ขอบฟ้าขลิบทอง : คางคก : บทกวีที่มาก่อนกาล เพื่อบ่งบอกราคาของเสรีภาพ

ขอบฟ้าขลิบทอง

 

         กวีนิพนธ์เป็นเครื่องมือทางวรรณศิลป์ที่ทรงประสิทธิภาพในการสื่อสารความคิดไปสู่ผู้อ่าน  เพราะเป็นงานที่ให้ทั้งสุนทรียรส และสาระความรู้ไปพร้อมๆ กัน โดยลักษณะการใช้ถ้อยคำน้อยให้กินความหมายมาก เอื้อต่อการตีความอย่างกว้างขวาง ทำให้กวีนิพนธ์หลายชิ้นหยัดอยู่ได้อย่างยาวนานโดยไม่ตกหล่นไปจากยุคสมัย นอกจากส่งผลต่อตัวงานเองแล้ว กวีนิพนธ์ยังทำให้ผู้เขียนกวีสามารถยืนหยัดอยู่ไปพร้อมกับตัวงานนั้นด้วย

 

           นาม “อุชเชนี” นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของกวีนิพนธ์ไทย ด้วยว่ามีกวีหญิงเพียงไม่กี่คนที่มีผลงานโดดเด่นทัดเทียมกวีชายเท่ากับอุชเชนี ผลงานของอุชเชนีมีภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ ให้ทั้งภาพและเสียง ทั้งยังสั่นสะเทือนความรู้สึกผู้อ่าน ให้สาระ กระตุ้นความคิด ให้เห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ สร้างความหวัง และมักจะแฝงคำสอนในงานอย่างแนบเนียน

 

        บทกวี “คางคก” ของอุชเชนี มีลักษณะดังกล่าวข้างต้นอย่างสมบูรณ์ ทั้งยังไม่เพียงเอื้อต่อการตีความในห้วงเวลาที่เขียนเท่านั้น หากแต่บทกวีชิ้นนี้ยังสามารถอธิบายเหตุการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นภายหลังหลายสิบปีได้อย่างสอดคล้อง เหมือนว่าผู้เขียนได้มองเห็นเหตุการณ์ในอนาคต คางคกแฝงสัญลักษณ์ในเรื่องเล่าได้อย่างแนบเนียน เล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหล มีน้ำเสียงเฉพาะที่เป็นเอกลักษณ์

 

คางคกคือใคร?

           

           บทกวีชิ้นนี้มีลักษณะคล้ายกลอนเพลงยาว อันเป็นเพลงร้องเล่นอยู่ทั่วไปของชาวบ้าน กลวิธีนี้ได้โอบอุ้มความหมายของตัวบทของคางคก ทำให้เราพอจะคาดเดาภาพเบื้องต้นได้ว่า กวีกำลังให้คางคกเป็นตัวแทนของชาวบ้านทั่วไป เมื่อรับเข้ากับบทที่ ๒ ที่ว่า “น้ำท่วมปากขากบ้วนจวนจะแย่ จะร้องแหล่กลอนเล่นไว้เป็นหลัก” ก็คงพอทำให้เห็นบุคลาธิษฐานของคางคกได้ชัดเจนขึ้น

 

            นับแต่การขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัช เมื่อปีพ.ศ.๒๕๐๑ นักเขียน ปัญญาชน ตลอดจนนิสิตนักศึกษาในประเทศไทย ต่างตกอยู่ในภาวะ “น้ำท่วมปากขากบ้วนจวนจะแย่” กันไปหมด เสรีภาพถูกลิดรอน นักเขียนและปัญญาชนไม่สามารถเผยแพร่งานวรรณกรรมประเภทเพื่อชีวิต หรืองานที่เรียกว่า “ก้าวหน้า” ออกมาได้เลย กลับมีแต่ผลงานที่เรียกขานกันว่า “กลอนหาผัวหาเมีย” หรือที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี เรียกว่า “วรรณกรรมน้ำเน่า” ออกมาแทนเป็นจำนวนมาก

 

            ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ หลังชัยชนะของนักศึกษาประชาชน สามารถขับไล่เผด็จการถนอม ประภาส ออกนอกประเทศไปได้ จึงนับว่า คางคก ได้ “ตัดใจไต่บึงขึ้นถึงขอบ แลไปรอบโลกสล้างกว้างไพศาล”  งานประเภทเพื่อชีวิตหรือก้าวหน้าถูกเผยแพร่มากขึ้น นับเป็นยุคการเบ่งบานของเสรีภาพ ดังที่อุชเชนีได้บอกว่า “ร้องอ็อบอ็อบชอบจิตคิดกะการ หายใจบานอกโปร่งละโล่งเลย รีบตะเบ็งเปล่งเสียงนำเนียงสวรรค์ ชมตะวันแวดวนบนกลีบเหมย ชมวิหคนกหนูอยู่เหมือนเคย มิได้เงยหน้าแลชะแง้มอง”

 

ราคาของเสรีภาพ

 

            การหายใจบานอกโปร่งของคางคกตัวนี้ เป็นอยู่ได้เพียงไม่นาน พ.ศ.๒๕๑๙ จอมพลถนอม กิตติขจร กลับเข้าประเทศไทย ทำให้เกิดการชุมนุมใหญ่ของปัญญาชน นิสิตนักศึกษา และประชาชนอีกครั้งหนึ่ง โดยที่พวกเขา “มิได้เงยหน้าแลชะแง้มอง” เลยว่า “โลกสะอาดวาดไว้ใสสนิท แจ่มวิจิตรเจิดใจไม่มีสอง ก็ดับวูบลงตรงไม้พลอง เขาจ้วงจ้องจำหนับขวับขวับเทียว”

 

            ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ผู้ชุมนุมต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถูกล้อมปราบ คล้ายอุชเชนีได้มองเห็นและเล่าชะตากรรมนี้ไว้ในบทที่ ๖ ของบทกวีคางคก ว่า “แสนสงสารคางคกฟกตลอด ตัวไม่รอดแล้วยังพร่ำร่ำเฉลียว ตัวบาปหยาบใหญ่อย่างไรเจียว เขาจึงเคี่ยวเข็ญกรรมทำฉะนี้”

 

            ภายหลังการล้อมปราบนั้น มีคนตายมากมายทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไป บ้างก็หนีเข้าป่าจับปืนต่อสู้กับอำนาจรัฐ เสรีภาพถูกริบคืนไปอีกครั้ง คางคกต้องสูญเสียทั้งเสรีภาพและชีวิต “หรือจึงต้องสูญสิ้นทั้งอินทรีย์ เป็นพลีอยุติธรรมกระหน่ำเอา”

 

            ในบทสุดท้าย อุชเชนี ได้บอกเตือนแก่คางคกทั้งหลายว่า ราคาของเสรีภาพนั้น มีค่าเท่าใด กวีบอกด้วยน้ำเสียงน้อยเนื้อต่ำใจ ดังว่า กวีเองก็คือคางคกตัวหนึ่ง!

 

          พระท่านสร้างคางคกไว้รกโลก                   อับเฉาโชคชื่อชนผิดคนเขา

                                                                               ดินระเหิดเริดหาค่าไม่เบา                                     เสรีเจ้าแพงซึ้งถึงชีวา

 

 

บทกวีที่มาก่อนกาล

            อุชเชนี เขียนบทกวีคางคก เพื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ก่อนเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ถึง ๒๑ ปี และ ๒๔ ปี ตามลำดับ ประหนึ่งว่ากวีมีญาณทัศน์ มองเห็นอนาคตของสังคมไทยล่วงหน้าถึงยี่สิบกว่าปีอย่างน่าอัศจรรย์

            เช่นนี้แล้วจะไม่นับว่า “คางคก” เป็นบทกวีที่มาก่อนกาลได้อย่างไร

            นอกเหนือไปจากนี้ยังอยากเชิญชวนให้เราอ่านบทกวีชิ้นอื่นๆ ในฐานะบทกวีที่มาก่อนกาลด้วย อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนเพื่อมิให้เราต้องสูญเสียดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา

 

บทวิจารณ์โดย อมรศักดิ์  ศรีสุขกลาง

 

Writer

The Reader by Praphansarn