คำพิพากษา : อย่าตัดสินคนแค่เพียงภาพลักษณ์ภายนอก

คำพิพากษา

 

           “คำพิพากษา” ในทางกฎหมายคือ การชี้ขาดของศาลในประเด็นแห่งคดีที่ฟ้องต่อศาล เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ซึ่งถือเป็นความยุติธรรมที่ทุกคนต้องยอมรับ แต่คำพิพากษาในเรื่องนี้ช่างแตกต่างออกไปยิ่งนัก เพราะเป็นคำชี้ขาดของชาวบ้านในการใช้ตัดสินคนธรรมดา ที่เรียกร้องหาความยุติธรรมจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ไม่ได้เสียเลย

“Don't judge people by their looks.”   อย่าตัดสินคนแค่เพียงภาพลักษณ์ภายนอก

แม้จะมีคำสอนเหล่านี้ออกมามากมาย แต่คนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะมองภาพลักษณ์ภายนอกนี้เป็นอันดับต้นๆในการพิจารณาเลือกคบหาหรือทำความรู้จักกับคนคนหนึ่ง

 

                คำว่า ภาพลักษณ์ภายนอก ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่รูปลักษณ์หน้าตา บุคลิก หรือเสื้อผ้าเครื่องประดับที่สวมใส่เพียงเท่านั้น แต่หมายถึงเปลือกนอกของคนทั้งหลายที่มียศฐาบรรดาศักดิ์หุ้มอยู่ สิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาล้วนเป็นเพียงแค่ภาพลักษณ์ภายนอกที่มนุษย์ต่างสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับทางสังคม ซึ่งเบื้องหลังของการได้สิ่งที่เป็นเปลือกเหล่านั้นที่ทำให้ตนเองดูดีมีหน้ามีตาทางสังคมนั้นอาจต้องแลกกับชีวิตของคนอีกหนึ่งคนที่พังทลายลงไปโดยมิอาจเรียกร้องอะไรได้เลย....

 

                ข้อความที่กล่าวในข้างต้นนั้นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวของการเปรียบเทียบชีวิตที่สุดแสนจะน่าเวทนาของ “ฟัก” ที่โดนถูกกระทำด้วยเพียงภาพลักษณ์ภายนอกและความคิดของคนในสังคม ฟัก เป็นตัวละครเอกของเรื่อง “คำพิพากษา” ซึ่งเป็นหนึ่งในรางวัลนวนิยายดีเด่นแห่งชาติปีพ.ศ 2524 และได้รับรางวัลซีไรต์ในปีพ.ศ 2525 ผลงานนวนิยายเรื่องนี้เป็นของ ชาติ กอบจิตติ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี พ.ศ. 2547  นวนิยายเรื่อง คำพิพากษา จัดพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2525 โดย สำนักพิมพ์ต้นหมาก มีความหนา 320 หน้า และได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องจนมาถึงในปัจจุบันนี้

 

                นวนิยายเรื่องนี้เนื้อหาแบ่งเป็น3ตอน คือนำเรื่อง ในร่างแห และสู่อิสระ ซึ่งทั้ง3ตอนนี้มีเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป โดยตอนนำเรื่องจะเล่าถึงภูมิหลังของฟัก ส่วนในร่างแห จะนำเสนอเกี่ยวกับปัญหาชีวิตต่างๆที่เข้ามารุมล้อมในชีวิตของฟัก ไม่ว่าจะเป็นคำนินทาต่างๆนาๆ หรือเรื่องที่นางสมทรงไปทำไว้จนต้องเดือดร้อนมาถึงฟัก และตอนสุดท้ายคือสู่อิสระ เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับทางออกของชีวิตฟักไปสู่ความอิสระจากทางความคิดโดยใช้สุราเป็นเครื่องมือ แต่ถึงแม้ว่าจะมีเนื้อหาที่ต่างกันมากสักเพียงใดผู้เขียนก็สามารถนำทั้ง3ตอนนี้มาผสมกลมกลืนรวมกันเป็นเอกภาพเดียวได้อย่างแยบยล

 

               จากปีที่ตีพิมพ์จวบจนปัจจุบันยาวนานกว่า 35 ปี แต่ภาพปัญหาที่ถูกตีพิมพ์ในเรื่องนั้นยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมไทยไม่รู้จักจบสิ้น ปัญหาที่ว่านี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการกระทำจากทางคำพูดโดยไม่สามารถจะจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้ เพราะเป็นเพียงแค่ลมปาก แต่เพียงลมปากที่คนมองเพียงผิวเผินว่าไม่ได้รุนแรงหรือโหดร้ายอะไรมากนัก กลับเป็นการกระทำที่ทำร้ายชีวิตคนหนึ่งคนได้ยากเยือกเย็นโดยมิต้องเอามีดมากรีดให้ได้รับความเจ็บปวดในส่วนใดเลย ดังที่หน้าปกได้เขียนบอกเอาไว้แล้วว่า “โศกนาฏกรรมสามัญที่มนุษย์กระทำและถูกกระทำอย่างเยือกเย็นในภาวะปกติ” นี่คือคำที่อยู่บนหน้าปกหนังสือเล่มนี้

