อสรพิษ : “บทสรุปบทใหม่ของ ‘อสรพิษ’

อสรพิษ

 

             กระผมเป็นนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ มักจะได้รับความรู้ แนวคิด มาจากการอ่านวรรณกรรมอยู่บ่อยครั้ง มีความประทับใจทั้งผลงานวรรณกรรมไทยและวรรณกรรมต่างประเทศ แม้ว่ากระผมจะไม่ใช่นักอ่านมืออาชีพ แต่ก็สามารถรับรู้ได้ถึงคุณค่า เนื้อหาสาระของแต่ละผลงานได้ นอกเหนือจากความบันเทิง กระตุ้น กระเทือนอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังจะมีการสอดแทรกปมปัญหา ให้ได้นำมาขบคิดพิจารณา สร้างสรรค์ ตั้งคำถาม หาทางออกอยู่เสมอ ๆ ในครั้งนี้ จะขอนำวรรณกรรมรางวัลซีไรต์ เรื่อง “อสรพิษ” ของ “คุณแดนอรัญ แสงทอง” มาศึกษาเปรียบเทียบกับฉากสำคัญในภาพยนตร์ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ จูราสสิค เวิลด์ (Jurassic World) และ ก๊อดฟาเธอร์ (The Godfather) แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านผู้อ่าน ในประเด็น “การต่อสู้” และ “กัลยาณมิตร” นำไปสู่การสร้างบทสรุปบทใหม่ ซึ่งกระผมจะขอรวบรัดตัดความ ไม่กล่าวถึงเนื้อหามากนัก เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะเคยได้รู้มาบ้างแล้ว

 

              เรื่องสั้น “อสรพิษ” เปิดฉากขึ้นมาด้วยการบรรยายสภาพแวดล้อมพื้นหลังของฉากด้วยภาษาสละสลวย แล้ววกกลับมาที่ฉากต่อสู้ระหว่างเด็กชายแปแขนพิการกับงูตัวยาว เด็กชายล้มลงเสียหลักถูกงูรัดรอบตัวจนแน่นหายใจไม่ออก เขาใช้มือคว้าจับคองูพิษไว้ได้ก่อนที่มันจะฉกมาถึงตัว (ที่จริงงูพิษชอบฉกมากกว่ารัด) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นด้วยภายในการเขียนบรรยายอย่างรวบรัด ชัดเจน มีจังหวะการเคลื่อนไหวไหลลื่นเป็นธรรมชาติ ตัดภาพไปมาได้เหมาะสม โดยที่ไม่ทำให้กระผมรู้สึกเบื่อ อยากหยุดอ่านได้เลยแม้แต่บรรทัดเดียว ตลอดเรื่องมีการแทรกภาษาที่ไม่คุ้นเคยอยู่บ้าง (เป็นเพราะว่าภูมิยังไม่ถึง) บางจังหวะรู้สึกตื่นเต้น และเคลิ้มไปกับการบรรยายภาพทุ่งนา ความสุขของเด็กชาวทุ่ง พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย วิถีเกี่ยวดองกันของคนชนบท ซึ่งกระผมเองก็มีประสบการณ์นั้น จึงรู้สึกเหมือนว่าได้ย้อนกลับไปอยู่บ้านเกิดของตัวเอง

 

“จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนแรงแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำ นุ่มนวลอ่อนโดยลง

                                                                           ท้องฟ้าโปร่ง โล่งเหมือนโดมแก้วผลึก เสี้ยวเมฆบางเบาบนเส้นขอบฟ้า

                                                                           เหนือทิศตะวันตกเมื่อต้องแสงตะวันมีสีสันงามประหลาด”

                                                                                              (อสรพิษ: หน้า 81)

 

