไง ผลคือหนังสือมันขาดไม่ออก เราก็ต้องเอามาลดราคา 30-50 บาท คนก็เลยได้อ่านกันหน่อย”

บรรณาธิการหญิง เล่าความจริงที่เกิดขึ้นสลับไปกับเสียงหัวเราะ ราวกับว่ามันคือเรื่องตลกยังไงยังนั้น เพราะเมื่อมันเป็นจุดยืนของสำนักพิมพ์ก็ต้องทำ ทั้งๆ ที่ บางเรื่องที่เป็นประเด็นจับต้องไม่ได้เลย หรือเข้าถึงได้ยากมากก็ตาม
“เราพิมพ์สิ่งที่เป็นนามธรรมหลายเรื่อง เพราะเรามองว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันหมด เช่น วิทยาศาสตร์ก็อาจจะโยงกับจิตวิญญาณได้ เนื่องจากศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งนั้นคงไม่สามารถตอบคำถามได้หมดเลยว่า ความหมายชีวิตคืออะไร ทำไมถึงสิ่งเหล่านี้ขึ้นบนโลกใบนี้ ดังนั้นคุณก็ต้องใช้หลายๆ ศาสตร์เข้ามา ทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ อย่าง นักฟิสิกส์ที่เขาทำงานกับองค์ทะไลลามะเขาก็พิสูจน์แล้วว่า การทำงานของคลื่นสมอง จริงๆ มันมากไปกว่าแค่เซลล์ มันมีอย่างอื่นด้วย ซึ่งบางทีเครื่องมือก็จับไม่ได้ หรือเวลาที่เราพูดถึงปรัชญาทางพุทธศาสนากับปรัชญาทางฟิสิกส์ ถ้าไปพูดกับนักวิทยาศาสตร์กระแสหลัก เขาจะรับไม่ได้เลย เพราะมันไม่มีการทดลองมารองรับ แต่พวกนักฟิสิกส์ที่ศึกษาพุทธศาสนา เขาพยายามสร้างเครื่องมือทดลอง แล้วก็ทำการทดลองออกมา แล้วมันก็จะมีผลทางด้านวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งเราก็จะเอาหนังสือที่เขาเขียนเอามาทดลอง มาเผยแพร่ในบ้านเรา

“อย่างเล่มล่าสุด Catching the Light เป็นเรื่องฟิสิกส์ เรื่องแสงสี ซึ่งเขาบอกว่า ถึงตอนนี้ทางฟิสิกส์ก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า แสงคืออะไร สีคืออะไร ที่มาที่ไปมันเป็นอย่างไร แต่เขาบอกได้ว่า ในแต่ยุคแต่สมัย เขามองแสงกับสีในลักษณะใด ซึ่งคำตอบมันก็จะไปโยงกับสายจิตวิญญาณที่เขาก็มีเขียนไว้ในคัมภีร์ต่างๆ อีกเล่มคือ คือ The Quantum and the Lotus ซึ่งเป็นมุมมองเรื่องฟิสิกส์กับปรัชญาในพุทธศาสนา เรื่องการทำงานของจิตใจ ซึ่งมันมีงานทดลอง มีหลักฐาน มีข้อพิสูจน์ได้ แต่ว่าการนำเสนอ พวกสายกระแสหนัก เขาจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะเข้าใจมันมากน้อยแค่ไหนต้องอาศัยเวลา”

