เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน : เปลือยชีวิตหมอ(จำเลย)ในเขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน

เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน

หากกล่าวถึงปัญหาแพทย์ถูกฟ้องร้อง ผู้ที่ติดตามข่าวด้านสาธารณสุขจะทราบดีว่าเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน ส่วนผู้ที่ไม่ค่อยได้ติดตามข่าวก็คงพบเห็นได้บ้างประปรายตามสื่อต่าง ๆ อาจมีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว แน่นอนว่านี่เป็นปัญหาที่เด่นชัดพอสมควร เพราะเป็นเรื่องที่กระทบกระเทือนถึงสัมพันธภาพระหว่างแพทย์กับคนไข้ เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวของแพทย์ผู้ถูกฟ้องร้อง ที่ได้ลุกขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของเธอออกมาเป็นงานวรรณกรรมประเภทสารคดีที่ยอดเยี่ยม การันตีด้วยรางวัลชมนาดระดับดีเด่นครั้งที่ 4 ผลงานของ อู่ฮุ่ยเซียง หรือพญ.สุดานี บูรณเบญจเสถียร

คุณหมอเซียงผู้นี้ได้ลุกขึ้นมาถ่ายทอดเรื่องราวจากข้อเท็จจริงที่เคยเกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่เกี่ยวกับประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเธอ ซึ่งได้เคยถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชนและมีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นในชีวิตของคุณหมอนั้นร้ายแรงถึงขนาดทำให้เธอถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “ฆาตกร” และถูกฟ้องร้องเป็นคดีทั้งทางแพ่งและอาญา ในคดีอาญาเธอถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของตนจนทำให้คนไข้ผู้อยู่ในความดูแลต้องถึงแก่ความตาย และถึงแม้ในตอนนี้เรื่องราวทั้งหมดจะได้ผ่านพ้นไปจากชีวิตของเธอแล้วก็ตาม แต่เรื่องราวเหล่านั้นก็มิเคยเลือนหายไปจากใจและยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตของเธอมาตลอดจวบจน ณ ปัจจุบัน

ความน่าชื่นชมของวรรณกรรมสารคดี “เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน” นอกจากจะเป็นเรื่องราวที่เขียนขึ้นจากข้อเท็จจริง มีประเด็นปัญหาชวนน่าติดตามแล้ว ยังน่าชื่นชมทั้งการวางลำดับและวิธีการเล่าเรื่อง ด้วยเพราะเรื่องราวซึ่งสร้างสรรค์ขึ้นมาจากเหตุการณ์จริงนั้นจะมีลำดับของเวลาที่แน่นอนตายตัวอยู่แล้ว ทำให้ยากที่จะลำดับเรื่องราวให้ต่างไปจากเดิม หากทำออกมาได้ไม่ดีผู้อ่านก็จะตามเรื่องราวในหนังสือไม่ทัน เนื้อเรื่องก็จะออกมาน่าเบื่อ ซึ่งในสารคดีนี้แม้ผู้เขียนจะใช้การเล่าเรื่องแบบไม่ตามลำดับเวลาของเหตุการณ์ แต่เพื่อไม่ให้ผู้อ่านสับสน ผู้เขียนก็ได้บอกลำดับเวลาในเรื่องให้ผู้อ่านได้ทราบผ่าน “วันที่” ที่ระบุไว้ในเนื้อเรื่องเป็นระยะ โดยผู้เขียนเริ่มเปิดเรื่องด้วยท่อนเกือบจบแล้วเล่าย้อนถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่หมอเซียงได้เผชิญแล้วจึงค่อยดำเนินเรื่องต่อจนจบ ทำให้เนื้อเรื่องยิ่งน่าติดตาม ในทุกองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี

ในด้านการเล่าเรื่อง ผู้เขียนใช้การเล่าผ่านกระแสสำนึกภายในจิตใจของหมอเซียง ซึ่งการเล่าเช่นนี้จะทำให้ผู้อ่านได้ใกล้ชิดกับความรู้สึกภายในจิตใจหมอเซียงมากขึ้น เสมือนผู้อ่านได้เข้าไปนั่งอยู่ในใจของหมอเซียงเอง สิ่งที่ตามมาคือผู้อ่านจะเข้าถึงจิตใจของแพทย์ เข้าถึงประเด็นของเรื่องได้ง่าย และผู้เขียนยังได้ใช้การเล่าเรื่องแบบ “เรื่องเล่าในเรื่องเล่า” ในรูปแบบของ บันทึกประจำวัน แทรกเข้าไปในการดำเนินเรื่องเป็นระยะ ซึ่งทำให้เนื้อเรื่องกระชับและอ่านเพลินยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ผู้เขียนยังได้สอดแทรกเรื่องราวความรู้ทางการแพทย์ ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในศาลลงไปพร้อมสื่อออกมาให้ผู้อ่านเข้าใจในระดับที่เรียกว่า “กินได้” ควรค่าแก่การติดตามยิ่ง