               การดำเนินเรื่องเป็นไปตามลำดับและยึดโยงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อ มีปมความขัดแย้งของเรื่องปรากฏขึ้นมา ย้ำเตือนว่าขณะนี้ผู้เขียนกำลังเล่าย้อนหลัง เป็นขณะเดียวกันกับที่เด็กชายกับงูเจ้าแม่กำลังปลุกปล้ำกันอยู่ ด้วยเทคนิคที่น่าชื่นชมมาก ด้วยการเขียนรายละเอียดของแต่ละฉากแล้วมาจบตรงท้ายย่อหน้า จังหวะที่จะย่อหน้านี้มักซ่อนเงื่อนงำบางอย่างไว้ ทำให้ต้องรีบไปอ่านย่อหน้าใหม่โดยเร็ว ชนิดที่ละสายตาไม่ได้ รู้สึกอยากติดตาม เหมือนตอนที่ดูภาพยนตร์สนุก ๆ สักเรื่องในคอมพิวเตอร์ แล้วกดเล่น จากนั้นกดหยุด เล่นแล้วหยุด ข้ามบางตอนที่ไม่น่าสนใจ ย้อนกลับมาดูใหม่ว่ามีเงื่อนงำอะไรบ้าง เล่นต่อไปจนถึงจุด ๆ หนึ่งที่คิดว่าจบ แต่ก็ยังไม่ใช่ ดังตัวอย่าง

 

                “ความโกรธเกรี้ยวของเจ้างูโหมกระพือ มันยืดตัวสูงขึ้นอีก หัวของมันแอ่นเอนมาทางเบื้องหลังเหมือนคันธนูที่ถูกน้าวจนสุดล้า ปากของมันอ้าออก เผยให้เห็นเขี้ยวอันโค้งงอและวาววับ ลมทุ่งยังกระโชกวู่หวิว มิหยุดยั้ง ขอบดวงทางด้านล่างของดวงตะวัน แตะเส้นขอบฟ้า เสียงวัวลูกแหง่ร้องเรียกหาแม่ดังมาอย่างว้าเหว่ เหยี่ยวแดงตัวหนึ่ง ลอยละล่องอยู่สูงลิวลิ่ว ส่งเสียงกรีดร้องแหลมสูง ด้วยความหิวโหยขณะมุ่งหน้ากลับไปสู่รวงรังอันเร้นลับของมัน ยังมิทันสิ้นเสียงร้องของเหยี่ยว งูก็ฉกลงมาเต็มแรง”  (อสรพิษ : หน้า 100)   

             แรงจากการปะทะนั้นรุนแรงเสียจนทำให้เขาซวนเซเสียหลัก สะดุดกิ่งมะขามแห้งกิ่งหนึ่งหักผลัวะและล้มลง ใบหน้าของเขาฟาดกับปุ่มปมของมะขามล้มต้นนั้นเข้าเต็มแรง เจ้างูเมื่อฉกไม่ถึงเป้าหมายและคอของมันถูกจิกจับไว้แน่นหนาอย่างนั้นก็ตระหวัดรัดร่างของเขาไว้โดยฉับพลัน ในชั่วพริบตาเดียวมันตวัดตัวรัดแขนซ้ายของเขา รัดลำตัวโดยรวบเอาแขนขวาของเขาไว้ด้วยและรัดขาทั้งสองของเขารวบไว้ด้วยกัน แต่แขนซ้ายของเขายังคงเหยียดยื่นออกมาและจับคอมของมันไว้และเกร็งแน่น ดันหัวเข้างูให้ออกห่างจากตัว การขัดขืนดิ้นรนของเขายิ่งทำให้เจ้างูโกรธเกรี้ยวแทบคุ้มคลั่ง มันเพิ่มแรงรัดขึ้นอีก ปากของมันอ้า เขี้ยวของมันแสยะ ขยับคอยักย้ายเพื่อจะได้เป็นอิสระ”  (อสรพิษ : หน้า 101)

              บางบทจบลงด้วยคำถามในใจผู้อ่านว่าจะเกิดอะไรต่อ เริ่มเดาทิศทางไม่ถูก กระทั่งมาถึงตอนที่ทรงวาดเดินเข้ามาใกล้เด็กชายแป ก็เริ่มปะติดปะต่อเนื้อเรื่องเข้าด้วยกัน และแยกส่วนความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งหมดอย่างชัดเจน โดยให้ฝั่งเด็กชายแปเป็นคนดีที่ไม่ถูกรัก ส่วนทรงวาดก็เป็นฝ่ายตรงกันข้าม

