อนาคตจีนยักษ์ใหญ่ของวงการหนังสือโลก ผ่านสายตา ลี เป่ยยี : หนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็คือวงการหนังสือ

อนาคตจีนยักษ์ใหญ่ของวงการหนังสือโลก ผ่านสายตา ลี เป่ยยี

"รัฐบาล จีนมีนโยบายว่า การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง หากหวังเห็นประเทศพัฒนาได้อย่างมั่นคง วงการหนังสือจึงได้รับอานิสงส์จากแนวคิดนี้จนเติบโตขึ้นมาก"
 

ใน ระยะเวลาชั่วพริบตาหลังการเปิดม่านไม้ไผ่ ประเทศจีนแปรเปลี่ยนจากประเทศที่ตัวใหญ่อุ้ยอ้าย ก้าวเดินอย่างเชื่องช้า กลายเป็นหนุ่มฉกรรจ์ พลังเยอะ และประสบความสำเร็จในด้านต่างๆอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจที่ทั่วทั้งโลกต้องจับตามอง "หนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดก็คือ "วงการหนังสือ"

เพียง 3 ทศวรรษ จีนได้เติบโตจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการหนังสือโลก ถนนทุกสายมุ่งสู่เมืองมังกรซึ่งยังมีช่องว่างทางการตลาดชวนท้าทายอีกมาก สำนักพิมพ์ในไทยหลายแห่งกลายเป็นขาประจำที่สำนักพิมพ์จีนซื้อลิขสิทธิ์ไปตี พิมพ์ และ "ปักกิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล บุ๊คแฟร์" ที่จัดในช่วงปลายเดือนสิงหาคมของทุกปีไม่ได้มีความหมายแค่เพียงระดับเอเชีย แต่โยงใยถึงระดับโลก

"สำหรับลี เป่ยยี ประธานสมาพันธ์สิ่งพิมพ์ประเทศจีน เขามองว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น" ลี เป่ยยี ได้รับการยกย่องในจีนว่าเป็นบุคคลแห่งปี 2010 ในอุตสาหกรรมสำนักพิมพ์ ในวันที่เขาเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเป็นตัวแทนประเทศจีนร่วมประชุม APPA ลี เป่ยยี ได้เปิดเผยถึง "ปัจจุบันและอนาคต" ของวงการหนังสือในประเทศจีนว่ามีเพียงคำเดียวเท่านั้นคือ "เติบโตและเติบโต"

"เรา เติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังเปิดประเทศ ตอนนี้เรามีสำนักพิมพ์ทั้งหมด 560 สำนักพิมพ์ นิตยสารกว่า 10,000 ปก ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสำนักพิมพ์ของจีนเอง จริงอยู่ที่เรารุดหน้าเรื่องเศรษฐกิจไปมาก แต่คนจีนก็ไม่เคยทิ้งการอ่าน เพราะการอ่านอยู่ในรากฐานวัฒนธรรมของเรา เรายกย่องบัณฑิต ยกย่องการศึกษาหาความรู้ เพราะเศรษฐกิจของบ้านเมือง ความเจริญก้าวหน้าทั้งหลายล้วนเริ่มต้นด้วยความรู้ที่มาจากการอ่าน" ลี เป่ยยีกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ลี เป่ยยี เผยว่า หนึ่งในแรงสนับสนุนสำคัญนั้นมาจากรัฐบาลจีนที่ให้งบประมาณสนับสนุนอย่างเต็ม ที่ในการแปล ตีพิมพ์ และเผยแพร่ทั้งหนังสือจีนในประเทศ หนังสือต่างประเทศที่นำมาแปล และการนำหนังสือชาวจีนสู่สายตาชาวโลก