อย่างไรก็ตามข้อมูลอ้างอิงบางอย่างในเรื่องผู้อ่านควรระมัดระวังและควรพิจารณาเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ด้วย เนื่องจากอ้างอิงมาจาก ‘ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ’ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลได้ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบ่อยครั้ง จุดนี้เองที่ทำให้ข้อมูลจากสารานุกรมนี้มิอาจเชื่อถือได้ 100% และในบางครั้งมีการบรรยายองค์ประกอบฉากที่มากเกินไปทำให้เนื้อเรื่องอาจดูยาวย้วยไปบ้าง จุดนี้ผู้เขียนควรจัดให้มีการนำเสนอเป็นภาพประกอบจะทำให้เนื้อเรื่องกระชับและจะเข้ากับองค์ประกอบต่าง ๆ ของเรื่องได้ดีกว่า

ในส่วนด้านเนื้อหานั้น ผู้เขียนได้พาผู้อ่านเข้าไปสู่สารคดีชีวิตที่ดำเนินเรื่องประหนึ่งนวนิยาย เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่โรงพยาบาลแม่จัน โรงพยาบาลที่หมอเซียงรับราชการคอยดูแลคนไข้อยู่ประจำ วันหนึ่งที่เธอประจำอยู่แผนกฝากครรภ์ เธอได้พบกับ “คุณนงค์” หญิงวัยกลางคนที่มาเพื่อฝากครรภ์คลอด ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปรกติจนถึงวันรอคลอด หนึ่งชีวิตกำลังจะได้ลืมตาดูโลก แต่ใครเล่าจะทราบว่าเหตุการณ์ต่อมาจะเป็นการทำหัตถการช่วยชีวิต แทนการผ่าตัดคลอด ที่สุดหลังจากหมอเซียงและทีมพยาบาลได้พยายามช่วยชีวิตคุณนงค์อย่างสุดความสามารถ เธอก็ได้เสียชีวิตลงจากภาวะน้ำคร่ำเข้ากระแสเลือดที่มีโอกาสเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 80,000 ส่วนโอกาสสำเร็จในการรักษานั้นเรียกได้ว่าแทบจะเป็นศูนย์

ที่ตามมาหลังความสูญเสียคืออารมณ์เศร้าเสียใจอย่างมิอาจเลี่ยง คลื่นอารมณ์ญาติฝ่ายหนึ่งของคุณนงค์นั้นรุนแรงพร้อมพังทลายทุกสิ่ง พวกเขาเหล่านั้นไม่ยินเหตุผล ไม่ฟังข้อเท็จจริง กลับใช้อารมณ์ตราหน้าหมอเซียงว่าเป็นฆาตกร พร้อมดำเนินการฟ้องร้องหมอเซียงทั้งทางแพ่งและอาญา หมอเซียงพยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ใจของเธอให้ญาติของผู้ตายเห็น แต่ไม่เป็นผล เธอยังคงถูกตราหน้า แต่เธอก็ไม่เคยย่อท้อต่อความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ผู้เสียสละ หมอเซียงตัดสินใจแล้วว่าเมื่อเธอไม่ได้ทำผิด เธอจะสู้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวของเธอเอง แต่เพื่อเป็นบรรทัดฐานที่ดีของสังคม หลังจากเธอตัดสินใจต่อสู้คดี เรื่องราวหลากหลายก็ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามาในชีวิตของเธอคล้ายคลื่นเซาะฝั่ง บทเรียนแรกที่สุดสะเทือนใจคือ หลังผ่านขั้นตอนการไต่สวนสืบพยานก่อนการประทับรับฟ้องของศาล ซึ่งผลออกมาว่าศาลประทับรับฟ้อง หมอเซียงผู้ตกเป็นจำเลยเต็มตัว ด้วยความไม่รู้และไม่พร้อมทำให้เธอต้องถูกฝากขังเพื่อรอการประกันตัว ในระหว่างนั้นเธอได้เฝ้าถามกับตัวเองอย่างน่าสงสารว่า “ฉันมันเลวขนาดนั้นเชียวหรือ ?”