 

“ทรงวาดเดินเข้ามาใกล้เขา ใกล้มากกว่าที่คนอื่นๆ จะกล้า ทรงวาดจ้องลึกเข้ามาในดวงตาของเขา

                                                                      เขาจ้องตอบโดยไม่สะทกสะท้าน ในดวงตาของคนทรงเจ้าเจ้าเด็กแขนพิการเห็นรอยยิ้มแห่งชัยชนะ

                                                                      มีแต่เขาเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่รู้ว่านั่นคือชัยชนะของนักลวงโลกผู้ยิ่งใหญ่”

                                                                                                                          (อสรพิษ : หน้า 126)

 

               แม้ฉากปิดท้ายก็สามารถปิดได้ดี ด้วยอารมณ์สิ้นหวัง โดดเดี่ยว ท้อแท้ หมดอาลัยตายอยาก เหนือความคาดหมาย (เมื่อได้อ่านครั้งแรก) คล้ายกับเรื่องสั้นแนวหักมุมของนักเขียนตะวันตก และผลงานของคุณวินทร์ เลียววาริณ แต่ไม่เสียความรู้สึกไปเสียทีเดียว กลับกลายเป็นตัวกระตุ้นความคิดอย่างล้ำลึกว่า การที่เด็กชายแปยอมแพ้ต่อโชคชะตานั้นเป็นสิ่งที่รีบด่วนเกินไปหรือไม่ ในเมื่อศัตรูที่แท้จริงของเขาพึ่งจะปรากฏตัวตนให้เห็นได้ถนัดชัดเจนเมื่อตอนท้าย

 

              เจ้าเด็กแขนพิการไม่แยแสสนใจใครหรือสิ่งใด ๆ ดวงตาของเขาเหม่อลอย บางครั้งยิ้ม บางครั้งหัวเราะ บางครั้งร้องไห้ บางครั้งพูดจางึม ๆ พึม ๆ พำๆ กับ ตนเอง สติของเขาวิปลาสโดยสิ้นเชิงแล้วนับตั้งแต่วินาทีที่เขาตัดสินใจยอมจำนนนั้น (อสรพิษ : หน้า 127)

 

            การที่เด็กชายแปจะเอาชนะงูเจ้าแม่ตัวนั้นได้ เขาไม่ได้แสดงความภูมิใจ เมื่อเห็นอาการแสยะยิ้มของทรงวาดผู้มากไปด้วยวาสนาบารมี เขาเข้าใจได้ทันทีว่าตนต่างหากที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พ่ายแพ้ให้กับงูหลายตัวที่สิงอยู่ในร่างมนุษย์ ธาตุแท้ของมันเริ่มปรากฏให้เขาเห็น ในร่างของคนที่เขารู้จัก คนที่เขารักและศรัทธา เขาไม่อาจทำใจยอมรับความจริงนี้ได้ จึงเสียสติ ฟั่นเฟือน พูดจาไม่รู้ภาษา สัญญาวิปลาสไปตั้งแต่บัดนั้น

 

             ในเมื่อคุณแดนอรัญดำเนินเรื่องมาสิ้นสุด ณ จุดนี้ ย่อมหมายความว่าเขาได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเขียนแล้ว หากแต่กระผมและผู้อ่านบางท่านที่เคยพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน ยังไม่รู้สึกว่าเรื่องจะจบแต่เพียงเท่านี้ ยังพยายามหาคำตอบหลายประเด็นอยู่ว่า จริง ๆ แล้ว เด็กชายแปกลายเป็นคนบ้า เพราะอะไร? เป็นเพราะเขาขาดกองเชียร์สนับสนุนใช่ไหม ขาดที่พึ่ง ขาดเพื่อน ผู้ร่วมอุดมการณ์ ยืนหยัดต่อสู้กับความไม่รู้ ไม่เป็นธรรม สิ่งชั่วร้ายในสังคม

 