 

                ชาติ กอบจิตติ เขียนเนื้อเรื่องด้วยการใช้ถ้อยคำภาษาที่เรียบง่าย บรรยายให้เห็นภาพได้ชัดเจน อย่างเช่นบทความที่พรรณาถึงลักษณะของม่ายสมทรงนั้นราวกับผู้แต่งบรรยายมาจากภาพที่ได้เห็นในชีวิตจริง หรือแม้แต่ฉากการฆ่าหมาดำ ผู้เขียนก็ได้บรรยายถึงวิธีการอันโหดเหี้ยมที่ฟักได้กระทำต่อสุนัขตัวหนึ่ง จนผู้อ่านนั้นสะเทือนใจราวกับว่าสุนัขตัวนั้นที่ฟักกระทำนั้นเป็นสุนัขของตนเอง

 

                นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องโดยการใช้ตัวละครหลักเพียง4คน ได้แก่ ฟัก สมทรง สัปเหร่อไข่ และครูใหญ่ นวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องราวชีวิต“ฟัก” ชายหนุ่มภารโรงธรรมดาคนหนึ่งซึ่งถูกผู้คนในหมู่บ้านตีตราว่าเอาเมียพ่อมาเป็นเมียตัวเอง ซึ่งเมียพ่อหรือ “สมทรง” นั้นเป็นหญิงสาวที่ดูเหมือนว่าจะสติไม่สมประกอบ ซึ่งข่าวที่แพร่งพรายออกไปนั้นเป็นเพียงแค่ข่าวลือที่ไม่มีแม้แต่เพียงสักคนเดียวที่เห็นว่าฟักกับสมทรงนั้นมีอะไรกันจริงๆ ซึ่งข่าวลือนี้เอง เปรียบเสมือนคำพิพากษาจากสังคมทำให้เขานั้นถูกเหยียบย่ำโดยคำกล่าวหาว่าร้ายต่าง ๆ นาๆของชาวบ้าน แต่ฟักก็ยังอดทนใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคำพิพากษานี้ โดยเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งความจริงต้องประจักษ์ขึ้นและชาวบ้านคงเข้าใจตน แต่ชาวบ้านไม่เคยแม้แต่จะถามหาความจริงจากฟักเลยสักคน และยิ่งไปกว่านั้นคือ เมื่อฟักพูดความจริง ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเขาไม่เคยล่วงเกินเมียพ่อเลยสักครั้งเดียว แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้เปลี่ยนชีวิตฟักนั้นก็ได้เกิดขึ้น คงเป็นเรื่องที่ดีหากเหตุการณ์นี้ทำให้ชีวิตของฟักนั้นดีขึ้น แต่เปล่าเลย เหตุการณ์ครั้งนี้กลับทำให้ชีวิตฟักนั้นต่ำตมลงไปทุกที เหตุการณ์ที่ว่านั้นคือ ฟักหันไปพึ่งสุราหรือเหล้าจากคำชักชวนให้ลองลิ้มรสของสัปเหร่อไข่หรือที่ฟักเรียกว่า ลุงไข่ โดยฟักหวังว่า เหล้านี้จะทำให้ฟักหนีออกจากความทุกข์ใจไปได้ ฟักกลายเป็นคนขี้เหล้าที่ไม่มีใครยอมรับเชื่อถือ และนำไปสู่การถูกหักหลังโดยครูใหญ่ของโรงเรียนที่ฟักเคยฝากเงินไว้ และเรื่องราวทั้งหมดก็จบลงด้วยความตายของฟัก พร้อมๆกับความจริงที่สูญหายไปจากการรับรู้ของผู้คนในหมู่บ้าน และถึงแม้ว่าฟักจะพูดความจริงออกมา คงจะไม่มีใครเชื่อเขาอยู่ดี

 

หากมองในภาพรวมนั้นแก่นของเรื่องนี้คงหนีไปไหนไม่ได้นอกเสียจากสะท้อนถึง การกระทำทางวาจาที่พิพากษาชีวิตของคนอื่น ทำให้จิตใต้สำนึกเกิดความขัดแย้งของการมีตัวตนในสังคม จนทำให้ฟักกลายเป็นคนกลัวการเข้าสังคม ดังตอนที่กล่าวว่า

 

“เร็วๆสิ” ม่ายสมทรงเร่งเร้าเมื่อฟักเดินกลับเข้ามาราวกับว่าใจของนางได้นั่งเฝ้าอยู่หน้าโรงลิเกตั้งแต่ตอนเย็นแล้ว รอคอยร่างกายให้เดินตามไป

