ห้องสมุดอาจินต์ ปัญจพรรค์ แหล่งรวมความรู้ คู่ซอยพระนาง : ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ หากใครต้องการความรู้เพิ่มเติมหรือหาห้องสมุดดี ๆ อ่านหนังสือในยามว่าง ขอแนะนำให้เดินทางมาที่ ‘ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง’ ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ของผู้หลงใหลในหนังสือจำนวนมากใจกลางเมือง

ห้องสมุดอาจินต์ ปัญจพรรค์ แหล่งรวมความรู้ คู่ซอยพระนาง

ในช่วงปิดภาคเรียนนี้ หากใครต้องการความรู้เพิ่มเติมหรือหาห้องสมุดดี ๆ อ่านหนังสือในยามว่าง ขอแนะนำให้เดินทางมาที่ ‘ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง’ ซึ่งเป็นแหล่งรวมความรู้ของผู้หลงใหลในหนังสือจำนวนมากใจกลางเมือง

‘ศิราภรณ์ พัฒน์จันทร์’ เจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ชำนาญการ เล่าถึงสถานที่แห่งนี้ว่า “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง เดิมเป็นอาคารไม้เก่า เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม พ.ศ. 2512 ถือได้ว่าเป็นห้องสมุดที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ภายหลังได้ปิดปรับปรุงอาคารเป็นตึกสามชั้น และเปิดบริการอีกครั้งช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 ด้วยบริการสืบค้นอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้อ่านค้นหาหนังสือได้ง่ายขึ้น ห้องสมุดแห่งนี้จึงมีนักอ่านมากหน้าหลายตาตั้งแต่เด็กเล็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่มาใช้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริการอินเตอร์เน็ต อ่านหนังสือ และกิจกรรมส่งเสริมการอ่านต่าง ๆ ที่ห้องสมุดจัดขึ้นในวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ สำหรับกระบวนการคัดเลือกหนังสือ ก็จะคัดเลือกตามความต้องการของประชาชน เช่น หนังสือสุขภาพ ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม หนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร วารสารที่มีกำหนดออกชัดเจน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปอ่านแล้วได้ทั้งสาระและความบันเทิง”

นอกจากหนังสือที่ทางห้องสมุดคัดเลือกมาเพื่อให้บริการแล้ว ในบริเวณชั้น 3 ได้เปิดเป็น‘ห้องสมุดอาจินต์ ปัญจพรรค์’ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา เนื่องจาก‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’ศิลปินแห่งชาติ และ ‘แน่งน้อย ปัญจพรรค์’ ผู้เป็นภรรยา ได้บริจาคหนังสือจำนวน 15,000 เล่มที่มีอยู่ในครอบครองให้แก่ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนางแห่งนี้ เพื่อให้เป็นสมบัติของสาธารณะ ทั้งนี้ ‘วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์’ ผู้ใกล้ชิดอาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้เล่าถึงแนวคิดในการบริจาคหนังสือครั้งนี้ว่า

“บรรยากาศที่บ้านคุณอาจินต์เต็มไปด้วยหนังสือจำนวนมาก ซึ่งแยกเป็นกอง ๆ เช่น วรรณกรรม เรื่องสั้น งานแปล ประวัติศาสตร์ ฯลฯ รวมทั้งหนังสือของนักเขียนรุ่นน้องอย่างสุชาติ สวัสดิ์ศรี, วินทร์ เลียววาริน และท่านอื่น ๆ ที่ส่งมาให้เป็นประจำ จะสังเกตได้ว่า ในหนังสือมีลายเซ็นนักเขียนเกือบทุกเล่ม ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเวลาที่คุณแน่งน้อยเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด จะพบเห็นห้องสมุดที่ขาดแคลนหนังสือ เมื่อกลับจากเที่ยวก็จะส่งหนังสือให้แก่ห้องสมุดเหล่านั้น แต่ด้วยความที่หนังสือของคุณอาจินต์ที่มีอยู่จำนวนมาก ล้วนเป็นหนังสือสำคัญ หนังสือหายาก หนังสือที่ระลึก ถ้านำไปแจกตามห้องสมุด ก็อาจจะค่อย ๆ สูญหายไป วันหนึ่ง คุณปอง - อัญชะลี ไพรีรัก มารับประทานอาหารที่บ้านในซอยชูจิตารมย์ ย่านสุทธิสาร คุณแน่งน้อยจึงเล่าถึงความต้องการที่จะทำห้องสมุดให้คุณอาจินต์ โดยให้เหตุผลว่า อยากให้หนังสือดี ๆ ได้เดินทางจากบ้าน และและไปถึงคนที่เขาอยากได้ความรู้จริง ๆ จึงติดต่อรองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพมหานครมีนโยบายส่งเสริมการอ่านอยู่ เมื่อข่าวการบริจาคหนังสือของคุณอาจินต์แพร่ออกไป คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยแวะเวียนมาอ่านหนังสือที่บ้านคุณอาจินต์บ่อยครั้ง ยังรู้สึกยินดีด้วยเป็นอย่างยิ่ง”

วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ ยังเล่าถึงมหกรรมการเคลื่อนย้ายหนังสือที่เขาเรียกว่า ‘จากกองความรู้ สู่การบริจาคครั้งสำคัญ‘ นี้ให้ฟังว่า “ตอนแรกก็มองไว้หลายจุด แต่เหตุผลที่เลือกห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนางแห่งนี้ เพราะถือเป็นสถานที่สำคัญที่สร้างนักเขียนร่วมสมัยอย่าง สิทธิชัย แสงกระจ่าง, ประชาคม ลุนาชัย ล้วนเคยมาหยิบยืมหนังสือจากที่นี่เมื่อครั้งยังเป็นเพียงอาคารไม้เก่า ๆ อีกทั้ง ห้องสมุดแห่งนี้ เดินทางสะดวก ใกล้รถไฟฟ้า BTS เป็นจุดรวมรถเมล์หลายสาย ที่สำคัญใคร ๆ ก็รู้จักอนุสาวรีย์สมรภูมิ”

‘มนต์เสน่ห์แห่งวรรณกรรม’ กว่า 15,000 เล่มแห่งนี้ เปิดให้บริการแก่นักอ่านที่ชื่นชอบงานวรรณกรรม ทุกวันอังคาร - เสาร์ เวลา 08.30 - 20.00 น. ส่วนวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เปิดตั้งแต่ 09.00 - 17.00 น. และปิดทำการทุกวันจันทร์ โดยห้องสมุดได้จัดเรียงหนังสือเป็นหมวดพิเศษ จำนวน 18 หมวด เรียงตามลำดับความสนใจในการอ่าน หรือลำดับการทำงานเขียนของอาจินต์และแน่งน้อย ปัญจพรรค์ ได้แก่ หมวดวรรณกรรมไทย, หมวดวรรณกรรมต่างประเทศ, หมวดปรัญชา, หมวดพุทธศาสนา, หมวดพระราชนิพนธ์ – พระนิพนธ์, หมดประวัติศาสตร์, หมวดสังคม / การเมือง, หมวดเศรษฐกิจ / ธุรกิจ, หมวดการศึกษา / วิทยาการต่าง ๆ, หมวดศิลปะ / วัฒนธรรม, หมวดบันเทิง, หมวดวารสาร / นิตยสาร, หมวดความรู้ต่างประทเศ, หมวดความรู้ทั่วไป, หมวดหนังสืองานศพ / ที่ระลึก, หนังสืออ้างอิง และหนังสือสุดรักของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เรียกว่าในห้องสมุดแห่งนี้ ได้เก็บเรื่องราวชีวิตผ่านหนังสือของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ไว้อย่างพร้อมสรรพ หากผู้อ่านท่านใดต้องการแวะเวียนมาชมบรรยากาศและชีวิตนักเขียนที่ท่านรักและชื่นชม ก็สามารถมาค้นคว้าที่ ‘ห้องสมุดอาจินต์ ปัญจพรรค์’แห่งนี้ได้ แม้ว่าจะไม่สามารถยืมหนังสือออกมาอ่านข้างนอกหรือยืมกลับบ้านได้ แต่นักอ่านก็สามารถนั่งท่องโลกตัวอักษรท่ามกลางความรู้อีกมากมายอย่างมีความสุขได้เช่นกัน

ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ซอยพระนาง
สถานที่ตั้ง ซอยพระนาง ถนนราชวิถี ใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
เขตราชเทวี กทม.10400 โทรศัพท์ 0 - 2246 – 3517

 

ห้องสมุดอาจินต์ ปัญจพรรค์

 

ขอบคุณที่มา : all Magazine : ปีที่ 8 ฉบับที่ 7 เดือน พฤศจิกายน 2556
เรื่องและภาพ : วิภาวรรณ ประไวย์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