และหากประเด็นไหนที่เนื้อหายากมากเป็นพิเศษ ทางบรรณาธิการก็มีแผนสองรอบรับไว้คือ การสร้างฉบับภาษาไทยขึ้นอีกฉบับ ซึ่งไม่ใช่เป็นการย่อยงานแปล แต่เป็นการให้นักเขียน (ซึ่งเป็นคนไทย) นำเนื้อหาดั้งเดิมไปย่อยเสียใหม่ แล้วเขียนในรูปแบบของตัวเอง โดยมีตัวอย่างแบบไทยๆ ที่สามารถจับต้องได้
“ต้องยอมรับว่า เนื้อหาบางเล่มก็แข็งไปสำหรับสังคมบ้านเรา เราก็เอาเขียนใหม่เป็นงานเขียนภาษาไทยควบคู่กันไป ให้นักเขียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลอ้างอิงให้มันสัมผัสได้จริง ให้มันเห็นได้ง่าย อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม เราก็ทำเรื่องช้าๆ หน่อย กับเรื่องน้อยๆ หน่อย ซึ่งพูดถึงเรื่องวิถีชีวิตคนเมือง พูดถึงบริโภคนิยมที่สัมผัสได้ง่าย ว่าพอมีช่องทางอะไรบ้างที่เราจะเรียนรู้และตระหนักรู้ และลดได้ด้วยตนเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาหรือรณรงค์ปิดไฟ 1 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นงานของวันทนา ศิวะ (Vandana Shiva) ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกัน แต่คนเขาไม่อยากอ่าน คือจริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากหรอก แต่มันหนา เพราะเรื่องพวกนี้มีที่มาที่ไป จะให้เขียนจบสั้นๆ คงไม่ได้ แต่บ้านเรากลัวหนังสือหนาไง 300 หน้าขึ้นก็ไม่อ่านแล้ว แต่เราก็พยายามหาวิธีช่วย เช่น การมีภาพประกอบ แต่ถ้าประเด็นไหนที่ไม่สามารถทำให้ง่ายได้ ประเด็นยากยังไงก็ต้องยาก”

ซึ่งหลังจากพยายามผลิตอย่างอย่างต่อเนื่อง คุณวรนุชก็เริ่มมองว่า ธุรกิจวันนี้เริ่มอยู่ตัวมากขึ้น คือมีแฟนประจำ ซึ่งติดตามอ่านหนังสือของสวนเงินมีมาอย่างต่อเนื่อง หลายคนมีความเชื่อมั่น คือแค่เห็นโลโก้ของสวนเงินมีมาก็รับประกันได้เลยว่า เป็นหนังสือที่ดีและมีคุณภาพ และที่สำคัญยอดพิมพ์ประมาณ 2,000-3,000 เล่ม ก็ไม่ใช่ตัวเลขที่สูงไปนัก เมื่อเทียบกับประชากรบ้านเราที่มีสูงถึง 60 ล้านชีวิต
“ธุรกิจแบบนี้มันไม่ได้มีเงินก้อนโตให้หมุนเวียน แต่ยังมีเงินเหลือให้หมุนเวียนพอสำหรับพิมพ์ต้นฉบับเล่มใหม่ๆ ออกมา มันก็พออยู่ได้” หน่วยกล้าตายสาวจิบน้ำพลางอธิบายภาพรวมทางธุรกิจของสำนักพิมพ์แบบกระชับๆ ให้ฟัง

นอกจากการผลิตหนังสือออกมาแล้ว อีกขาหนึ่งที่ถือเป็นจุดแข็งมาตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์เลย ก็คือการจัดกิจกรรม และการอบรม ซึ่งประเด็นที่มีการจัดอบรม ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่สืบเนื่องมาจากหนังสือที่ทางสำนักพิมพ์ผลิตออกมา แล้วเห็นว่า เป็นประเด็นที่ค่อนข้างยาก หรือน่าจะสร้างเครือข่ายได้ต่อ อย่างเช่นเรื่องพระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ หรือนิเวศวิทยาเชิงลึก ซึ่งคนส่วนมากยังไม่เข้าใจ ก็จะมีการจัดเวทีถกกัน
“หลายเรื่องที่มีปัญหา เพราะติดอยู่ที่ภาษา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว บางเรื่องก็เป็นวิถีที่บ้านเราสมัยก่อนก็ใช้ เพียงแต่ว่ายังไม่นิยาม แล้วพอเราลืมวิถีของมันไปแล้วพยายามจะฟื้นขึ้นมาใหม่ เราก็ต้องเอาภาษาปัจจุบันหรือภาษาที่นักวิชาการเข้าใช้กันอยู่มาใช้อีกทีหนึ่ง เพื่ออธิบายของเก่าที่เราลืมไปแล้ว มันก็เลยค่อนข้างยาก”

