เราหลงลืมอะไรบางอย่าง : หนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๒ เรื่องที่ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี ๒๕๕๑

เราหลงลืมอะไรบางอย่าง

 

                  เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๒ เรื่องที่ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี ๒๕๕๑  ผู้แต่งคือวัชระ สัจจะสารสิน ซึ่งเป็นนามปากกาของ วัชระ เพชรพรหมศร โดยหนังสือรวมเรื่องสั้นนี้ผู้เขียนได้สะท้อนภาพชีวิตสังคมได้อย่างชัดเจน ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมกับทฤษฏีการพัฒนาสังคมแบบกระแสหลัก วัฒนธรรมและชุดความคิดของปัจเจกบุคคลรวมไปถึงอำนาจรัฐอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนั้นความเรียบง่ายของสังคมกลับถูกแทนที่ด้วยความซับซ้อนความรู้สึกนึกคิดตามธรรมชาติกลับถูกปรุงแต่งจากความทันสมัยสู่สังคมชนบทโดยไม่รู้ตัวและการตัดสินใจของผู้คนขึ้นอยู่กับความต้องการของตนเป็นใหญ่โดยไม่นึกถึงผลที่ตามมา

 

                จากชื่อเรื่อง เราหลงลืมอะไรบางอย่าง เป็นการตั้งชื่อเรื่องที่ต้องการให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดว่าปัจจุบันกับสังคมร่วมสมัยนี้เรากำลังโดนอะไรครอบงำอยู่ ตัวเราในอดีตยังคงเป็นตัวเราในปัจจุบันหรือไม่ หรือมีอะไรที่มาทำให้เราต้องหลงลืมสิ่งสำคัญที่ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า และเป็นการตั้งคำถามกับผู้อ่านให้รู้สึกว่าเราหลงลืมอะไรบางอย่างจริงๆหรือ

 

                    จากเรื่องสั้นทั้งหมดใน๑๒ เรื่องนี้ มีทฤษฎีการพัฒนาสังคมแบบกระแสหลักมาเกี่ยวข้องโดยการพัฒนาแบบกระแสหลักคือทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernization Theory)  ทฤษฎีนี้อาศัยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นีโอคลาสสิก (Neo-Classic Theory)  และทฤษฎีสังคมศาสตร์ของอเมริกันมาประยุกต์เป็นกรอบการวิเคราะห์ปัญหา ซึ่งจุดเน้นของแนวคิดทฤษฎีนี้ คือ การที่จะพัฒนาประเทศให้ทันสมัยนั้นต้องมีการดำเนินไปในทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม การเมือง ความรู้สึกนึกคิด และความรู้ของคนในสังคมจะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะแต่ละด้านมีความสัมพันธ์กันตลอดจนส่งผลซึ่งกันและกัน  ซึ่งทฤษฎีภาวะทันสมัย จะเน้นในเรื่องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  โดยอาศัยอุตสาหกรรมเป็นตัวนำในการพัฒนา เน้นบทบาทของรัฐในการวางแผนจากส่วนกลาง (Top – down Planning) เน้นพัฒนาสังคมเมือง (Urbanization) โดยสร้างสังคมเมืองให้ทันสมัย เน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งนี้เพราะทฤษฎีนี้เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมและเน้นการใช้ทุนเข้มข้นจากภายนอกประเทศ

 

                     ซึ่งทฤษฎีพัฒนาสังคมข้างต้นได้ส่งผลทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงไป เพราะการพยายามทำให้เป็นสังคมที่ทันสมัย การหลุดพ้นจากความยากจนของคนชนบท ส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมได้ถูกลืมเลือน อีกทั้งความคิด พฤติกรรม และความเชื่อของคนปรับเปลี่ยนไปตามโลกสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งได้ปรากฏในเรื่องสั้นต่างๆ เช่น 

 