คลื่นระลอกแรกยังมิทันสงบดี ระลอกที่สอง สาม สี่ ห้า ก็ตามมา ในบทที่ 25 “ นรกสาป สวรรค์เสร์ฟ ” ด้วยความคิดเห็นที่ต่างกันมาแต่ต้น เมื่อถูกกระทบกระเทือนมากเข้าด้วยความไม่เข้าใจกันหลังหมอเซียงตัดสินใจต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง เธอก็ต้องอย่าขาดจากสามี สูญเสียชีวิตครอบครัวจากการถูกตราหน้า ต้องเป็นเก้าอี้ที่รองรับน้ำหนักได้แกร่งกว่าเก่าเพื่อแทนหน้าที่พ่อของลูก ๆ ทั้งพ่อของเธอก็ป่วยเป็นอัมพาตรอบที่สอง ทำให้เธอต้องแบ่งเวลามาช่วยดูแล ซ้ำยังถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัวในครอบครัว หนักหนาถึงขนาดที่ว่ามีคนไปดักรอเพื่อพูดจาว่าร้ายหมอเซียงต่อหน้าลูก ๆ ของเธอ ทุกอย่างประเดประดังเข้ามาบนถนนเส้นทางชีวิต จนแวบหนึ่งหมอเซียงถึงกับมีความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพื่อให้พ้นทุกข์นี้เสีย แต่แล้วเธอก็ผ่านมาได้ด้วยกำลังใจจากครอบครัวและเหล่ากัลยาณมิตร คงมิอาจมีภาษาใดในโลกบรรยายความรู้สึกทั้งหมดของหมอเซียงออกมาได้เลยว่า ณ ตอนนั้นความรู้สึกของเธอเป็นเช่นไร

การต่อสู้คดีเพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้แก่สังคมตามความตั้งใจของหมอเซียงยังคงดำเนินต่อไป ผ่านขั้นตอนการพิจารณาไกล่เกลี่ย จนจบลงที่การพิจารณาคดีของศาล บทสรุปของเรื่องราวในบทที่ 33 “แสงสว่างที่ปลายซอยของหมอ(หมา)จนตรอก” คือฝ่ายโจทก์ยอมถอนฟ้องหมอเซียงทั้งหมด อนึ่ง ในตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าพบเห็นประเด็นปัญหาที่ผู้เขียนได้สอดแทรกไว้ในเรื่องราวมากมาย แต่ละประเด็นปัญหาก็ล้วนชวนน่าขบคิดทั้งสิ้น อาทิ

เหยื่อของสังคม ความเป็นจริงของโลกคือเราไม่อาจบังคับใจใครให้คิดเห็นไปในทางเดียวกับเราได้ จักรวาลที่เรียกว่าสังคมนั้นกว้างใหญ่เกินกว่าที่ใครจะตั้งตัวดำรงตนเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ทุกคนมีสิทธิที่จะคิดและแสดงออกไปตามที่เขาต้องการ ซึ่งจะไม่มีสิ่งใดผิดเลยหากความคิดและการแสดงออกของเขาไม่ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น หนังสือเล่มนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลในสังคม ผ่านเรื่องราวชีวิตของหมอเซียงซึ่งถูกกระทำละเมิดทั้งทางตรงและทางอ้อม หมอเซียงกำลังตกเป็นที่ระบายของบุคคลเหล่านั้น ทั้งที่บางคนไม่รู้ข้อเท็จจริงอะไรเลย เพียงฟังเขาเล่าต่อ ๆ กันมา หรือรับฟังมาบ้างจากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ซึ่งบ่อยครั้งที่สื่อเหล่านี้มักจะนำเสนอข่าวแต่เพียงด้านเดียว บางคนก็เข้ามาเพียงเพื่อความสะใจ ซึ่งหากพวกเขาเหล่านี้รู้จักคิด วิเคราะห์ทำความเข้าใจข้อเท็จจริงแม้สักนิด ชีวิตของคนคนหนึ่งคงไม่ได้รับผลกระทบมากมายเช่นนี้ สุดท้ายแล้วหมอเซียงก็ต้องตกเป็นจำเลยของสังคม ทั้งที่ตนไม่ได้ทำอะไรผิด หรือแท้จริงแล้วสังคมอาจจะไม่ได้ต้องการหาคนผิด สังคมอาจเพียงแค่ต้องการ “กล่าวโทษ” ใครสักคน และหมอเซียงกำลังเป็นเหยื่อของพวกเขา