บางเรื่องก็ต้องอาศัยการสร้างภาพตัวอย่างที่เห็นได้ชัด มีการลงพื้นที่ หรือการสร้างห้องทดลองเพื่อให้คนอ่านเห็นภาพ อย่างเรื่อง Community Supported Agriculture (CSA) หรือเรื่องเกษตรแบ่งปัน ซึ่งเป็นรูปแบบของกิจการทำธุรกิจการทำเกษตรอินทรีย์แนวใหม่ ซึ่งทั่วโลกมาตั้งแต่ยุค 1970 แล้ว แต่ในบ้านเราเพิ่งนำแนวคิดเข้ามา หลายคนก็ยังไม่ค่อยเข้าใจระบบเหล่านี้เท่าที่ควรว่า หากทำแล้วแล้วอยู่ได้อย่างไร หรือทำแล้วไม่ถูกเกษตรกรรมอุตสาหกรรมครอบงำ
“เราทำประเด็นเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง หลายประเด็นจึงได้ผล แม้อาจจะเหนื่อยไปหน่อย เพราะต้องอาศัยพลังค่อนข้างเยอะ อย่างเรื่องเกษตรอินทรีย์ ทำกิจกรรมและเสนอความคิดเป็นสิบๆ ปี แล้วก็ขับเคลื่อนขยายที่ทาง ขยายวง จากเดิมที่ทำในพื้นที่ของโรงพยาบาล พื้นที่ของตึกอาคารสูง อาคารสำนักงาน แล้วกลุ่มที่ทำเขาก็ไปขยายกลุ่มอีกที คล้ายๆ เป็นโดมิโน คือเราอาศัยเครือข่ายที่ทำงานด้วย เพราะตอนนี้เน็ตเวิร์กเราก็ค่อนข้างเยอะ มีเชื่อมโยงทั้ง 4 ภูมิภาค”

แน่นอนว่า สุดท้ายหลายๆ ประเด็นที่ถูกโยนขึ้นมา บางคนอาจรู้สึกว่า สุดท้ายแล้วจะกลายเป็นเพียงแค่กระแส และไม่มีความยั่งยืน เช่น เรื่องการใช้ชีวิตช้าๆ อย่างเช่นตอนนี้ที่จักรยานกำลังฮิตทั่วบ้าน ทั่วเมือง แต่ในมุมของคุณวรนุชแล้ว เรื่องนี้ไม่ถือเป็นความเสียหายอะไร และยังเป็นโอกาสดีเสียอีกที่ แต่ละคนจะได้ทดลองทำอะไรด้วยตนเอง และหากพวกเขาเห็นคุณค่า ในที่สุดก็อาจจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนก็ได้
“ถ้าเราให้ทุกคนเห็นปัญหาแล้วลงไปปฏิบัติมันอาจจะยาก คือมันต้องอาศัยเอากระแสเข้าช่วย มีเซเลบมานำหน่อย คือช่วงแรกมันอาจจะทำแบบตามกันไปโดยไม่คิดอะไรมาก แต่ว่าถ้าเขาเริ่มสนใจมันจริงๆ หรือมีบางอย่างที่ไปคลิกกับชีวิต เขาก็จะเปลี่ยนไปเลย อย่างถุงผ้าที่ใช้กันเยอะมาก บางคนอาจจะรู้ว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย ตราบใดที่คุณยังไม่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิต แค่ใช้ถุงผ้าหรือปั่นจักรยาน มันไม่ได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่นัก คือคุณต้องปรับอย่างอื่นด้วย ทั้งการกิน การอยู่ ซึ่งต้องอาศัยเวลา บางคนอาจจะรู้ข้อมูลทั้งหมด แต่ยังทำไม่ได้ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง แต่เมื่อไหร่ที่เขาเริ่มที่จะคิด เราก็คิดว่ามันน่าจะเป็นเชิงบวกให้เขาปรับได้ง่ายขึ้น “แน่นอนว่า มันอาจจะต้องใช้เวลาเยอะนิดหนึ่ง บางทีอาจจะต้องรอป่วยหน่อยหนึ่ง คืออย่างน้อยคนก็เริ่มเปลี่ยนเยอะ คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องเกษตรเยอะมาก อย่างเมื่อก่อน เขาจะชอบไปปฏิบัติสมาธิกัน เอะอะอะไรก็เข้าสำนัก แต่พอสุดท้ายเขาก็ต้องเรียนรู้เพื่ออยู่กับตัวเอง อย่างตอนนี้เทรนด์เรื่องปลูกผัก กินอินทรีย์ หรือกินอะไรที่ไร้สารพิษก็เริ่มมา ทุกคนก็เริ่มทดลองปลูกกระเพรา ปลูกสะระแหน่ เยอะมากโดยเฉพาะคนเมือง ก็ค่อยๆ ทดลองไป เราก็พยายามจะล่อลวงด้วยการพาไปเที่ยวฟาร์ม ให้เขาลงไปเห็นจริงๆ และถ้าอยากจะเรียนรู้เพิ่มก็มีที่ให้คุณปฏิบัติและทดลอง”