 

“ยัง...ยัง” ฟักเสียงขุ่นขึ้น เขาไม่อยากไปตอนนี้ ตอนที่ยังไม่ได้แสดงอะไร เกรงกลัวสายตาของชาวบ้านที่เห็นเขาเดินคู่ไปกับนาง อย่างน้อยถ้าลิเกแสดงหรือหนังเริ่มฉายคงไม่มีคนสนใจเขานัก

 

                นอกจากนี้เรื่องคำพิพากษายังสะท้อนได้อีกมุมหนึ่งคือ การมียศฐาบรรดาศักดิ์ทางสังคมย่อมมีคนนับถือมากกว่าคนจนหรือคนที่เป็นแค่ภารโรงอย่างฟัก ที่แม้จะพากเพียรทำความดีเพียงใด ก็มิอาจลบล้างคำครหาต่างๆได้ ต่างจากครูใหญ่ ที่ถึงแม้จะเป็นคนโกงเงินฟัก แต่คนกลับเชื่อว่าครูใหญ่ไม่ได้เป็นคนโกง อีกทั้งยังถูกยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีมีเมตตาเสียอีก ดังตอนที่กล่าวว่า

 

                “พวกเขาพากันวิพากษ์วิจารณ์เรื่องราวย้อนหลังกันอีกว่า ครูใหญ่โกงเงินไอ้ฟัก! จะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อครูใหญ่ออกมีฐานะอย่างนั้น แล้วแกเองเป็นคนดี ไม่เคยมีเรื่องราวด่างพร้อยทางนี้มาเลย มิหนำซ้ำเป็นถึงครูบาอาจารย์ มีเกียรติ มีคนเคารพนับถือ แกจะเอาชื่อเสียงมาแลกกับเงินเพียงเท่านี้ทำไม ผิดกับไอ้ฟักซึ่งไม่มีอะไรเลยแม้แต่ที่ซุกหัวนอนก็ยังต้องอาศัยที่ของวัดอยู่ ข้าวปลาก็อาศัยวัดกิน สมบัติสักชิ้นไม่เห็นมีอะไรมีค่า มันเองนั่นแหละที่เป็นคนมักได้ เอาแม้กระทั่งเมียของพ่อตัวเองแล้วยังกินเหล้าเมาหยำเป คนอย่างนี้น่ะหรือที่ควรจะเชื่อถือได้ ...ถุย! โดนจับเสียได้แหละดี” (หน้า282)

 

                โลกมนุษย์นี่ช่างแปลกเสียจริง บางคนทำดีไว้มากมายแต่คนส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะจดจำสิ่งเลวๆหรือสิ่งร้ายๆของเขาโดยที่หลงลืมความดีที่เขาเคยทำไว้และตราหน้าว่าเขาเป็นคนไม่ดี...  มันคงเป็นกลไกของจิตใต้สำนึกในการป้องกันตัวเองกระมัง ที่คนเราจดจำสิ่งที่เลวร้ายและไม่ดีเพื่อที่จะเป็นการเตือนใจตัวเองไม่ให้ไปเข้าใกล้หรือยุ่งกับสิ่งเหล่านั้นอีก โดยเหมารวมเรื่องของฟักเอาไว้เป็นสิ่งที่ไม่ดีไปด้วย

 

                บทสรุปของนวนิยายเรื่องนี้เป็นกระจกสะท้อนค่านิยมของสังคมไทยผ่านตัวหนังสือได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องของสังคมมนุษย์ ที่ในปัจจุบันนี้มีผู้คนมากมายยังกระทำโศกนาฏกรรมแก่ผู้คนที่อยู่ต่ำต้อยกว่าตนในสังคม ความคิดและคำพูดต่างๆได้หลอมรวมขึ้นเป็นมลพิษคอยกัดกินความจริงบางอย่างที่มิอาจถูกเปิดเผยได้ และสุดท้ายความจริงนั้นก็จะเป็นเพียงแค่อากาศ ที่โดนมลพิษที่อยู่รอบข้างบดบังอากาศอันแสนบริสุทธิ์นั้นกลายเป็นควันพิษที่แสนสกปรกไปในไม่ช้า

 

                นับเป็นสัจธรรมอย่างหนึ่งที่เรานั้นห้ามความคิดของคนอื่นไม่ได้ ต่างคนต่างมีความคิดที่ต่างกันออกไป บางคนคิดดี บางคนคิดร้าย แต่ถ้ามันเป็นเพียงแค่ความคิดที่ไม่ได้พูดออกมา นั่นอาจจะดีเสียกว่าถ้าคำพูดนั้นมันทำลายจิตใจและชีวิตของคนคนหนึ่ง.

 

บทวิจารณ์โดย น.ส รังสิมา  รังสิมันตุชาติ

Writer

The Reader by Praphansarn