ศรัทธาแด่เพื่อนมนุษย์
การเป็นแพทย์เป็นอาชีพที่ได้รับแรงกดดันสูง ด้วยเพราะสังคมเห็นว่าคนที่จะทำอาชีพนี้ได้จะต้องมีความเฉลียวฉลาด ละเอียดรอบคอบ จึงตั้งความหวังในการรักษาไว้สูงลิบ โดยหลงลืมไปว่าโลกนี้ไม่เคยมีสิ่งใดแน่นอน ไม่มีผู้ใดฝืนชะตากรรมได้ การเกิดแก่เจ็บตายของสิ่งมีชีวิตเป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีใครหนีพ้น อีกทั้งยังชอบคิดว่าแพทย์เป็นอาชีพที่มีรายได้สูง อาชีพใดที่รายได้สูง ความสามารถก็ย่อมต้องสูง ไม่มีทางที่จะเกิดข้อผิดพลาดใดขึ้น ความคิดเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คนในสังคมมักศรัทธาแต่เพียงเปลือกนอกของแพทย์ หลงลืมศรัทธาที่ควรมีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หลงลืมไปว่าแพทย์เองก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งเช่นพวกเขา ย่อมมีอารมณ์ มีความรู้สึก มีผิดพลาดกันได้เช่นคนปรกติ ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ควรที่จะนึกถึงจิตใจของแพทย์ด้วย จิตใจของแพทย์นั้นนอกจากจะต้องแบกรับแรงกดดันจากความคาดหวังของคนไข้ซึ่งนับว่าหนักหนาแล้ว ยังต้องแบกรับแรงกดดันจากภายในจิตวิญญาณของตนเองซึ่งก็หนักหนาไม่แพ้กัน คงไม่มีแพทย์คนใดที่จะยินดีเมื่อคนไข้ของตนตาย เช่นเดียวกับคนธรรมดาที่คงไม่มีใครรู้สึกยินดีเมื่อได้เห็นข่าวของการสูญเสีย ไม่ว่าข่าวนั้นจะเกิดขึ้นกับใคร กับสิ่งใดก็ตาม ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นบุคคลใด ประกอบอาชีพใด สถานะทางสังคมจะเป็นอย่างไร หากขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ด้วยกันแล้ว ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันทั้งสิ้น และหากว่าเป็นเพื่อนกันแล้ว ก็ควรจะมีความเห็นอกเห็นใจ เคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช่จ้องแต่จะเหยียบย่ำซ้ำเติม

มองด้วยใจที่ไร้อคติ
บุคคลหลายคนในเรื่องนั้นมีมุมมองต่อปัญหาที่แตกต่างจากหมอเซียง และหมอเซียงเองก็ใจกว้างพอที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างเหล่านั้น พร้อมนำกลับมาพิจารณา การถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาเช่นนี้นั้นหลายคนมักจะไม่ยอมรับ โดยมักจะตราหน้าว่าอย่างไรเสียก็เป็นมุมมองของคนอื่น จะมารู้ดีกว่า หรือจะมาสั่งสอนคนที่มีประสบการณ์มากกว่าได้อย่างไร ซึ่งนั่นเป็นการมองด้วยใจที่เต็มไปด้วยอคติต่อผู้อื่น คนเราควรที่จะต้องรู้จักรับฟังคิดเห็นของผู้อื่นให้มาก ทั้งต้องรับฟังโดยปราศจาคอคติ หากทำได้แล้วเราก็อาจได้พบกับความคิดเห็นมุมมองใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ ที่เราอาจจะมองไม่เห็นหรือได้มองข้ามไป ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจของเรา ธรรมชาติของมนุษย์นั้นมักมองเห็นความผิดพลาดของผู้อื่นได้ดีกว่าการมองเห็นความผิดพลาดของตนเอง และไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นของใครก็ตาม หากเขาเหล่านั้นมอบให้แก่เราด้วยความปรารถนาดีแล้วก็ไม่มีทางที่จะไร้ค่า อีกทั้งบุคคลภายนอกก็ไม่ได้รับแรงกดดันจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึงอาจทำให้มองเห็นมุมมองของปัญหาได้กว้างกว่าคู่ความด้วยกัน อย่างในบทที่ 5 “เราต้องสู้เพื่อความดีไม่ใช่หรือครับแม่” ปริญญ์กับท่านอัยการสุนทรนั้นก็ได้ให้ความเห็นเชิงวิเคราะห์ไว้ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในด้านของมุมมองส่วนตัวของตนเอง และมุมมองในทางด้านญาติของผู้ตาย ซึ่งในแต่ละด้านก็นับว่าควรค่าอย่างยิ่งในการรับฟัง