และคงเป็นเพราะกระแสที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี่เอง จึงทำให้แฟนคลับของสวนเงินมีมาขยายตัวไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่คนที่เพิ่งทำงานได้ไม่นาน จนถึงนิสิตนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรม เพื่อสังคม ซึ่งคนรุ่นใหม่นี้ถือเป็นกลุ่มคนที่มีพลังขับเคลื่อนอย่างมาก และก็มีศักยภาพที่จะนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมได้ เพราะพวกเขามีในการสร้างสรรค์ และมีความปรารถนาอยากที่จะค้นหาสังคมที่มีคุณภาพ และเป็นอิสระต่อการบีบคั้นของระบบทุนนิยมและบริโภคนิยม หลายๆ ครั้งที่ทางสวนเงินมีมาดึงคนกลุ่มนี้เข้ามาร่วมกิจกรรม และเป็นพื้นที่ให้พวกเขาได้คิด ได้ทำตามที่ใจตัวเองต้องการ เพราะสำหรับคุณวรนุชแล้ว เธอเชื่อว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่นั้นมีมุมมองที่แปลก สวนกระแส ชอบตั้งคำถาม และหลายๆ คนก็อยากจะทำงานอิสระ ไม่เป็นลูกจ้างของใคร
“คนพวกนี้ มีพลังเยอะมาก บางทีเยอะกว่าพวกเราอีก ไอเดียกระฉูดมาก เช่น เราทำอาหารว่างช่วงเบรกเวลาประชุมอะไรต่างๆ ว่า นอกจากขนมปัง แซนวิช ชา กาแฟ แล้วน่าจะมีอะไรอย่างอื่นบ้าง เพราะของพวกนี้บางทีก็ไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วก็ไม่ส่งเสริมท้องถิ่นด้วย เราก็ให้พวกกลุ่มรุ่นใหม่นำเสนอไอเดียมา แล้วเราก็จะมีทุนย่อยๆ ให้ไปทำ เขาก็จะคิดแผนการตลาด คิดอะไรมาให้ ซึ่งเรื่องพวกนี้เอาไปขยายต่อ เป็นการประกอบอาชีพใหม่ได้เลย “บางคน เขาก็คิดเป็นแผนธุรกิจ ทำกับเด็กอนุบาลที่ต้องกินขนมอยู่แล้ว คือก็เอา Snack พื้นบ้านมาทำ แล้วก็มีน้ำจิ้ม คือปรับจากวัตถุดิบที่เรามีทั้งหมด แต่ทำให้มันกินง่าย เหมือนกินสลัดเท่ๆ แต่ความจริงมันอาจจะเป็นใบกะเพรา สมุนไพร แล้วเวลาที่เขาทำเสร็จ เราก็จะแปลงเป็นหนังสือ เอาวิธีการของเขา เขียนให้มันน่ารักๆ หน่อย แล้วก็ไปผลิต”

ถึงวันนี้ระยะเวลาผ่านไป 13 ปีเต็มๆ สำนักพิมพ์สวนเงินมีมา เดินทางมาถึงจุดที่บรรณาธิการสาวเชื่อว่า แข็งแรงและอยู่ได้ แม้สุดท้ายแล้ว อาจจะไม่สามารถนำเงินกลับไปปันผลให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นได้มากเท่าไหร่ เพราะถึงอย่างไรประเด็นเรื่องสังคมก็ยังมีให้ทำเต็มไปหมด โดยเฉพาะประเด็นที่จะสื่อสารกับคนรุ่นๆ ใหม่