              หากนำไปเปรียบเทียบกับภาพยนตร์ต่างประเทศ 2 เรื่อง ที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้นแล้ว จะพบว่าแม้เนื้อเรื่องจะดำเนินมาจนถึงจุดไคลแมกเช่นเดียวกัน ก็อาจมีบทสรุปที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับเหตุผล ความรู้สึกและสามัญสำนึกผู้ดูผู้ชม กล่าวคือ ถ้าไม่ดำก็ขาว ไม่ขาวก็ดำ ดำเพราะอะไร ขาวเพราะอะไร ผู้ชมก็จะสามารถตอบตัวเองได้ เพราะว่าเนื้อเรื่องเขาได้ปูทางไว้ก่อนให้ทราบมาก่อนแล้ว ดังเช่น ภาพยนตร์เรื่อง เดอะ ก๊อดฟาเธอร์ (The Godfather) ตอนที่เจ้าพ่อดอน โคลิโอเน่ ถูกขอร้องให้ไปช่วยเหลือชายคนหนึ่งที่ถูกรังแก ดอนยอมช่วยเหลือเขา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องได้รับความช่วยเหลือทุกครั้งที่ดอนร้องขอ เป็น “คำขอที่ไม่อาจปฏิเสธ” เมื่อถึงคราวเจ้าพ่อดอน โคลิโอเน่ถูกเล่นงานบ้าง เขาก็ได้รับการช่วยเหลือตอบแทนเช่นกัน

 

                ส่วนภาพยนตร์เรื่องที่สอง จูราสสิค เวิลด์ (Jurassic World) ตอนที่พระเอกชื่อ โอเวน เกรดี ได้รับการช่วยเหลือจากไดโนเสาร์สายพันธุ์แรพเตอร์ ขณะที่ตกอยู่ใต้อุ้งเท้าและคมเขี้ยวของไดโนเสาร์พันธุ์ดุร้าย ซึ่งตัวโตกว่าพวกมันหลายเท่า เหตุผลที่เขาได้รับความพิเศษนี้ก็เพราะว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่เลี้ยงดูไดโนเสาร์แรกเตอร์มาตั้งแต่พวกมันยังเล็ก ๆ บรรยากาศต่อสู้ของฉากนี้ ถือว่าทำได้ดีมาก แสดงถึงมิตรภาพแท้ระหว่างคนกับสัตว์เดียรัจฉาน ซึ่งน่าประทับใจ ซาบซึ้งตรึงใจมาถึงผู้ชมให้อยากไปดูอีกครั้ง

 

              ทั้งสองตัวอย่างที่ยกมานี้ เมื่อพิจารณาดูดี ๆ จะพบว่าฝรั่งเขาได้มุ่งเน้นไปที่การผูกมิตร การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามตกทุกข์ได้ยาก เพื่อผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาไปได้ ด้วยรักความสามัคคี แตกต่างจาก “อสรพิษ” ในฉากที่ เมื่อพ่อและแม่เห็นเห็นสภาพของเด็กชายแปแล้ว ต่างวิ่งหนีเข้าไปในวัดด้วยความตระหนกตกใจ แทนที่จะรีบไปเหลือลูก ด้วยกลัวว่าลูกชายจะเป็นอะไรไป

 

              จริงอยู่ ที่การวิ่งหนีเป็นภาพสะท้อนถึงความอ่อนแอในจิตใจคน แต่กระนั้นก็ย่อมมีการแสดงความเข้มแข็งอย่างมีข้อแม้ โดยเฉพาะลูกบังเกิดเกล้าเช่นเด็กชายแปแล้ว ย่อมเป็นข้อแม้ที่มีน้ำหนักมาก มีความเป็นไปได้มาก ดังสำนวนที่ว่า “อันชนกชนนีนี้รักเจ้า เทียมเท่าชีวาก็ว่าได้”  ฉะนั้นแล้ว  จะดีกว่าไหมที่พ่อแม่ของเด็กชายแปแสดงอาการคลุกคลีตีโมง ตีอกชกท้อง ร้องไห้ เวทนาสงสารลูกของตัวเองอยู่ใกล้ จะดีกว่าไหม ถ้ามีฉากข่มใจสู้ตายโอบกอดลูก ท่ามกลางวงล้อมของชาวบ้านที่จ้องจะกินเลือดกินเนื้อ  