การตัดสินใจบนพื้นฐานของจรรยาบรรณ
ในบทที่ 6 “กลยุทธ์การต่อสู้” หมอเซียงได้ทำการตัดสินใจว่าจะสู้คดีหรือไม่สู้ โดยหมอเซียงทำการตัดสินใจบนพื้นฐานของคำถามที่ว่า “เธอจะต่อสู้ไปเพื่อสิ่งใด” ท้ายที่สุดเธอก็ได้คำตอบที่ผ่านการกลั่นกรองมาโดยละเอียดแล้วว่า “เธอจะสู้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวของเธอเองแต่ก็เพื่อสร้างบรรทัดฐานให้แก่สังคม” คำตอบนี้แสดงให้เห็นถึงจิตใจอันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวของเธอ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน นับว่าเป็นการตัดสินใจที่น่ายกย่อง การกระทำเช่นนี้นั้นเป็นสิ่งที่คนในสังคมควรยึดถือเป็นแบบอย่าง ไม่ใช่เพียงแค่เฉพาะอาชีพแพทย์เท่านั้น แต่หมายถึงทุกคนในสังคมไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด การกระทำในบางครั้งแม้จะไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่ก็สมควรพิจารณาการกระทำของตนก่อนโดยคำนึงถึงหลักจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพและหลักจริยธรรมในการดำเนินชีวิตด้วย ทั้งนี้โดยถือเอาประโยชน์ของสาธารณะเป็นสำคัญ

ข้อเท็จจริงทุกอย่างมีสามด้าน
เหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในหนังสือเล่มนี้สอนให้เรามองข้อเท็จจริงจากหลาย ๆ มุม ไม่มองแค่เพียงหนึ่งหรือสองด้าน ข้อเท็จจริงทุกอย่างนั้นล้วนมีสามด้านเสมอได้แก่ ด้านของเขา ด้านของเรา และด้านที่เป็นจริง ซึ่งเมื่อเรามองเห็น รับฟังข้อเท็จจริงในทุก ๆ ด้านครบถ้วนแล้ว สิ่งที่ตามมาคือความเข้าใจในปัญหา นำไปสู่การถกเถียงในเชิงสร้างสรรค์เพื่อพิจารณาหาทางออกร่วมกัน ซึ่งในเรื่องนี้มุมมองทั้งสามด้านที่ต้องพิจารณาได้แก่ ด้านของเขาคือ มุมมองของทางญาติฝั่งผู้เสียหาย ด้านของเราคือ มุมมองทางฝั่งของคุณหมอ และด้านสุดท้ายคือด้านที่เป็นจริง มุมมองทางด้านนี้แม้ว่าอาจจะมีบุคคลที่ทราบรู้อยู่แก่ใจแล้วก็ตาม แต่หากขาดหลักฐานก็เป็นเรื่องยากที่อีกฝ่ายจะยอมเชื่อยอมรับฟัง ดังนั้นในด้านนี้จึงเป็นมุมมองที่อิงอยู่กับกระบวนการยุติธรรมซึ่งถูกตัดสินโดยมุมมองของท่านผู้พิพากษาพิจารณาคดี ผู้ตัดสินข้อเท็จจริงต่าง ๆ บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ยุติธรรมดังเช่นที่ปรากฏในเรื่อง