โดยปัจจุบัน สำนักพิมพ์สวนเงินมีมามีผลงานเฉลี่ย 8-10 เล่มต่อปี ทั้งที่เป็นงานเขียนโดยนักเขียนคนไทย และงานแปล ขณะเดียวกันก็มีกิจกรรมต่อเนื่อง อีกประมาณ 3-4 โครงการ เช่น โครงการตลาดสีเขียว โครงการ Green Fair หรือโครงการ School for Wellbeing Studies and Research รวมไปถึงการเปิดร้านสวนเงินมีมา เพื่อจำหน่ายหนังสือของตัวเอง รวมไปถึงสินค้าประเภทกรีน อย่างฝ้ายออแกนิก หรือฝ้ายพันธุ์เมืองมาทอลายแบบดั้งเดิม ซึ่งทางบริษัทสวนเงินมีมาช่วยสนับสนุนทั้งเรื่องทุน และแหล่งจัดจำหน่าย

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และสังคมที่เปลี่ยนไปก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหลายๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นปัญหา มาถึงวันนี้ก็เริ่มมีเรื่องท้าทายให้ต้องแก้ไขกันไป เช่น ลิขสิทธิ์หนังสือที่เริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลให้หนังสือของสำนักพิมพ์มีราคาสูงตามไปด้วย หรือไม่แต่เรื่องนักแปลที่เริ่มขาดแคลน เพราะนักแปลหลายคนทำงานมานานจนเกิดอาการเบื่อหน่าย ซึ่งแน่นอนว่า หลายๆ อย่างก็ต้องพยายามหาวิธีการแก้ไขกันไป การสร้างนักแปลรุ่นใหม่ๆ โดยให้แปลเรื่องที่ไม่ได้หนักอะไรมากนัก แล้วก็มีนักแปลรุ่นเก่าๆ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง

ขณะเดียวกัน ก็พยายามหาช่องทางก็สื่อสารกับคนกลุ่มนี้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะในรูปแบบหนังสือดิจิตอล หรือแม้แต่โซเซียล มีเดีย หลายๆ ครั้งที่สวนเงินมีมาเองก็ต้องหาคำหรือหัวข้อง่ายๆ ที่อ่านแล้วกระตุ้นความอยากรู้อย่างเห็นลงไปในสื่อออนไลน์เหล่านี้ เพื่อให้การแสดงความเห็นหรือการแชร์ไปยังผู้อ่านอื่นๆ ต่อไป
“สมมติเราจะทำเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องความเชื่อทางศาสนา เราก็อยากรู้ว่าคนรุ่นมองเรื่องพุทธ เรื่องจิตวิญญาณอย่างไร ซึ่งหากเราก็จะเอางานเขียนของสมเด็จฯ อะไรบ้านเรามามันก็ไม่ได้อีก เพราะมันเต็มไปด้วยภาษาบาลี เด็กก็คงไม่อ่าน เราก็ไปคัดงานที่สื่อสารง่าย เราก็คัดเลือกอะไรทีคุณไม่ใช่พุทธมา ซึ่งคนเขียนเป็นพระ แต่เป็นผู้กำกับหนังด้วย คือพระภูฏานเขาค่อนข้างฟรีสไตล์ คือเป็นพระก็ได้ เป็นผู้กำกับก็ได้ เป็นนักเขียนก็ได้ ซึ่งพอสื่อสารออกมาเด็กๆ ก็เข้าใจเลย”

นอกจากยังมีการขยายขอบเขตการผลิตให้มากขึ้น โดยล่าสุดสวนเงินมีมาได้ผลิตวรรณกรรมเยาวชนฝรั่งเศส เรื่อง Oh, boy! ซึ่งเป็นวรรณกรรมเยาวชนสะท้อนปัญหาสังคมร่วมสมัย นำเสนอประเด็นหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว ปัญหาเด็กกำพร้าที่นำไปสู่การฉายภาพระบบสวัสดิการ หรือแม้แต่ปัญหาเรื่องเพศสภาพ การฆ่าตัวตายและอื่นๆ อีกอีกมากมาย
“การทำ Oh, boy! ขึ้นมา เพราะเราตั้งใจจะเล่นกับคนรุ่นใหม่เลย ที่สำคัญ เรามองว่าวรรณกรรมเยาวชนตอนนี้ มันแห้งมากเลย วรรณกรรมดีๆ แรงๆ อ่านแล้วสนุกจริงๆ เหมือนสมัยก่อน ช่วงหลังๆ มันน้อย เราจึงอยากทดลองว่า เราจะมีแฟนอ่านจริงหรือเปล่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า เราเองก็ไม่ค่อยชำนาญเรื่องพวกนี้เท่าใดนัก ล่าสุดก็ขอลิขสิทธิ์เอาไว้บ้าง แล้วก็พยายามส่งให้คนนู้นคนนี่อ่าน พวกนักวิจารณ์อ่าน”