 

ดังนั้น เพื่อลดความคลาดเคลื่อนนี้ กระผมจึงออกแบบบทสรุปบทใหม่ ให้สอดคล้องกับเหตุผลข้างต้น เมื่อพิจารณาแล้วก็พบความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้

  1. พ่อแม่วิ่งไปหาอุปกรณ์ มีด พร้า จอบ เสียม กลับมาช่วยเด็กชายแป
  2. พ่อแม่วิ่งไปนิมนต์หลวงตาเทียนมาช่วย
  3. เด็กชายแปวิ่งไปหาหลวงพ่อเทียนที่วัด
  4. ทรงวาดเองเป็นฝ่ายช่วยเด็กชายแป เป่าคาถาแก้ความบ้าของเด็กชายแปร
  5. กองเชียร์ได้สติรู้คิด กลายเป็นกัลยาณมิตรรุดมาช่วยเหลือทันท่วงที
  6. เด็กชายแปแกล้งเป็นบ้า แล้วประกาศว่าตนคือร่างทรงคนใหม่ของเจ้าแม่แพรกหนามแดง

 

               บทสรุปดังกล่าว เป็นเพียงแนวทางเพื่อนำไปสู่บทสรุปอื่นที่เหมาะสมยิ่งกว่า ซึ่งกระผมเชื่อแน่ว่าท่านผู้เขียนได้พินิจพิจารณาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมให้แก่เด็กชายแป (เด็กชายอายุ 10 ขวบ แถมยังพิการอีกต่างหาก) เอาไว้เล่นบทพระเอก พลิกแพลงสถานการณ์เอาชนะฝ่ายตรงข้าม ให้ดูสมศักดิ์ศรี เฉกเช่น เจ้าหน้าที่เลี้ยงไดโนเสาร์ โอเวน เกรดี และเจ้าพ่อดอน โคลิโอเน่

 

                 อย่างไรก็ดี กระผมยังคงชื่นชอบวรรณกรรมเรื่อง “อสรพิษ” อันทรงคุณค่าเล่มนี้ เพราะมีความหมายถึงการ “การต่อสู้” “การใช้สติปัญญา” และ “แสวงหากัลยาณมิตร” เพื่อที่จะยืนหยัดในสังคมที่โหดร้าย ป่าเถื่อน เพื่อที่จะตั้งอยู่ในความดี ความงาม ความจริง ความถูกต้อง มีศิลปะ สุนทรียะ ทรงคุณค่า สร้างสรรค์ โดยเฉพาะคุณค่าอันดีงามของความเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง มีสัญลักษณ์ก็ คือ เด็กชายแป เพื่อลบล้างกับฝ่ายตรงข้าม อันได้แก่ ความหลง ความโกหก หลอกลวง ความคลุมเครือ แฝงอำนาจชั่วร้าย ไสยศาสตร์ ความเชื่องมงาย กิเลสตัณหา สัญชาตญาณหรือสิ่งเร้นลับภายในจิตใจมนุษย์ มีสัญลักษณ์ คือ งูเจ้าแม่และทรงวาด

 

            ท้ายที่สุดนี้ กระผมขอยืนยันว่าการอ่านวรรณกรรมหลาย ๆ ชิ้น โดยเฉพาะเรื่อง “อสรพิษ”นี้ ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกสลดหดหู่ สิ้นหวัง สติวิปลาสเหมือนเด็กชายแปแต่อย่างใด กลับทำให้มีสติปัญญา รอบรู้ มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ ว่าจะสามารถเผชิญหน้ากับความจริงและอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ ถถถ้าหากได้ศึกษาเรียนรู้มากพอ ขอเพียงเวลาและโอกาส เพิ่มพูนสติปัญญา พัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ผ่านพ้นไปได้ด้วยสามารถตนเองและความร่วมมือร่วมใจของกัลยาณมิตรทั้งหลาย อันจะกลายเป็นบทสรุปภาพยนตร์บทใหม่ที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตจริง.

บทวิจารณ์โดย นายจักรภัทร  ทาจันทร์

 

Writer

The Reader by Praphansarn