ปกป้องมิใช่ทำลาย
การต่อสู้คดีความนั้น แม้จะเป็นการต่อสู้กันจริงเพราะย่อมมีผู้แพ้ผู้ชนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีการต่อสู้เป็นคดีความเกิดขึ้นนั้น ทั้งสองฝ่ายจะต้องต่อสู้กันเพื่อมุ่งหวังผลแพ้ชนะแต่เพียงอย่างเดียว เพราะหากยึดมั่นแต่เพียงผลแพ้ชนะจนหลงลืมสิ่งสำคัญอันได้แก่การเห็นอกเห็นใจคู่ความด้วยกันไป หลงลืมการเอาใจเขามาใส่ใจเรา ท้ายที่สุดแล้วย่อมพบแต่ความสูญเสีย ไม่มีฝ่ายใดได้อะไรเลย ซึ่งผู้เขียนก็ได้สื่อจุดประสงค์ของการเป็นความกันให้ผู้อ่านได้ทราบว่า การต่อสู้คดีนั้นมิได้ต่อสู้กันเพื่อมุ่งหวังถึงผลแพ้ชนะ แต่เป็นการมุ่งหวังถึงการปกป้องส่วนได้เสียในส่วนของฝ่ายตนมิให้ถูกล่วงละเมิดเกินไปหนัก โดยดำเนินการผ่านกระบวนการยุติธรรมซึ่งมีศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินชี้ขาด

ผชิญหน้าและเก็บเกี่ยว
ปัญหาใดไม่ว่าเกิดขึ้นแล้วก็ย่อมมีผลกระทบตามมา ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำหากปัญหาเกิดขึ้นแล้วคือเราต้องรู้จักเผชิญหน้ากับมัน จริงอยู่ที่ไม่ควรปล่อยปัญหาให้เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยแก้ แต่หากเราได้กระทำเต็มที่แล้วปัญหายังเกิดขึ้นอีก เราก็ต้องรู้จักยอมรับและมีความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้ลุกลามบานปลายจนส่งผลกระทบไปทั่ว คงไม่มีใครยินดีที่จะได้เป็นความกับผู้อื่นจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล เพราะนั่นหมายถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเงิน เวลา สุขภาพกาย สุขภาพจิตและอื่น ๆ ที่จะต้องเสียไป แต่ในทุกเส้นเวลาของชีวิตย่อมมีโอกาสให้เราเก็บเกี่ยว นั่นคือผลผลิตซึ่งเต็มไปด้วยรสชาติของชีวิต เมื่อได้ดื่มกินจะทำให้เราเติบโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่ที่มองเห็นโลกได้กว้างกว่าเดิม ทุก ๆ ปัญหานั้นมีทางออกของมันอยู่ เพียงแค่เราต้องรู้จักเผชิญหน้า อย่ายอมแพ้หรือวิ่งหนีปัญหาทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือแก้ ในระหว่างหาทางออกนั้นมีอะไรให้เราเก็บเกี่ยวมากมาย การเผชิญหน้ากับปัญหานั้นไม่ได้สำคัญเพียงแค่ว่าเราจะจัดการกับมันได้หรือไม่ แต่สำคัญตรงที่เราเก็บเกี่ยวอะไรได้จากมันบ้างต่างหาก

สารคดีเล่มนี้จะพาผู้อ่านเข้าไปสู่อีกมุมมองชีวิตหนึ่งของแพทย์ที่เราอาจไม่เคยได้รับรู้มาก่อน ได้เห็นถึงความเสียสละของแพทย์ที่ถือประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตัว ผ่านการถ่ายทอดออกมาด้วยกลวิธีการดำเนินเรื่องที่ไม่ซับซ้อน อ่านเข้าใจได้โดยง่าย มีการลำดับเรื่องที่ดี แม้จะมีเนื้อหาค่อนข้างหนักไปบ้างแต่เนื้อเรื่องก็กระตุ้นให้ผู้อ่านคิดตามตลอดเวลา เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ชื่นชอบวรรณกรรมที่ทั้งอ่านเพลินและมีความรู้มอบให้แก่ผู้อ่าน มีแง่คิดการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย ที่สำคัญคือหนังสือเล่มนี้สอนให้เรามองเห็นปัญหาจากมุมที่แตกต่าง ไม่ตั้งตนเป็นศูนย์กลางตัดสินผู้อื่น มีเมตตาและรู้จักการให้อภัย รู้จักใจเขาใจเรา คุ้มค่าแก่การติดตามเรื่องราวไปจนถึงบทสรุป มุมมองของแต่ละบุคคลในเรื่องเองก็มีความหลากหลาย กระตุ้นความคิดให้ผู้อ่านวิเคราะห์แยกแยะ ไม่เชื่อข้อเท็จจริงใดง่าย ๆ โดยที่ไม่ผ่านการตรวจสอบก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้มีใครต้องทนทุกข์ทรมานจากการกระทำอันปราศจากการไตร่ตรองของบุคคลใดดังเช่นเรื่องราวใน เขาตราหน้าว่าหมอฆ่าคน เล่มนี้อีก

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