เหตุผลที่ต้องทำทั้งหมดนี้ ก็เพราะทางสวนเงินมีมายังเชื่อพลังของนักอ่านในเมืองไทยว่ายังมีอยู่ไม่น้อย แม้ที่ผ่านมาจะมีคนปรามาสคนไทยว่า อ่านหนังสือน้อยมากๆ แต่ถึงอย่างไรก็ผู้อ่านหนังสือแนวอย่างนี้ก็อย่างมีอยู่ และหลายๆ คนก็ได้รับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจากการอ่าน
“เราคิดว่าถ้าเป็นหนังสือที่เขาสนใจ หรือเป็นประเด็นที่สนใจ เขาก็ต้องอ่าน แต่ปัญหาที่เด็กไม่อ่านตอนนี้ก็คือ มันมีสิ่งที่อื่นที่เขาสนใจหรือโดนกับชีวิตมากกว่า ที่ผ่านมา เราค่อนข้างให้ความสำคัญเรื่องการสื่อสาร ว่าต้องสื่อสารแล้วเข้าใจ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ คือเราอาจจะไม่ได้ใช้ภาษาหวือหวา แต่ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย แล้วเด็กจะได้ไม่รู้สึกว่ามันยากหรือเป็นกำแพงมากเกินไป “ซึ่งหลังจากทำมาได้ 13 ปี เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงเยอะขึ้น มันอาจจะมีอย่างอื่นที่ช่วยเราด้วยแหละ อย่างเรื่องวิถีชีวิต เรามองว่าคนจำนวนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิต เริ่มเปลี่ยนทัศนคติ จากสารที่เราสื่อไปแล้วมันประจวบเหมาะกับเครือข่ายของพวกเราหลายๆ คน ที่ทำ มันก็เริ่มเห็น สังคมเริ่มเห็นประโยชน์ที่ทำ อย่างเราทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ ความจริงทางไบโอไทย ทางพี่เดชา (ศิริภัทร) พี่วิฑูรย์ (เลี่ยมจำรูญ) เขาทำมา 30 กว่าปี เปอร์เซ็นต์มันเล็กมาก แล้วไม่มีใครสนใจ แต่ตอนนี้ทุกอย่าง หรือข้อมูลมันเผยแพร่เร็วขึ้น คนก็เริ่มให้ความสนใจ ตอนนี้แกเสนอประเด็นอะไร รัฐจะต้องฟัง พอมีเครือข่ายทำแบบนี้หลายๆ อันขึ้น มันก็ช่วยเป็นผลกระทบให้สารที่เราสื่อ คนรับง่ายขึ้น”

ส่วนเรื่องคู่แข่งที่ผู้ประกอบหลายคนกังวลนี้ ทางสวนเงินมีมาบอกว่า ทางสำนักพิมพ์มีคู่แข่งมากมาย แต่พวกเขาไม่ได้สนใจประเด็นนี้เท่าใดนัก เพราะความจริงก็อยากให้มีคนผลิตงานประเภทนี้ออกมาจำนวนมากๆ โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ เพราะนอกจากจะทำให้ทางสวนเงินมีมาเหนื่อยน้อยลงแล้ว งานดีๆ ที่มีคุณภาพก็มีโอกาสที่จะไปถึงมือผู้อ่านมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า โอกาสค่อนเป็นได้น้อย เนื่องจากงานพวกนี้ไม่ใช่สินค้าที่ขายดี หรือสร้างรายได้เยอะแยะ ซึ่งก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสวนเงินมีมาต่อไป
“จริงๆ เราอยากเห็นความสมดุลเกิดขึ้นในสังคม เพราะการเป็นผู้ประกอบการของเรา เราอยากเห็นเรื่องชีวิต เรื่องสิ่งแวดล้อมมีความสมดุล เป็นดุลยภาพของชีวิต ที่ไม่สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ให้ทุกคนได้ตระหนักคิด แม้กระทั่งตัวเราเองด้วย” วรนุชกล่าวถึงทิ้งท้ายการสนทนา พร้อมบทสรุปความตั้งใจที่ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงของสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งนี้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