เรื่อง นักปฏิวัติ

                    ชายผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ในช่วงวัยเรียน เขาต้องทำรายงานส่งอาจารย์ที่สั่งตั้งแต่ต้นเทอม แต่เขาปล่อยเวลา ผ่านไปอย่างไร้ค่าและพึ่งมาตัดสินใจทำเอาเมื่อเวลาล่วงผ่านจนเหลืออาทิตย์สุดท้าย  ตอนแรกเขาคิดจะทำเรื่องมายาภาพทางการเมือง แต่หนังสือเรื่องนี้มีคนยืมไปแล้ว เขาจึงต้องเปลี่ยนหัวข้อรายงาน มาเป็นเรื่องการปฏิวัติ แต่รายงานของเขาต้องจบด้วยการออกรายงานหน้าชั้นเรียน  เพราะเขาเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก เขาตั้งใจซ้อมในการรายงานหน้าชั้นเรียนเป็นอย่างมาก จนเขาคิดว่าเขาเป็นนักปฏิวัติจริง เขารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เมื่อถึงเวลาไปรายงานหน้าชั้นเรียนเขาก็ปล่อยให้เรือข้ามฟากผ่านไป จนหมดเวลาที่จะรายงานหน้าชั้น

                    จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ชายผู้นี้ได้รับการสร้างความทันสมัยจากการเข้าระบบศึกษา ที่ต้องการจะเป็นนักปฏิวัติที่มีความเชื่อมั่นว่าจะทำในสิ่งที่ตั้งใจได้ มีการพัฒนาตนเอง ดิ้นรน ต่อสู้เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ดีขึ้นการต้องแข่งขันกับตนเองเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับในความสามารถ แต่ก็ต้องจบลงด้วยความกลัวและความกดดันของตนเองจากการตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงจุดประสงค์ที่ตนวางไว้

 

เรื่อง เรื่องเล่าจากหนองเตย

                    หนองเตยเป็นหนองน้ำที่มีตำนานพรายน้ำ ทุกคนต่างบอกห้ามว่าไม่ว่ากรณีใดๆห้ามลงในหนองเตยเด็ดขาด แต่ก็ยังมีคนแหกกฎคือแก่น เด็กชายหัวแข็งและไม่เชื่อสิ่งศักดิ์ใดๆ เมื่อถึงช่วงปิดเทอม แก่นอยากลองดีขอลงไปในหนองเตย เพื่อนๆพยายามห้ามแต่ไม่สำเร็จ เพื่อนๆจึงไปบอกพ่อของแก่นที่ร้านน้ำชาให้ไปช่วยทันที แต่ทั้งสองก็ได้หายไปอย่างลับๆ หลายปีผ่านไป ทุกอย่างดูเหมือนว่าจะสงบ แต่ก็ยังไม่จบเมื่อน้าชัยเป็นคนรื้อฟื้นมันขึ้นมาอีก น้าชัยเรียนจบด้านการเกษตร เขากลับมาพัฒนาหมู่บ้าน และฟื้นฟูพื้นที่บริเวณหนองเตย ซึ่งเป็นที่ดินของเขา พ่อกับแม่ของเขากลัวว่าน้าชัยจะมีอันตรายจึงได้ทำพิธีขออนุญาตเจ้าที่เจ้าทาง และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากนั้นทุกอ่างลุล่วงไปด้วยดี สวนของน้าชัยอุดมสมบูรณ์  และชาวบ้านต่างยอมรับในตัวเขา หลังจากนั้น เขาได้แต่งงานมีครอบครัวจนมีลูกชาย แต่โชคร้ายของน้าชัย ลูกชายของเขาได้จากไป ชีวิตของเขาได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจากนั้นน้าชัยกับเพื่อนๆของเขาที่มาจากในเมืองถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้พวกขาต้องหลบหนีเข้าป่า พอเหตุการณสงบน้าชัยก็กลับมาฟื้นฟูสวนของเขาแต่ในขณะนั้นมีคนมาลอบสังหารนาชัย โดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ

                จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าน้าชัยต้องการที่จะพัฒนาพื้นที่ชนบทให้ดียิ่งขึ้นโดยใช้พื้นที่ในการสร้างรายได้ให้กับตนเองพยายามทำให้ชนบทเป็นสังคมเมืองมากขึ้นในขณะเดียวกันคนในพื้นที่ชนบทก็ยังมีความคิดและความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่โดยการอยู่ร่วมกันแบบต่างคนต่างความคิดนั้นทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างความเชื่อโบราณและสมัยใหม่อย่างไม่ลงรอยกันแต่ถึงกระนั้นสิ่งที่คนชนบทยึดถือตำนานผีพรายอาจเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความสงบของหมู่บ้านไม่ให้เด็กไปเล่นในที่อันตรายหรือเป็นการรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ต่อไปก็เป็นได้

 

เรื่อง .ในวันที่วัวชนยังชนอยู่

                เป็นเรื่องราวของวัวชนและเล่าถึงรายละเอียดขนบธรรมเนียมต่าง ๆโดยแต่ก่อนหากมีงานเลี้ยง เจ้าภาพมักจะจ้างวงดนตรีมาเล่นในงานแต่สมัยนี้คาราโอเกะกลับเป็นที่นิยมแทน ซึ่งปู่เป็นคนที่ชอบเลี้ยงวัวขุนวัวไปชนไม่ว่าแข่งกี่ครั้งก็ชนะทุกครั้งแต่เมื่อวัวชนที่ปู่รักกลับแพ้ทำให้ปู่เลิกราไปและได้สืบสานต่อมายังพ่อและพ่อได้ลองเปิดวีซีดีวัวชนให้คนดูทำให้เกิดความแปลกตาแปลกใจเป็นอย่างมาก เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ในตอนท้ายระหว่างการดูวัวชนในจอนั้นก็มีวัวชนแหกคอกมาขวิดเพราะเห็นวัวชนในจอจากการเปิดวีซีดี และมีเงาปู่โผล่มาเป็นเงาตะคุ่มใต้โคนขนุนอย่างไม่ทราบสาเหตุ

                จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมอันเนื่องมาจากความทันสมัยของเทคโนโลยี อย่างคาราโอเกะให้ความบันเทิงในงานเลี้ยงทำให้วงดนตรีรับจ้างหมดความสำคัญลง และตอนที่พ่อเปิดวีซีดีวัวชนฉายขึ้นจอใหญ่ในงานเลี้ยงหลายคนต่างก็ชื่นชอบและประหลาดใจกับสิ่งที่ได้เห็นอย่างสนุกสนาน ซึ่งการดูวัวชนจากวีซีดีแสดงให้เห็นว่ากีฬาพื้นบ้านซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็กำลังจะถูกสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าไปแทนที่ เพราะไม่ต้องไปดูที่สนามจริงอีกแล้วซึ่งวัวชนที่แหกคอกออกมาขวิดกับวัวชนในจอและปู่ที่ได้ปรากฏในตอนท้ายอาจจะเป็นสื่อที่บ่งบอกว่าไม่พอใจกับสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จะมาทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมไป

 

เรื่อง ราตรีมีชีวิต

                เรื่องราวของจำเริญพนักงานเก็บขยะที่ลูกสาวของเขาอยากได้ไก่เคเอฟซี หลายครั้งแล้วที่ก่อนออกจากบ้าน  ลูกเป็นต้องสั่งให้เขาซื้อไก่ทอดยี่ห้อนี้ไปฝาก และเขาเผลอลืมไปในทุกครั้ง และอีกหลายครั้งที่เขานึกขึ้นได้แต่ไม่กล้าเข้าไปซื้อเพราะกลัวว่าจะไปทำตัวเงอะงะสั่งอะไรไม่ถูกต้อง  เขาเลยซื้อไก่ทอดของป้าเอมไปให้โดยคิดว่ามันก็เป็นไก่ทอดเหมือนกัน  ลูกสาวกลับปฏิเสธ แล้วอธิบายให้เขาฟังว่ามันแตกต่างกันอย่างไร  เขารู้สึกว่าลูกฉลาดกว่าเขา  เขาไม่เข้าใจกับสิ่งที่ลูกอธิบาย และมารู้ความจริงวันหลังจากที่น้อยบอกว่า  แกเอาไก่ทอดที่เขาซื้อมาโยนให้ไอ้ด่างหมาข้างบ้านกิน”

                จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เคเอฟซีเป็นไก่ที่เป็นอาหารสมัยใหม่ที่ดูทันสมัยและหรูหราสำหรับคนรุ่นใหม่และใคร่อยากจะบริโภคมากกว่าไก่ทอดธรรมดาที่ไม่พิเศษอะไรซึ่งความทันสมัยมีอิทธิพลอย่างมากทำให้เด็กรุ่นใหม่หลงไปกับมันจนลืมไปว่าของดีๆใกล้ตัวก็ยังคงมีอยู่ซึ่งการที่จำเริญไม่เข้าใจลูกเพราะจำเริญยังติดอยู่การบริโภคที่เรียบง่ายแต่ลูกสาวนั้นได้ถูกกลืนกินไปกับความทันสมัยไปเสียแล้ว

 

                 ผู้เขียนใช้กลวิธีในการสอดแทรกทัศนคติและความคิดในการนำเสนอของแต่ละตัวละครในแต่ละเรื่องให้เห็นได้อย่างชัดเจนโดยการหยิบยกความคิดและความเชื่อของตัวละครมาเป็นตัวดำเนินเรื่องให้ผู้อ่านเข้าถึงความคิดของทุกตัวละครว่ามีความคิดที่แตกต่างกันอย่างไรในสังคมที่เปลี่ยนไปซึ่งได้ เสนอภาพชนบทได้อย่างลึกซึ้ง รวมไปถึงพฤติกรรม ตลอดจนความคิด ความเชื่อของชาวบ้าน และทำให้ผู้อ่านเกิดการตั้งคำถามกับปัญหาว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น มีการเปรียบเทียบให้เห็นภาพทำให้ผู้อ่านลุ้นติดตามเรื่องราวได้แต่ต้นจนจบและได้ข้อสรุปด้วยตนเองจากการจบเรื่องแบบปลายเปิด ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าผู้เขียนประสบผลสำเร็จในการนำเสนอ เพราะสามารถเขียนสะท้อนภาพชีวิตและสังคมในแง่มุมต่างๆทำให้ผู้อ่านนั้นตีความบทสรุปของแต่ละเรื่องเองได้หลายแง่ ไม่เป็นการตัดสินจบเรื่องแบบปลายปิดให้ผู้อ่านเชื่อตามบทสรุปของผู้เขียน

                  สุดท้ายนี้หนังสือ เราหลงลืมอะไรบางอย่าง ถือเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ดีอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงความเป็นไปของสังคม ได้ข้อคิดและแง่มุมต่างๆในการทำความเข้าใจกับความหลากหลายในสังคมมากขึ้น การไม่หลงลืมบางสิ่งอย่างที่อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตและรู้จักการปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข

 

อ้างอิง

วัชระ  สัจจะสารสิน.  (2560).  เราหลงลืมอะไรบางอย่าง.  พิมพ์ครั้งที่ 19.  ปทุมธานี:  นาคร.

ทฤษฎีการพัฒนา. (2555). สืบค้นจาก: https://thidarat00.wordpress.com//2011/11/16/ทฤษฎีการพัฒนา [ 20 กรกฎาคม  2660]

 

บทวิจารณ์โดย นางสาวยามีล๊ะห์ มูหามัด

Writer

The Reader by Praphansarn