"รัฐบาล จีนมีนโยบายว่า การลงทุนกับทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สมควรกระทำอย่างยิ่ง หากหวังเห็นประเทศพัฒนาได้อย่างมั่นคง วงการหนังสือจึงได้รับอานิสงส์จากแนวคิดนี้จนเติบโตขึ้นมาก ในปี 2001 เราพิมพ์หนังสือปีละ 150,000 ปก แต่ในปี 2010 เพิ่มมาเป็น 370,000 ปกต่อปี ทำให้จีนมีสำนักพิมพ์ที่มากที่สุดในโลก และเติบโตเป็นอันดับสามของโลกในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ทั้งหมดเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การอ่านของจีนขยายตัวอย่างมาก เพราะหนังสือมากมายถูกส่งไปยังห้องสมุดสาธารณะตามชนบทในภูมิภาคต่างๆ กว่า 600,000 แห่ง"

หากใครเคยไปจีน จะเห็นเลยว่าประเทศนี้ผู้คนอ่านหนังสือกันจริงจัง ตามป้ายรถเมล์จะมีหนังสือพิมพ์ทั้งเล่มมาติดบอร์ดไว้ให้คนอ่าน และคนก็อ่านจริงๆ แบบไม่ปล่อยให้บอร์ดหงอยเหงา ระหว่างการเดินทางผู้คนก็จะมีหนังสือติดกระเป๋าให้หยิบอ่านอยู่เสมอ ที่สำคัญคือหนังสือจีนราคาถูกมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ

โดย หนังสือส่วนใหญ่ที่ติดอันดับขายดีในจีนมักจะเป็นแนวความรู้ การแพทย์ ฮาวทูพัฒนาจิตใจ พัฒนาตัวเอง วรรณกรรมบันเทิงอารมณ์ ในส่วนของวรรณกรรมหนักๆ นั้น "ม่อเหยียน" ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่ต่อลมหายใจของวรรณกรรมจีนให้ปลอดโปร่งขึ้นอีก ครั้ง หลังจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปีที่ผ่านมา ความคลั่งไคล้ในงานของม่อเหยียนแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในระดับปรากฏการณ์ที่ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และทำให้ชาวจีนหันมาสนใจงานวรรณกรรมสร้างสรรค์อีกครั้ง ซึ่งรวมไปถึงผลงานของนักเขียนคนอื่นๆ ด้วย

อานิสงส์ของม่อเหยียน ได้ทำให้ต่างประเทศหันมาสนใจวรรณกรรมจีนเพิ่มขึ้นอีกด้วย จากที่เคยมองในแง่ของความลึกลับชวนฉงนถึงสิ่งที่อยู่หลังม่าน ก็มีการมองวรรณกรรมจีนในลักษณะของความเป็นสากลมากขึ้น นักเขียนจีนเองก็เริ่มก้าวไกลไปสู่เวทีระดับโลกเพิ่มขึ้น อาทิ "เหยียน เลียนเค่อ" ที่นำผลงานเรื่อง "เลนินส์ คิส" เข้ารอบสุดท้ายของ "รางวัลแมน บุ๊คเกอร์ ไพรซ์" ที่จะประกาศผลในเดือนนี้

ลี เป่ยยี่ ยังเผยอีกด้วยว่า อีบุ๊กในประเทศจีนและการซื้อหนังสือออนไลน์ในประเทศจีนเติบโตอย่างมากในช่วง ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพราะเครื่องมือการอ่านอีบุ๊กของจีนราคาถูก ซึ่งวงการหนังสือก็ตั้งใจไว้ว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจังควบคู่ไป กับหนังสือเล่ม

แต่ที่สุดแล้วเนื้อหาของหนังสือนั้นย่อมสำคัญกว่าวิธีการอ่านอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเนื้อหาที่หวังจะให้เป็นทูตสื่อในสารที่ต้องการออกไป "เรา ตั้งใจจะเผยแพร่วัฒนธรรมจีนและความเข้าใจเกี่ยวกับประเทศจีนให้โลกได้รับรู้ ในวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่ดีก็คือ การบอกเล่าผ่านหนังสือ"

 

ขอบคุณที่มา ประชาชาติธุรกิจ http://www.prachachat.net

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